
การดูแลป้องกันการติดเกมในเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหาสมดุลให้ได้ระหว่างคำว่า "relationship หรือ สัมพันธภาพ" กับ "rule กฎ" โดยในอักษร ก.ไก่ 2 ตัวแรกนั้นจะเป็นในส่วนของเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก เพื่อก่อให้เกิดเป็นความไว้วางใจ เชื่อใจ และได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่วนในอักษร ก.ไก่ 2 ตัวหลังนั้นจะเป็นเรื่องของการสร้างกฎหรือข้อตกลงระหว่างกันของพ่อแม่ผู้ปกครองกับตัวเด็กเอง ดังนั้นควรมีการแยกประเด็นสำคัญของแต่ละประเภทให้ถูกต้องด้วยนะค่ะ ซึ่งเริ่มจาก ก.ไก่ตัวแรก คือ
ก = ใกล้ชิด
-พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความใกล้ชิดอยู่กับเด็กให้มากขึ้น สร้างความสนิทสนม และสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง เป็นทั้งพ่อแม่ พี่ และเพื่อนให้กับเด็ก เพื่อให้เกิดเป็นความไว้วางใจที่จะคอยรับฟัง ปรึกษา และให้ความรักความอบอุ่นกับเด็กอยู่เสมอ
-ในความใกล้ชิดนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีการให้คำแนะนำ คอยติดตามพฤติกรรมในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือการใช้อินเทอร์เน็ตรวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยควรให้อยู่ในความเหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการที่สมวัยของเด็กต่อไป
-ควรให้ความเอาใจใส่ ดูแล และช่วยเหลือเด็กตั้งแต่เรื่องของกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมต่างๆทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพื่อเป็นการสังเกตและพึงระวังในการติดเกมหรือผลกระทบอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก
-และสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อเด็ก คือ ความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีและมอบให้กับเด็กอยู่อย่างสม่ำเสมอ หากครอบครัวมีความเติมเต็มซึ่งกันละกันอยู่ตลอดแล้วนั้นจึงเป็นยากที่จะทำให้เด็กหันออกไปสนใจสิ่งอื่นเพื่อทดแทนหรือการออกห่างจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกันภายในครอบครัวไปหาสิ่งอื่นแทน นั่นคือ เกม
ก = กติกา
-พ่อแม่ผู้ปกครองควรกำหนดข้อตกลงกับเด็กเกี่ยวกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ก่อนการอนุญาตให้เล่นเกม โดยสามารถติดตามและควบคุมการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เช่น กฎ 1-2-21 คือ สามารถเล่นเกมในวันธรรมดาได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในวันหยุดได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง และในแต่ละวันไม่ควรเล่นเกินเวลา 21.00 น. เป็นต้น
-ไม่ให้เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปีเล่นเกมคอมพิวเตอร์ และอายุ 3-6 ปีสามารถเล่นได้เฉพาะเกมที่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้โดยถูกแบ่งประเภทให้เหมาะสมกับวัยแล้วเท่านั้น
-สนับสนุนให้เด็กมีงานอดิเรกหรือกิจกรรมยามว่างที่สร้างสรรค์และส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย เล่นดนตรีหรือกีฬา กิจกรรมจิตอาสาต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น
-การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ต้องไม่รบกวนเวลาในการทำหน้าที่ของเด็ก เช่น ทำการบ้าน งานบ้าน เป็นต้น
-ไม่อนุญาตให้มีอุปกรณ์สำหรับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนหรือห้องส่วนตัว โดยควรจัดให้อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้านเท่านั้น
-ไม่ควรให้เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในขณะทำกิจกรรมอื่นอยู่ด้วย โดยเฉพาะระหว่างการเดินทางบนทางสาธารณะ เพื่อป้องกันอาการทางสายตา สมาธิในการเดินทาง และมิจฉาชีพ
-พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความชัดเจน สม่ำเสมอ และการเอาจริงเอาจังกับกติกาที่กำหนดขึ้นไว้ หากเด็กทำได้ดีหรือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดควรให้รางวัลตอบแทน และมีการลงโทษเมื่อเด็กไม่ปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้กับเด็ก
ก = เก็บ
-เมื่อเด็กไม่รักษากติกาที่ตกลงกันไว้ พ่อแม่ก็ต้องใจแข็ง ไม่ใจอ่อน เก็บอุปกรณ์เล่นเกมขึ้นซะ เป็นการแสดงถึงการเอาจริง
โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ