window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ทักษะที่เกมอาจไม่ได้สอน

ทักษะที่เกมอาจไม่ได้สอน
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

ทักษะที่เกมอาจไม่ได้สอน

 

วิดีโอเกมได้รับการพัฒนาให้มีรูปแบบที่สมจริง ดึงดูดใจ และสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้เล่นได้มาก

 

เป็นที่ถกเถียงมานานว่าเกมเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีสำหรับเด็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

 

มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การเล่นวิดีโอเกมช่วยสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะบางอย่างให้กับผู้เล่นได้ เช่น ทักษะการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ทักษะการมองเห็นและระบุสิ่งของได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ความสามารถในการจินตนาการการเคลื่อนไหวของวัตถุ ทักษะการแก้ปัญหา การเรียนรู้ผ่านเกมจำลองสถานการณ์ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์จริงได้ เป็นต้น

 

วิดีโอเกมแต่ละเกมนั้น อาจสามารถสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะให้กับผู้เล่นได้แตกต่างกัน

แต่อีกด้านหนึ่ง วิดีโอเกมก็อาจดึงดูดให้เด็ก ๆ ใช้เวลากับเกมมากจนเกินไป จนทำให้เด็ก ๆ พลาดโอกาสที่จะพัฒนาทักษะอื่น ๆ ในชีวิตจริงได้

 

สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรระวังในการเล่นเกมของลูกหลาน คือ เด็ก ๆ อาจใช้เวลากับเกมมากเกินไปจนกระทั่งติดเกม ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางลบตามมาได้หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพร่างกาย พัฒนาการ การเรียน อารมณ์และพฤติกรรม

 

พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลการเล่นเกมของลูกให้อยู่ในขอบเขตที่สมดุล โดยมีกติกาชัดเจนว่า เล่นเกมได้เวลาไหน นานเท่าไหร่  และกำกับดูแลให้เป็นไปตามกติกาที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ ควรมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ เป็นทางเลือกให้ลูกด้วย เพื่อที่ลูกจะสามารถมีความสุข และสามารถพัฒนาทักษะได้จากกิจกรรมที่หลากหลาย ทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการติดเกม ทำให้ลูกมีเกมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ไม่ให้เกมกลืนกินทั้งชีวิตของเขาไป

 

พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านอาจมองเห็นข้อดีของเกมว่าสามารถพัฒนาทักษะบางอย่างของลูกได้ และเป็นงานอดิเรกที่ “สะดวกดี” (อาจด้วยเหตุผล เช่น ลูกสามารถเล่นได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางออกไปข้างนอก ไม่ต้องเสียเงินไปกับค่ากิจกรรมอื่น ๆ) จึงสนับสนุนให้ลูกเล่นเกมเป็นงานอดิเรก ซึ่งแม้ว่าเด็ก ๆ อาจยังสามารถรักษาสมดุลระหว่างหน้าที่ความรับผิดชอบในชีวิตกับเกมได้ดีอยู่ แต่การสนับสนุนให้เด็ก ๆ มีงานอดิเรกที่หลากหลาย ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ได้อยู่ห่างจากหน้าจอบ้าง ย่อมดีกว่าการให้ลูกมีแค่เรื่องเรียนกับเล่นเกมเท่านั้น เพราะเด็ก ๆ เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ การได้เรียนรู้และลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้รู้จักและค้นพบความชอบความถนัดของตนเอง ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการติดเกม นอกจากนี้ การได้ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบถือเป็นการจัดการความเครียดอย่างหนึ่ง หากเด็ก ๆ ไม่มีกิจกรรมที่หลากหลาย เด็ก ๆ ก็อาจใช้การเล่นเกมเป็นการจัดการกับอารมณ์ทางลบของตนเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็อาจมีส่วนทำให้ติดเกมได้

 

หากพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่าลูกชอบ ลูกถนัด ลูกมุ่งมั่นในเรื่องของการเล่นเกม ซึ่งอาจพัฒนาจากงานอดิเรกธรรมดาเป็นงานอดิเรกที่จริงจังมากขึ้น หรือมุ่งมั่นในอนาคตด้านนี้ได้ ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพิจารณาดูให้แน่ใจว่า ลูกมีโอกาสได้รู้จักและได้ลองทำกิจกรรมด้านอื่น ๆ ด้วยแล้ว ไม่ใช่การที่ลูกชอบเกม เพราะเขาไม่รู้จักอย่างอื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คงน่าเสียดาย

 

เด็ก ๆ อาจสามารถเรียนรู้หลากหลายอย่างจากเกมได้ แต่ก็มีบางอย่างที่เกมอาจไม่ได้สอน เช่น

 

1. การอดทนรอคอย

เกมเป็นสิ่งเร้าที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้เล่นเกิดความพึงพอใจและเล่นเกมต่อไป ดังนั้น เด็ก ๆ จึงอาจเคยชินกับอะไรที่เร็ว อะไรที่ไว เมื่อทำอะไรก็อยากได้ผลลัพธ์ทันที ซึ่งทักษะการอดทนรอคอยในเด็กนั้นสามารถส่งผลต่อความสำเร็จในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ โดยมีงานวิจัยของ Watler Mischel (1972) ซึ่งได้ทำการทดลองที่ชื่อว่า 'The Stanford marshmallow experiment' โดยเด็กแต่ละคนจะได้รับมาร์ชเมลโลว์ จากนั้นเด็ก ๆ จะเลือกได้ว่าจะเลือกกินมาร์ชเมลทันที หรือหากเด็กคนใดสามารถยับยั้งความอยากที่จะรับประทานมาร์ชเมลโลว์ได้ครบ 20 นาที เด็กคนนั้นก็จะได้รับมาร์ชเมลโลว์เพิ่มเป็นสองชิ้นแทนที่จะเป็นชิ้นเดียว สิ่งสำคัญภายใต้การทดลองนี้คือ "small reward now, bigger reward later.” (เลือกที่จะรับรางวัลเล็กๆ ตอนนี้ หรือ จะเลือกรับรางวัลใหญ่ทีหลัง) หรือ ที่เรียกว่า 'การชะลอเวลาในการได้รับสิ่งที่ต้องการ (Delayed gratification)’ นั่นเอง ผลการทดลองพบว่า เด็กบางคนเลือกที่จะทานมาร์ชเมลโลว์เพียง 1 ชิ้นทันที แต่เด็กบางคนสามารถยับยั้งช่างใจรอคอยที่จะกินในภายหลัง หลังจากการทดลองผ่านไป 20 ปี ผลการวิจัยพบว่า เด็กๆ ที่สามารถอดทนรอคอยได้ในวันนั้น ประสบความสำเร็จในหน้าที่การเรียนการงานมากกว่าเด็กที่ไม่สามารถอดทนรอคอยได้

 

2. ความพยายามมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย

หลายครั้งเกมก็ทำให้ผู้เล่นได้ฝึกฝนความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายในเกมที่ทำให้ผู้เล่นพยายามและอดทนเล่นเกมต่อไป ซึ่งนั่นก็อาจมีส่วนให้ผู้เล่นมีความพยายามในเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาเกมจะอยู่ได้ เกมก็ต้องหาเงินได้ ในหลายครั้ง เกมจึงมีตัวเลือกให้ผู้เล่นใช้เงินเพื่อแลกกับเป้าหมายที่ผู้เล่นต้องการ นอกจากนี้ ในอินเทอร์เน็ตยังมีสูตรโกงเกมมากมาย มีทางลัดสู่ความสำเร็จสำหรับวิดีโอเกมเสมอ ดังนั้น แทนที่เกมจะทำให้ผู้เล่นมีความอดทนพยายามมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย ผลลัพธ์อาจเป็นไปในทางกลับกันก็เป็นได้

 

3. การตระหนักรู้ในตนเองและการควบคุมอารมณ์ของตนเอง

การเล่นเกมนั้น ช่วยปรับอารมณ์และเพิ่มอารมณ์ทางบวก รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าสามารถควบคุมเกมได้ (บางคนอาจรู้สึกว่าในชีวิตจริง ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย แต่ในเกมเขาจะทำอะไรหรือเป็นอะไรก็ได้) อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมก็ทำให้การตระหนักรู้ในตนเองลดลงหรือขาดสติได้ เช่น บางคนอาจจะเล่นเกมจนถึงเช้าแบบที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเล่นมานานแค่ไหนแล้ว

หรือจากข่าว เช่น เด็กเล่นเกมแพ้แล้วหัวร้อนจนมีเรื่องทะเลาะวิวาท หรือพ่อแม่ผู้ปกครองอาจเคยเห็นว่า เวลาลูกเล่นเกมกับเพื่อนแล้วก็อาจจะเสียงดัง ดูสนุกมาก ๆ หรือบางครั้งอาจจะดูหัวร้อน นั่นเป็นเพราะว่าเกมเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถปลดปล่อยอารมณ์ได้อย่างเต็มที่ จนบางครั้งก็ขาดการควบคุมอารมณ์นั่นเอง

 

4. การมีสมาธิจดจ่อ

เวลาที่ลูกเล่นเกม อาจจะดูเหมือนว่าลูกกำลังมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเล่นเกมมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะมีสมาธิจดจ่อในเรื่องอื่น ๆ บางครั้งการที่ชอบเล่นเกม ก็อาจทำให้คิดถึงเรื่องเกมเวลาทำอย่างอื่น จนกระทั่งไม่มีสมาธิในการจดจ่อทำงานได้ แล้วยิ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้กำหนดขอบเขตหรือกติกาการเล่นเกมให้ดี หากลูกมีโทรศัพท์อยู่กับตัวตลอดเวลา ลูกก็อาจจะห้ามใจตัวเองไม่ได้ที่จะเล่นเกม และไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ต้องทำได้

 

 

บทความโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

 

รายการอ้างอิง

https://www.facebook.com/followpsychologist/posts/374001986725895/


ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer