
“อาหารใจ” ที่ขาดหายไป อาจเป็นสาเหตุของปัญหา
ร่างกายของคนเราต้องการอาหารหลักให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์
และสำหรับจิตใจของคนเราแล้ว ก็ต้องการสิ่งที่เป็น “อาหารใจ” เช่นเดียวกัน
เราอาจไม่ได้รับประทานอาหารครบทุกหมู่ในทุกวัน ก็ไม่เป็นไร แต่หากเราไม่ได้รับสารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นระยะเวลานาน ร่างกายก็อาจจะเริ่มมีปัญหา เกิดการเจ็บป่วยได้
สำหรับจิตใจของคนเรานั้น ก็มีความต้องการสิ่งที่จะมาทำให้อิ่มใจเช่นเดียวกัน หากจิตใจไม่ได้รับสิ่งที่เป็น “อาหารใจ” แล้ว จิตใจที่หิวโหยก็อาจเกิดปัญหาที่แสดงออกมาในรูปแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ได้
คนเราทุกคนมีความปรารถนาและความต้องการภายในจิตใจหลัก ๆ อยู่ 10 อย่าง (ตามแนวคิดของ Satir Model) คือ
- ความรัก
- การมีคุณค่า
- การยอมรับ
- ความมีอิสระ
- การชื่นชม
- การเป็นพวกเดียวกัน
- ความปลอดภัย
- การมีสายสัมพันธ์ทางใจ
- ความใกล้ชิด
- ความสงบ
สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกับ “อาหารใจ” ที่จะช่วยให้จิตใจได้รับการเติมเต็ม อยู่ในสภาวะสมดุล และมีความสุข
คนแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลาอาจต้องการอาหารใจที่แตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ผู้ที่อยู่แวดล้อม และบริบทของเหตุการณ์
สำหรับปัญหาพฤติกรมการติดเกมของลูก
อยากชวนพ่อแม่ผู้ปกครองลองมองดูว่า ลูกขาด “อาหารใจ” ส่วนไหนไปหรือไม่
...ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รักไหม
...ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าไหม
...ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับในตัวเขาไหม
...ลูกรู้สึกถูกบีบบังคับจนไม่มีอิสระหรือเปล่า
...ลูกได้รับการชื่นชมจากพ่อแม่เวลาทำสิ่งต่าง ๆ บ้างไหม
...ลูกรู้สึกว่าครอบครัวเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน
....หรือลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใช่พวกเดียวกับเขาหรือเปล่า
...ลูกรู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่กับพ่อแม่ไหม
...หรือพ่อแม่ทำให้ลูกกลัวหรือเปล่า
...ลูกรู้สึกเชื่อมโยง connect กับพ่อแม่ไหม
...พ่อแม่เป็น “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” ที่ลูกเคารพ ยอมรับ และผูกพันไหม
...ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่มีเวลาให้ รู้สึกว่าใกล้ชิดกับพ่อแม่ สามารถเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พ่อแม่ฟังได้ไหม
...ลูกรู้สึกว่า “บ้าน” มีความสงบ ผ่อนคลาย สบาย
...หรือ “บ้าน” นั้นร้อนเป็นไฟ มีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง จนลูกอยากจะหาความสงบ ความสบายใจ จากเกม
ความต้องการที่แท้จริงของลูกคืออะไร?
หากค้นพบว่า “อาหารใจ” ส่วนใดที่ขาดหายไป
พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเติมอาหารใจให้กับลูกได้ เพื่อให้จิตใจของลูกได้รับการเติมเต็ม อยู่ในสภาวะสมดุล และพร้อมที่จะเติบโตอย่างงดงาม
ภายใต้ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ นั้น มีความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ และความคาดหวังอะไรบางอย่างซ่อนอยู่
หากความต้องการที่แท้จริงได้รับการเติมเต็ม ปัญหานั้นก็จะคลี่คลายลงได้
เวลาที่เราหิว ร่างกายของเราก็จะมีปฏิกิริยาต่าง ๆ
จิตใจของคนเราก็เช่นกัน ที่ต้องการสิ่งที่เป็น “อาหารใจ” มาเติมเต็ม
บทความโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์