เข้าใจ “วัยรุ่น, เล่นเกม, หัวร้อน”
คนเราอาจจะเล่นเกมด้วยเหตุผลที่หลากหลาย
อารมณ์ก็มีผลต่อแรงจูงใจในการเล่นเกม
หากพูดถึงอารมณ์ทางด้านบวก ผู้เล่นอาจจะเคยเล่นเกมแล้วรู้สึกสนุก รู้สึกดี คลายเครียดได้ ก็มีผลต่อแรงจูงใจทำให้อยากเล่นอีก
หากพูดถึงอารมณ์ทางด้านลบ เนื้อหาของเกมที่กระตุ้นอารมณ์ ความต้องการที่อยากจะเอาชนะแต่ไม่ชนะสักที หรือคนในเกมที่กวนอารมณ์ เล่นไม่ได้ดั่งใจ ก็ทำให้ผู้เล่นรู้สึกหงุดหงิดหรือหัวร้อนขึ้นมาได้ แต่หลายคนก็ยังคงเล่นเกมต่อไป เพราะอยากจะเอาชนะให้ได้
พจนานุเกรียน ระบุไว้ว่า "หัวร้อน" คือ อาการที่เกิดขึ้นเพราะโมโห โกรธ หงุดหงิด ขัดใจใครหรืออะไรสักอย่าง เมื่อเป็นแล้วอาจจะมีอาการต่อเนื่องตามมา คือ ปากไม่ดี เหวี่ยง วีน ด่าลามปาม โวยวาย ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นภาพลักษณ์เด็กติดเกมในสายตาของผู้ใหญ่ เมื่อเล่นเกมแล้วมีพฤติกรรมที่ดูก้าวร้าว
รวม ๆ แล้ว อาการหัวร้อน คือ การแสดงออกทางอารมณ์รูปแบบหนึ่งที่มักจะมาจากความไม่พึงพอใจบางอย่าง ทำให้อาจจะทำอะไรไปตามอารมณ์โดยไม่ทันยั้งคิด บางทีอาจจะขาดสติ เช่น เด็กกำลังเล่นเกมและหัวร้อน แล้วพ่อแม่เข้ามาพูดเข้ามาบอกอะไรก็ตาม เด็กก็อาจจะพาลหงุดหงิดพ่อแม่ไปด้วย แล้วยิ่งถ้าพ่อแม่สื่อสารด้วยอารมณ์กับลูก ลูกก็จะยิ่งสะท้อนอารมณ์ที่รุนแรงกลับมาหาพ่อแม่และทำให้เกิดการทะเลาะกันบานปลายได้
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่า ทำไมลูกถึงไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง แค่เล่นเกมทำไมต้องมีอารมณ์กับมัน กังวลว่าลูกติดเกมจนก้าวร้าวแล้วจะทำอย่างไรดี
เพราะลูกยังเด็ก สมองของลูกกำลังพัฒนา ซึ่ง “สมองส่วนหน้า” ที่เกี่ยวข้องกับทักษะการควบคุมตนเอง และทักษะการยับยั้งชั่งใจนั้น จะพัฒนาเติบโตเต็มที่เมื่อคนเราเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หรืออายุประมาณ 25 ปี
ไม่ใช่ว่าวัยรุ่นไม่รู้จักคิด แต่สมองส่วนอารมณ์พัฒนาไปไวกว่าสมองส่วนการยั้งคิด ทำให้การคิด การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ของวัยรุ่น ยังมีข้อจำกัดอยู่
อยากชวนคุณพ่อคุณแม่ลองนึกย้อนไปในช่วงที่ตัวเองเป็นวัยรุ่น...
มีไหมคะ
มุมมองที่คุณพ่อคุณแม่เคยมีตอนช่วงวัยรุ่น เมื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้วมองย้อนกลับไป เรากลับมีมุมมองที่ไม่เหมือนเดิม
ในเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน เราอาจตอบสนองกับมันแตกต่างกันในช่วงที่เรายังเด็กและในตอนที่เราได้เรียนรู้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
วัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นวัยอยากรู้อยากลอง
การที่คนเราจะเรียนรู้และเติบโต ก็อาจมีบางอย่างที่ผิดพลาดกันได้
พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในอนาคต
1. พ่อแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น ความเปลี่ยนแปลงและความเจริญเติบโตทั้งภายในและภายนอกมีผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ของวัยรุ่น อารมณ์ของวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงง่าย อ่อนไหว อาจยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่ค่อยดีนัก นอกจากนี้ วัยรุ่นยังอยากเป็นอิสระ ต้องการความเป็นส่วนตัว อยากรู้อยากลอง ต้องการความตื่นเต้นท้าทายหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ และกำลังอยู่ในช่วงวัยของการเรียนรู้ก่อนที่จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น จะได้เข้าใจลูกและรับมือกับลูกได้อย่างเหมาะสม
2. ให้อิสระลูกอย่างมีขอบเขต ลูกอาจจะอยากเล่นเกม อยากออกไปเที่ยวกับเพื่อน หรืออยากจะทำอะไรก็ตาม พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกถึงขอบเขตที่เหมาะสม เช่น ในเรื่องของการเล่นเกม ลูกก็ควรที่จะทำหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองให้เรียบร้อยก่อนที่จะเล่นเกม เล่นเกมในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช้เงินกับเกมมากจนเกินไป อย่าให้เกมส่งผลต่อสุขภาพร่างกายหรือชีวิตในด้านอื่น ๆ
3. บ่นให้น้อย รับฟังให้มาก หากพ่อแม่มองดูลูกแล้วเป็นห่วงเรื่องอะไรก็ให้สื่อสารออกไปตรง ๆ ว่าพ่อแม่รู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร เปิดใจแลกเปลี่ยนกับลูก ฟังความคิดเห็นของลูก เป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูก อาจใช้วิธีการตั้งคำถาม ให้ลูกได้ค่อย ๆ คิด เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำในสิ่งต่าง ๆ และเรียนรู้ผลของการกระทำนั้น โดยไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็จะอยู่เคียงข้างเขา ถ้าลูกทำผิดก็บอกให้เขารู้อย่างตรงไปตรงมาว่าผิดตรงไหนอย่างไร ไม่ต้องบ่นหรือประชดประชันให้เสียอารมณ์กัน
4. ให้กำลังใจลูกและให้กำลังใจตัวเองด้วย คนทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึกซึ่งบางครั้งก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง สำหรับในเรื่องของการเล่นเกม ถ้าพูดคุยถึงขอบเขตและกติกาการเล่นเกมกับลูกแล้วเมื่อถึงเวลาจริง ลูกกลับทำไม่ได้ ขอให้พ่อแม่ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งหัวร้อนแล้วพาให้ลูกหัวร้อนไปด้วยกัน ขอให้พ่อแม่สื่อสารเชิงบวกอย่างใจเย็น พูดเตือนลูกถึงขอบเขตและกติกาที่ตั้งไว้ สื่อสารความเป็นห่วงของพ่อแม่ ให้กำลังใจลูกว่าลูกสามารถทำได้ บางครั้งเมื่อลูกทำอะไรที่ไม่เป็นดั่งใจพ่อแม่ พ่อแม่ก็อาจจะหงุดหงิดขึ้นมาได้เหมือนกัน ขอให้พ่อแม่ทุกคนให้กำลังใจตัวเองในความพยายามที่จะรับมือลูกอย่างใจเย็น
หากลูกเล่นเกมแล้วดูหัวร้อน พ่อแม่อาจลองสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูจังหวะที่จะสื่อสารกับลูก อาจลองชวนลูกคุยด้วยประโยคสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก เช่น “แม่สังเกตว่าลูกดูหงุดหงิดตอนที่เล่นเกมเมื่อกี้ มันเกิดอะไรขึ้นเหรอลูก” จากนั้นก็รับฟังลูกและชวนลูกคุยว่าจะจัดการกับอารมณ์แบบนี้อย่างไรดี
ชวนลูกพักจากการเล่นเกมแล้วหันไปทำอย่างอื่นให้อารมณ์ดีขึ้น อาจชวนลูกมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพความอบอุ่นในครอบครัว ลองชวนลูกคิดดูว่าเกมที่ลูกเล่น ดีกับลูกอย่างไร ลูกว่าเล่นเกมแบบไหน หรือจะทำอะไรดีที่ไม่ทำให้หัวร้อน ลองหากิจกรรมที่ทำแล้วอารมณ์ดี มีความสุข ก็น่าจะดีกว่าสิ่งที่ทำแล้วหัวร้อนไหมนะ
บทความโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์