window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

แพทย์ชี้ 'มือถือ' ตัวการทำเด็กติดเกมเพิ่มขึ้นดึง 10 โรงเรียนกทม.เข้าค่ายบำบัด!

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

โดย ผู้จัดการ 360o รายสัปดาห์ 16กุมภาพันธ์ 2553 12:05น.

 

 

       ปัญหาเด็กไทยติดเกมเพิ่ม 'จิตแพทย์' แนะพ่อแม่ระวัง! "ไอที"เป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามโดยเฉพาะ "โทรศัพท์" มือถือที่ปัจจุบันเน้นลูกเล่นหลากหลาย แนะรัฐแก้ปัญหาเด็กติดเกมเป็นวาระแห่งชาติ ระบุเกมเข้าข่ายยาเสพติด "เสพแล้วต้องติด" ด้าน 'พม.'ถือฤกษ์ปิดเทอมใหญ่เข็นโครงการบำบัดเด็กติดเกมด้วยการดึงเด็ก 100คนใน10โรงเรียน กทม.ร่วมโครงการเข้าค่ายหวังลดอัตราการติดเกม

       

        ในปัจจุบันปัญหาเรื่องเด็กหรือวัยรุ่นติดเกมได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายกำลังปวดหัวและหลายๆหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็กำลังหาทางแก้ไขกันอยู่ เพราะเมื่อเด็กติดเกมแล้วก็ทำให้เสียทั้งสุขภาพ เสียนิสัย เสียเวลา เสียการเรียน โง่เขลา และสุดท้ายก็เสียอนาคตกันเลยทีเดียว

      

        เด็กไทยติดเกมส์ 3ปีพุ่ง 9%

      

        แม้จะมีการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมมาอย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาดังกล่าวนี้กลับมิได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด โดยข้อมูลการศึกษาของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ระบุว่า สถานการณ์เด็กติดเกมในปัจจุบันมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2549ได้มีการสำรวจโดยสถาบันฯพบว่ามีเด็กติดเกมในอัตราร้อยละ 5แต่เมื่อมีการสำรวจในอีก 2ปีถัดมาคือปี 2552พบว่าอัตราเด็กติดเกมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4ในระยะเวลาเพียง 3ปี

      

        "นี่คือสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากๆ เราในฐานะหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาในเรื่องนี้พยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ประสบปัญหา ซึ่งเท่าที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีปัญหานี้มากพอสมควรและยังได้คิดโครงการให้ความช่วยเหลือที่เป็นระบบมากขึ้นโดยกำหนดให้คำปรึกษากับผู้มีปัญหา 2แบบคือให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ และครอบครัวเดี่ยวๆ และการให้คำปรึกษาโดยให้ครอบครัวที่เคยประสบปัญหานี้และสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วมาร่วมกับจิตแพทย์ให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม โดยโครงการนี้ได้เปิดให้บริการนับตั้งแต่วันที่ 11ก.พ.53นี้เป็นต้นไป"

      

        นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกว่าปัญหาการติดเกมของเด็กไทยนับวันน่าเป็นห่วงยิ่งเพราะปัจจุบัน "ไอที" ได้กลายเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตด้วยแล้วยิ่งน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาก คอนเท็นภายในโทรศัพท์มือถือก็มีการบรรจุเกมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์โอกาสที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้ว่าลูกๆของตัวเองนั้นติดเกมหรือไม่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

      

        อย่างไรก็ตามทางสถาบันฯได้ทำการสำรวจเด็กๆวัยรุ่นซึ่งเป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเกมเมื่อเขามีเวลาว่างพบว่าร้อยละ 90เล่นและพยายามสรรหาเกมใหม่ๆโหลดเข้ามาในมือถือซึ่งนั่นก็หมายถึงช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เขากลายเป็นเด็กติดเกมได้ในอนาคต

      

        ระบุ “เกม”เหมือนยาเสพติด

      

        อย่างไรก็ดีเด็กติดเกมก่อให้เกิดปัญหาตามมา เพราะหากเขาไม่ได้เล่นเกมอย่างที่ต้องการ อาการต่างๆ เช่น ก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นเพราะเมื่อติดเกมแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ติดยาเสพติด

      

        นพ.ทวีศิลป์ อธิบายต่อว่า เกมเปรียบเสมือนยาเสพติดชนิดหนึ่ง เมื่อเราเริ่มเสพแล้วมันจะติด เมื่อติดแล้วไม่ได้เล่นจะเกิดอาการหงุดหงิด และจะแสดงอารมณ์ก้าวร้าวกับผู้ที่ไม่สนองความต้องการของตัวเอง เรื่องนี้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีเด็กในบ้านแสดงอาการเหล่านี้บ่อยๆให้พึงระวังไว้ว่าเด็กๆเหล่านั้นได้ก้าวเข้าไปสู่วังวนของการติดเกมเข้าแล้ว

      

        ปัจจุบันเกมออนไลน์ที่เล่นในคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนารูปแบบการเล่นเกมให้ก้าวหน้าไปมาก จากเกม 2มิติ เป็น 3มิติ จนมีลักษณะเป็นเกมเสมือนจริง และส่วนมากเกมเสมือนจริงเหล่านี้มักจะมีเนื้อหาที่รุนแรง เกี่ยวกับการใช้อาวุธนานาชนิดที่สร้างสรรค์ออกมาเพื่อตามล่าฝ่ายตรงข้ามอย่างเอาเป็นเอาตายและเด็กที่เล่นเกมก็จริงจังกับเกมมากจนน่าเป็นห่วง

      

        สำหรับปัญหาของเด็กติดเกมอาจจะมากมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือการที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่มีเวลาให้กับเด็ก และจะเห็นได้ว่า เด็กที่ติดเกมส่วนมากจะเป็นเด็กที่มีฐานะดี ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเด็กติดเกมเหล่านี้ก็คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ค่อยมีเวลาให้กับเด็ก เด็กจึงหันหน้าไปพึ่งพาเกมเป็นที่พึ่งทางใจ ใช้เกมฆ่าเวลาและสนองความต้องการในส่วนลึกของตัวเด็กยิ่งเด็กที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ถ้าทางบ้านไม่ให้เวลาและความอบอุ่นอย่างเพียงพอ เด็กจะหันไปเชื่อเพื่อนในกลุ่ม ทำให้ปัญหาที่ควรจะได้รับการแก้ไขหรือทราบปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ กลับกลายเป็นปัญหาที่หนักยิ่งขึ้นหากได้รับการแก้ไขไม่ทันเวลา

      

        "พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะเริ่มต้นใส่ใจกับเด็กๆของตัวเองตั้งแต่แรกเกิด คือรู้จักให้เวลาเขา พอเด็กโตขึ้นประมาณ 3ขวบก็ยิ่งต้องให้เวลากับเขาโดยให้คิดว่างานของเด็กคือการเล่น การที่เราเป็นผู้แนะนำให้เขาเล่นอย่างสมวัยจะทำให้เขาไม่หันไปหาเกม ส่วนพ่อแม่ที่มีเด็กติดเกมแล้วให้พยายามหาคนปรึกษาอย่าใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหาเพราะจะทำให้เด็กเตลิดไปไกลได้"

      

        รู้อย่างไรว่าลูกติดเกม?

      

        สำหรับอาการเด็กติดเกมที่พอจะสังเกตได้คือ เด็กจะเสียเวลากับการเล่นเกมเป็นส่วนมากโดยในมุมมองของตัวเด็กเองจะไม่คิดว่าเป็นการเสียเวลา แต่เป็นสิ่งที่เด็กทำแล้วเพลิดเพลินมีความสุขเหมือนเป็นการผ่อนคลายความเครียด เด็กจะคอยหาเวลาเข้าหาเครื่องคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ยอมอดข้าวเพื่อเอาเงินไปเล่นเกม ผลการเรียนแย่ลง เกรดลดลง ไม่มีความรับผิดชอบในงานต่างๆที่ได้รับมอบหมาย เด็กติดเกมมักจะพูดน้อยลง ชอบเก็บตัวอยู่แต่ในห้องส่วนตัวเพื่อเล่นเกม หนังสือที่อ่านจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับเกมที่สนใจ นอกจากนี้เด็กติดเกมจะฉุนเฉียวง่ายเมื่อถูกจำกัดเวลาเล่นเกม

      

        อย่างไรก็ตามปัญหาเด็กติดเกมสามารถแก้ไขได้แต่จะได้ผลเพียงใดขึ้นอยู่กับตัวพ่อแม่ ผู้ปกครอง ว่าจะเข้าใจการนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมไปใช้ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ "เวลา" คือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้แก่เด็ก ความอบอุ่นที่เด็กได้รับ การมีเวลาให้เด็กได้พูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่เด็กพบเห็นในชีวิตประจำวัน เมื่อเด็กมีข้อสงสัยต้องการปรึกษากับพ่อแม่ ผู้ปกครองควรทำได้ตลอดเวลาหรืออย่างน้อยที่สุด ในหนึ่งอาทิตย์ควรจะกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว ในขณะเดียวกันหากมีความจำเป็นจะให้เด็กไปใช้อินเทอร์เน็ตนอกบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะรู้จักและได้พูดคุยกับเจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตหรือร้านเกมเพื่อหาข้อมูลและหาทางป้องกัน

      

        ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เด็กติดเกมส่วนมากจะเก็บตัวไม่ชอบออกกำลังกาย พ่อแม่ผู้ปกครองควรหาทางเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กด้วยการให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ชอบบ้าง (นอกจากเล่นเกม) เช่น เล่นดนตรี ตกปลา เข้าทำกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ เช่นการออกค่ายที่เขาสนใจ หรือส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬา จะทำให้เด็กได้ระบายอารมณ์ออกมา ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายไม่หมกมุ่นอยู่กับเกมมากเกินไป สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาเด็กติดเกม คือการที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องรู้จักวิเคราะห์ เด็กของท่านได้ คุยกับเด็กด้วยความเข้าใจ สอนเด็กให้รู้จักคิดด้วยตัวเองและก่อนจะคุยกับเด็กควรใส่ความเป็นเด็กเข้าไปในตัวคุณเสียก่อน

      

        พม.เปิด "ค่าย"ปรับพฤติกรรม

      

        นอกจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องเดียวกันนี้อย่างอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้วางโครงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

      

        โดยล่าสุดได้มีการเตรียมเปิดโครงการเข้าค่ายแก้ปัญหาเด็กติดเกม โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำโครงการ เข้าค่ายบำบัดเด็กติดเกมขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน 2553นี้

       

        สำหรับโครงการดังกล่าวขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยแหล่งข่าวจาก สท.บอกว่าโครงการนี้จะคัดเลือกนักเรียนที่ติดเกมจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เขตพื้นที่กรุงเทพฯ 10โรงเรียนๆละ 10คนรวม 100คน และถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลของนักเรียนในพื้นที่เป้าหมายว่ามีอัตราการติดเกมมากน้อยแค่ไหน โดยให้โรงเรียนเป็นด่านแรกในการเก็บข้อมูล

      

        โครงการนี้จะได้นำเอาเด็กติดเกมที่ผ่านมาการพิจารณาของผู้บริหารโรงเรียนมาร่วมกันพัฒนาศักยภาพด้านคอมพิวเตอร์ เพราะเด็กที่เล่นเกมส่วนใหญ่เขามีความชำนาญในเรื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว โดยจะนำวิทยากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องการเขียนโปรแกรมมาสอนให้เด็กๆเหล่านี้หันมาพัฒนาโปรแกรมเกมแต่เน้นใช้เกมแบบสร้างสรรค์เพื่อจะได้ดึงเขาออกจากเกมที่รุนแรง ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จทาง พม.จะตั้งคระกรรมการหรืออนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนและขยายโครงการออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

      

        "โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งเราจะใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อไป"แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด

Healthy Gamer