window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

เตือนจัดระเบียบ 'อีสปอร์ต'..ข้อแก้ตัว 'โรคติดเกม'

ตอนนี้
 
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อค่ำคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561
โดยเด็กชายวัย 13 ปี ถูกหามส่งโรงพยาบาลในจังหวัดน่านกลางดึก
เพราะเล่นเกมออนไลน์แล้ว เกิดอาการปากสั่น ใจสั่น มือเท้าเย็น แขนขาอ่อนแรง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
 
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน
วิเคราะห์เบื้องต้นว่าเกิดจากการเล่นเกมออนไลน์ทั้งวันทั้งคืนนานติดต่อกันหลายวัน
ไม่ได้พักผ่อน
ไม่รับประทานอาหารและน้ำ
ทำให้ร่างกายขาดน้ำและสารอาหารจนเกิดภาวะร่างกายช็อก
 
เด็กคนนี้ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนจนอาการดีขึ้นตามลำดับ
แต่ต้องมีการรักษาทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกสักพัก
เพราะเด็กคนนี้กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายของ "โรคติดเกม"
 
 
          เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว "เกมคอมพิวเตอร์" เป็นเหมือนศัตรูตัวร้ายของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ทุกคนพยายามช่วยกันหาวิธีป้องกันไม่ให้ลูกหลานของตัวเองหมกมุ่นกับการติดเกมจนเสียการเรียน เสียสุขภาพ เสียความสัมพันธ์ในครอบครัว..แต่ในวันนี้เกมคอมพิวเตอร์พลิกโฉมมาแนวใหม่ ประกาศตัวว่าเป็น "อีสปอร์ต" (e-sports) หรือกีฬาประเภทหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านภายในพริบตา
 
          โดยมีนักธุรกิจหลายกลุ่มทำเงินจาก "เกม" อีสปอร์ต เช่น บริษัทซอฟต์แวร์เกม นักออกแบบเกม ทีมจัดการแข่งขัน เจ้าของพื้นที่แข่งขัน โค้ช นักวิเคราะห์ เจ้าหน้าที่ดูแลเกม ฯลฯ และอีกหลายๆ ทีมงานเกาะเกี่ยวกับธุรกิจเกมเหล่านี้ทั่วโลก มีความพยายาม ช่วยกันผลักดันโฆษณาส่งเสริมให้วงการ อีสปอร์ตในแต่ละประเทศกลายเป็นเกมยอดนิยมไม่ต่างไปจากสโมสรกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล หรือกีฬาอื่นๆ ที่สร้างเงิน รายได้มหาศาล
 
          มีการใช้เทคนิคการตลาดสำคัญ คือ เพิ่มมูลค่ารางวัลการแข่งขัน เพื่อยั่วยวนใจให้เหล่าเกมเมอร์เข้ามาร่วมเยอะๆ เช่น ค่ายมือถือบางแห่งเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันให้เงินรางวัลรวมมากกว่า 5 ล้านบาท นี่คือตัวอย่างเฉพาะเวทีเดียวเท่านั้น และยังมีอีกหลายเวทีที่แข่งกันจัดอย่างเมามัน เพราะสามารถสร้างรายได้จากการขายเกม อุปกรณ์ โฆษณาถ่ายทอดสดและอื่นๆ
 
          ธุรกิจเกมทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ข้อมูลจาก newzoo.com วิเคราะห์ว่าอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า วงการเกมอีสปอร์ตจะมีมูลค่าสูงมากว่า 5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้อาจน้อยไปด้วยซ้ำเฉพาะในประเทศไทยข้อมูลบริษัทเอเซอร์คอมพิวเตอร์ จำกัด ระบุว่านไทยมีคนเล่นและคนดูวนเวียนในวงการเกมอีสปอร์ตมากกว่า 25 ล้านคน ตลาดเกมและอีสปอร์ตโดยรวมปี 2560 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ปี 2559 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่ารวม 16,328 ล้านบาท และกำลังเติบโตขึ้นปีละมากกว่าสิบเปอร์เซ็นต์
 
          ถึงกับมี การก่อตั้ง "สมาคมกีฬา อีสปอร์ตแห่งประเทศไทย" (Thailand e-Sports Federation หรือ TESF) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2017 โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับรอง พร้อมประกาศรายชื่อเกมที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคม เช่น League of Legends, Dota 2, Relam of Valor, Mobile Legends ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งรีบเปิดคณะนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อผลิตเด็กนักศึกษาเข้าสู่วงการเกมอีสปอร์ต
 
          บางคนมองในแง่ดีว่า เมื่อเด็กชอบเล่นเกมคอมพิวเตอร์กันนัก ก็เปิดแข่งขันให้มาเป็นนักเล่นเกมแบบนักกีฬาเสียเลย ถึงกับมีการเปรียบเทียบว่า เกมคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกับเกมสนุกเกอร์ในอดีตที่ผู้ปกครองเคยมองว่าเป็นการพนันเป็นสิ่งไม่ดีมอมเมาวัยรุ่น แต่ปัจจุบันกลายเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีผู้ติดตามทั่วโลก นักกีฬาสนุกเกอร์เป็นคนดังสร้างเงินรายได้ให้ครอบครัว พ่อแม่หลายคนถึงกับลงทุนลงแรงหันมา สนับสนุนให้ลูกหลานตัวเองเป็นนักกีฬาลงแข่งขันในสนามประลองต่างๆ
 
แต่ตัวอย่างอาการร่างกายช็อกเพราะเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเด็กชายวัยเพียง 13 ปีข้างต้น
กลายเป็นอุทาหรณ์สำคัญว่าเกมกีฬานี้เป็นเกมอันตรายอาจต้องแลกมาด้วยชีวิตและอนาคตทั้งหมดของลูกหลานตน
 
         
ข้อถกเถียงและความสับสนในข้อดี ข้อเสียของเกมคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว
 
          ในที่สุดเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้มีการบรรจุ "อาการผิดปกติในการเล่นเกม" หรือ โรคติดเกม (gaming disorder) ลงในกลุ่มของโรคที่เป็นความผิดปกติทางจิตของคู่มืออ้างอิงโรคฉบับใหม่ "International Classification of Diseases" (ICD) เพราะมีผู้ป่วยจากอาการเสพติดเกมเพิ่มขึ้นจำนวนมากในโลกปัจจุบัน โดยอธิบายว่าโรคติดเกมเป็นอาการที่เกิดจากติดการถูกหลอกล่อให้เล่นแข่งขันเกมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยหวังจะได้คะแนน ของรางวัล หรือแต้มสะสมต่างๆ จนคนติดเกมมีอาการคล้ายกับคนติดสุราหรือติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ
 
          ฝ่ายสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดขององค์การอนามัยโลกออกคำเตือนอีกว่า ถ้าพบสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กเล็กหรือเด็กวัยรุ่นมีพฤติกรรมใช้เวลาในการเล่นเกมจนไม่สามารถแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น กินข้าว เรียนหนังสือ ดูทีวี เข้าสังคม หรือแม้ในผู้ใหญ่บางคนก็มีอาการเช่นนี้ได้ คนในครอบครัวต้องเฝ้าระวังและส่งตัวไปรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ผู้ที่เป็นโรคเสพติดเกมในที่สุดก็ไม่แตกต่างจากภาวะของโรคติดสิ่งเสพติดอื่นๆ ที่ทำร้ายร่างกายและร่างกายของผู้เสพ
 
          นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำกลุ่มผู้เสี่ยงมีอาการเป็นโรคติดเกมว่า ผู้ติดเกมคอมพิวเตอร์จะมีพฤติกรรมคล้ายกับการติดสารเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กังวลใจอย่างมาก โดยเฉพาะตอนนี้มีบางกลุ่มที่สนับสนุนกีฬาเกมคอมพิวเตอร์ อีสปอร์ต จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายครอบครัวและผู้บริโภคเข้ามาช่วยกันจัดระเบียบหรือพิจารณาควบคุม อีสปอร์ต ที่จำเป็นต้องมีกติกาชัดเจนมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ติดเกมอย่างรุนแรง
 
"การเล่นเกมต้องคำนึงเรื่องของ "3 ต้อง 3 ไม่" 
 
3 ต้อง ได้แก่
1. ต้องกำหนดเวลาเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
2. ต้องตกลงโปรแกรมและเลือกประเภทเกมให้ลูก เช่น เกมบริหารสมอง ลดเกมที่เสี่ยงความก้าวร้าวรุนแรง ฆ่า ยิง
3. ต้องให้พ่อแม่อยู่เล่นกับลูกเพื่อให้คำแนะนำในการเล่นเกม
 
ส่วน 3 ไม่ ได้แก่
1. พ่อแม่ไม่เล่นเป็นตัวอย่าง
2. ไม่เล่นในเวลาครอบครัว
3. ไม่เล่นในห้องนอน
 
ฝากเรื่องนี้ไว้ให้เป็นอุทาหรณ์ให้ครอบครัวได้คิดตระหนักถึงให้มากๆ
ถ้าจะปล่อยให้เด็กไปลงลึกกับการเล่นเกมแบบนี้
 
          กระแสของ "คนติดเกม" ที่ถูกโปรโมททำโฆษณายกย่องให้เป็น "นักกีฬาอีสปอร์ต" ทำให้เด็กๆ ใฝ่ฝันอยากเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการนักแข่งเกม แต่สถิติเด็กทำสำเร็จจนพิชิตชัยชนะมีน้อยมากเพียง 0.00007 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
 
          อดีตผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติแสดงความเห็นในปัญหาการดูแลธุรกิจ "อีสปอร์ต" ในประเทศไทยว่า การเล่นเกมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เหมือนกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายชนิด อยู่ที่คนเล่นว่าจะมีวุฒิภาวะในการควบคุมตัวเองได้มากแค่ไหน หากเล่นเพื่อการผ่อนคลายหรือฝึกสมองก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนเล่นเกมมีไหวพริบหรือฉลาดมากขึ้น แต่ถ้าหมกมุ่นเล่นเกมจนกลายเป็นโรคติดเกมก็ต้องรีบไปรักษา
 
          "อยากเตือนให้รัฐบาลระวังการสร้างหรือโปรโมทธุรกิจกีฬาอีสปอร์ตให้มากๆ ควรมีการจัดระเบียบควบคุม โดยจัดเรตติ้งไปเลยว่าเกมไหนเป็นกีฬา เกมไหนไม่ใช่ โดยเฉพาะเกมที่แอบแฝงความรุนแรงหรือการแข่งขันอันตรายต่างๆ ในต่างประเทศมีการ ตื่นตัวและจัดระเบียบกันหลายประเทศแล้ว เพราะเขาเริ่มกังวลว่าเกมเหล่านี้จะมาทำลายอนาคตลูกหลาน ทำลายสติปัญญาและความสามารถอื่นๆ พ่อแม่เองก็หลงเข้าใจผิดไปสนับสนุนหวังให้ลูกรวยเป็นแชมป์ แต่ไม่รู้เลยว่าอัตราคนที่เล่นเกม 2 ล้านคนมีเพียง 1 คนที่ได้ชัยชนะในเวทีแข่งขัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาควบคุมโดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริง หยุดหลอกลวงทำให้คนเล่นเกมเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ" ผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ข้างต้นกล่าวแนะนำ
 
          กลยุทธ์สร้างธุรกิจแข่งขัน "อีสปอร์ต" ทำให้คนไทยหลายคนเกิดความสับสนด้วยเงินรางวัลล่อใจหลายล้านบาท ผู้ปกครองบางราย หลงผิดคิดไปว่าลูกจะสามารถกลายเป็นเซียนเกมทำเงินเป็นวัยรุ่นร้อยล้านได้ง่ายๆ โดยหารู้ไม่ว่า นักกีฬาอีสปอร์ต ส่วนใหญ่กลายเป็น "ผู้ป่วยจากการติดเกมคอมพิวเตอร์" (Computer Game Addiction) ผู้เล่นเกมเกิน 22 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ หรือ เกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) ที่มีหน้าที่ในการคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ และการเรียนรู้ต่างๆ นอกจากนี้การเล่นเกม มากๆ ยังทำให้มีอาการ "โรคกล้ามเนื้อตากระตุก"
 
          แต่คนติดเกมมักปกปิดอาการนี้ไว้เป็นความลับเพราะกลัวถูกหมอสั่ง "ห้ามแข่ง เล่นเกม" อีกต่อไป ผู้ปกครองคนไหนสังเกตแล้วพาไปรักษาทันก็โชคดีไป แต่ถ้าใครโชคร้ายยังไม่ระวังเลิกเล่นหรือพักชั่วคราว อาจทำให้จอตาเสื่อมถาวรไปเลยก็ได้ คนที่มีอาการนี้ส่วนใหญ่อาจไม่ได้ "ตาบอด" แต่กลายเป็น "คนมองเห็นไม่ชัด" ตลอดไป
 
คุ้มหรือไม่กับเงินรางวัลแค่หลักแสนหรือหลักล้านบาท?
 
 
Healthy Gamer