window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ปัญหาติดเกม

รวมเทคนิคที่จะช่วยให้คุณเรียนรู้ว่า
“เกมเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต”
เทคนิค...รับมือเมื่อลูกรักติดเกม

เทคนิค...รับมือเมื่อลูกรักติดเกม

ต้องยอมรับก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากความผิดของใคร ไม่มีประโยชน์ที่จะโทษกันไปมาหรือแม้แต่โทษตัวเอง เพราะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง และทุกต้องร่วมมือกันช่วยเหลือ อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งในบ้าน
พ่อแม่ต้องตั้งสติและวิเคราะห์ว่าตนเองและครอบครัวมีข้อจำกัดอะไร สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไร เช่น มีความเครียดมาก พ่อแม่ขาดความสุข ต้องทำงานมาก ขาดเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก
หาให้เจอว่ามีสาเหตุอะไรในตัวลูกที่ทำให้เขาเล่นเกมมาก


"เพื่อผ่อนคลาย"
เพราะเครียด เหนื่อยล้ากับการเรียน ถ้าไม่นับวันธรรมดาที่ต้องเรียนหนังสือและทำการบ้านจำนวนมหาศาลแล้ว มีเด็กจำนวนไม่น้อยเลยที่เครียดจากการถูกบังคับให้เรียนพิเศษ หลายคนก็แทบไม่มีเวลาให้ผ่อนคลาย เพราะฉะนั้นเกมจึงเป็นสิ่งที่ช่วยระบายความเครียดที่ทำได้ง่ายที่สุด เพียงแค่หยิบมือถือขึ้นมาเปิดไม่กี่ทีก็สามารถหาความสุขได้แล้ว

...ช่วงแรกอาจจะเล่นเพื่อผ่อนคลาย แต่เมื่อเล่นมากเข้าจากผ่อนคลายก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการติดเกมได้เหมือนกัน


"เพื่อความสนุก"
เพราะชีวิตจริงมันน่าเบื่อ หลายครั้งเวลาเด็กบอกว่า “เบื่อจัง ไม่มีอะไรทำ” พ่อแม่บางคนมักจะบอกให้ลูกไปอ่านหนังสือ ทำการบ้านที่ค้างไว้ กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เพื่อแก้เบื่อ หรือแม้กระทั่งให้เรียนพิเศษเพื่อที่จะได้ไม่ว่าง กิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ได้ช่วยสร้างความสนุก แถมยังทำให้เด็กเบื่อมากกว่าเดิมอีก

เพราะจริงๆ แล้วความสุขของเด็กมาจากการที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ บางอย่างอาจจะไร้สาระในมุมผู้ใหญ่ แต่สำหรับเขาแล้วเป็นการได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ได้ทดลองทำสิ่งประดิษฐ์ด้วยตัวเอง ลองทำอาหารแปลกใหม่หรือทำอาหารด้วยตัวเอง เป็นต้น

นอกจากนี้เด็กจะรู้สึกสนุกก็ต่อเมื่อมี “เพื่อนเล่น” ของเล่นที่มี เช่น ดินน้ำมัน พับกระดาษ เลโก้ บอร์ดเกม สเกตบอร์ด ถ้าให้เล่นคนเดียวมักจะเล่นได้ไม่นาน แต่ถ้ามีเพื่อนเล่นด้วยจะสนุก เพลิดเพลิน พ่อแม่ควรหาโอกาสลงเล่นไปด้วยกันกับลูก และจะดีมากถ้าหากให้ลูกเป็นคนสอนเล่น ในขณะที่เล่นพยายามงดบ่นหรือสอนลูก ให้ท่องไว้ว่า “เล่นเพื่อความสนุก” เมื่อลูกมีกิจกรรมที่สร้างความสนุกได้หลากหลาย ลูกก็ไม่ต้องพึ่งเกมเพื่อสร้างความสนุกเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป บางทีความสนุกจากกิจกรรมที่ทำอยู่ก็อาจจุดประกายความสนใจและอยากฝึกฝนมากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้ลูกรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร ช่วยให้มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตมากขึ้นด้วย

...แต่หากชีวิตจริงไม่สนุก น่าเบื่อ ก็ไม่แปลกที่ลูกจะพึ่งพาเกมเพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง จากเล่นเพื่อความสนุกก็กลายเป็นเล่นจริงจังมากขึ้นจนถึงขั้น “ติดเกม”


"เพื่อมีสังคมเพื่อน"
เด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังพัฒนาด้าน “ตัวตน (self)” ต้องการการยอมรับจากสังคมเพื่อน ต้องการให้เพื่อนชื่นชม เห็นความสำคัญของตัวเอง หากในโลกแห่งความเป็นจริงเด็กไม่มีเพื่อน ถูกเพื่อนรังแก ขาดการยอมรับจากเพื่อนแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะหาสังคมใหม่อย่างโลกออนไลน์ ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจจะมีปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรม ทำให้ไม่มีใครสนใจ มองว่าเป็นส่วนเกิน แต่ในโลกออนไลน์เด็กอาจจะทำได้ดีกว่า และด้วยสิ่งจูงใจในเกมที่ทำให้อยากท้าทายความสามารถมากขึ้น เด็กก็หมั่นฝึกฝนกลายเป็นทักษะติดตัวจนได้รับการยอมรับจากเพื่อน

...เด็กติดเกมหลายคนมองว่าเกมทำให้มีเพื่อนมากขึ้น เพราะในชีวิตจริงไม่มีเพื่อนเหมือนในเกม


"เพื่อเติมเต็มตัวตน"
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า เด็กและวัยรุ่นกำลังพัฒนาตัวตน (self) หากในชีวิตจริงไม่มีใครช่วยเติมเต็มตัวตนได้ เมื่อทำดีกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรทำอยู่แล้ว ไม่ได้รับคำชม แต่ถ้าทำผิดพลาดกลับเจอคำตำหนิรุนแรง บั่นทอนจิตใจ ก็ทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง เมื่อตัวตนไม่ได้ถูกเติมเต็มจากโลกแห่งความจริง ในทางตรงกันข้ามโลกของเกมกลับเป็นโลกที่สามารถเริ่มต้นใหม่เรื่อยๆ เป็นโลกที่ให้โอกาสพัฒนาความสามารถของตัวเองเสมอ มีสิ่งจูงใจ ได้รับคำชมและกำลังใจตลอดเวลา แพ้ก็ไม่เป็นไรเริ่มต้นใหม่ได้ เมื่อตัวตนได้รับการเติมเต็มจากเกม ก็ทำให้รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ลูกรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองจากเกม หรือคำชมจากพ่อแม่

...เมื่อใดก็ตามที่เด็กรู้สึกมีคุณค่าจากสิ่งที่ทำอยู่ ย่อมอยากพัฒนาตัวเองจากสิ่งนั้นให้ดีขึ้น การเล่นเกมจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เป็นฝ่ายเล่นเกมก็กลายเป็นฝ่ายที่ถูกเกมเล่นงานไปเสียแล้ว


"เพื่อเป็นหลุมหลบภัยทำให้ลืมทุกข์"
โลกของเด็กและวัยรุ่นอาจจะยังมีแค่บ้านกับโรงเรียน ดังนั้นบรรยากาศในบ้านจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีความสุขหรือทุกข์ใจ หากบรรยากาศในบ้านมีแต่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไปโรงเรียนก็ไม่มีความสุข โดนตำหนิ ถูกรังแกเป็นประจำ จะทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ขาดความมั่นคงทางจิตใจ มองว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมหรือจัดการอะไรได้เลย เด็กก็มีแนวโน้มจะหนีไปอยู่ในโลกของเกม เพราะอย่างน้อยเขาก็พอจะควบคุมหรือจัดการได้มากกว่า

...เมื่ออยู่นานและบ่อยขึ้นเรื่อยๆ โลกของเกมก็อาจกลายเป็น "ความสุข" เพียงหนึ่งเดียวของเด็ก แน่นอนว่าโอกาสที่จะติดเกมก็สูงมากขึ้นตามไปด้วย
พ่อแม่หลายคนมักคิดว่าจะตั้งกฎกติกายังไงให้ลูกเชื่อฟังและทำตาม พยายามพุ่งเป้าไปที่การห้ามหรือหยุดลูกเล่นเกม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กโกรธและต่อต้านได้ง่าย กฎกติกาที่จะจูงใจให้ลูกอยากทำตามนั้น ต้องเริ่มจากความสัมพันธ์ที่ดีพอ ดังนั้นควรทำให้ลูกอยากเข้าหาและรู้สึกดีที่ได้อยู่กับพ่อแม่ทุกครั้ง

แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกดีพอแล้ว ให้ดูจากการที่ลูกกล้าที่จะมาเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ทั้งเรื่องที่สบายใจและไม่สบายใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกกล้าที่จะมาแชร์ประสบการณ์ทั้งทางบวกและทางลบกับพ่อแม่ แสดงว่าสัมพันธภาพดีพอที่จะเริ่มคุยเรื่องกติกาได้แล้ว
เมื่อความสัมพันธ์ดีแล้ว พ่อแม่ควรตกลงกันและ “สร้างโอกาส” สำหรับคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมาอย่าง “ใส่ใจในความรู้สึก” ในบรรยากาศสบายๆ แต่จริงจัง ด้วยวิธีการดังนี้

1. เปิดบทสนทนาเชิงบวก ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่ไม่ตำหนิ กดดัน หรือจับผิด แต่ต้องการจะเข้าใจว่าลูกว่ารู้สึกอย่างไรเวลาได้เล่นเกม เช่น “พ่อกับแม่รู้ว่าลูกเข้าใจว่าลูกชอบเล่นเกมมาก และก็เชื่อว่าเกมคงให้อะไรดีๆ กับลูกหลายอย่าง…แต่พ่อกับแม่เป็นห่วงว่าลูกจะใช้เวลากับมันมากเกินไปจนเกิดปัญหากับลูก…”

2. หากลูกมีน้ำเสียงหรือสีหน้าไม่พอใจ ให้ตั้งสติและควบคุมตนเอง หากพ่อแม่อยู่ด้วยกันอาจจะส่งสัญญาณเตือนซึ่งกันและกันเพื่อให้ใจเย็นลง สะท้อนสิ่งที่ลูกแสดงออกมา เช่น “ลูกคงรู้สึกไม่พอใจ คิดว่าลูกถูกตำหนิ แต่พ่อกับแม่เป็นห่วงลูกจริงๆ และอยากหาทางช่วยเหลือกัน”

3. ตกลงกติกาการเล่นเกมร่วมกัน ไม่ใช่มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น จะเล่นวันและเวลาใดบ้าง ก่อนเล่นต้องทำอย่างไร หลังหมดเวลาต้องทำอย่างไร ถ้าทำและไม่ทำตามข้อตกลงจะเกิดอะไรขึ้น ควรต่อรองและตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนเริ่มใช้กติกาจริง แนะนำว่าให้พ่อแม่ตกลงกันเบื้องต้นก่อนที่จะคุยกับลูก เมื่ออยู่ต่อหน้าลูกขอให้ร่วมมือกัน เลี่ยงการเถียงต่อหน้าลูก
หากพยายามแล้วยังไมได้ผลเท่าที่ควร บางทีภายใต้อาการติดเกมอาจจะมีปัญหาอื่นซ่อนอยู่ รักษาที่ต้นตอของปัญหาย่อมเป็นทางแก้ที่ดีที่สุด เช่น โรคสมาธิสั้น โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น
เทคนิค...รับมือกับปัญหาคลาสสิกที่พบได้บ่อยจากการเล่นเกม

เทคนิค...รับมือกับปัญหาคลาสสิกที่พบได้บ่อยจากการเล่นเกม

เวลาเล่นเกมแล้วสนุกมากเป็นพิเศษหลายคนมักจะเกิดอาการ “หัวร้อน” โดยเฉพาะเล่นเกมที่ใช้ความรุนแรง อาจจะมีคำหยาบคายเผลอหลุดออกมาเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งมักจะเกิดจากการเลียนแบบกัน เดิมเป็นคนพูดสุภาพแต่เมื่อเล่นเกมมาก โอกาสเลียนแบบคำพูดจากเพื่อนในเกมก็มากขึ้นด้วย ซึ่งเด็กหลายคนมักจะบอกว่าก็เพื่อนพูดกัน ถ้าไม่พูดก็แปลกแตกต่างจากเพื่อน แต่อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้วเมื่อเด็กและวัยรุ่นอยู่ด้วยกันเองในกลุ่มก็จะมีคำศัพท์ที่ไม่น่ารักอยู่บ้าง เพียงแต่พ่อแม่อาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นหรือได้ยินมากนักเนื่องจากลูกไปโรงเรียน

ดังนั้น หากลูกยังสามารถเลือกใช้คำพูดกับกลุ่มคนได้อย่างเหมาะสม ก็อาจจะปล่อยผ่านได้บ้าง เพราะถ้าหากไปโฟกัสแต่เรื่องนี้กลัวว่าลูกจะติดเป็นนิสัยไปจนโต แล้วคอยตำหนิบ่อยๆ จะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไปเสียเปล่า แต่พ่อแม่ก็ควรเตือนลูกแต่เนิ่นๆ หากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ที่ส่งผลทำให้พูดจาไม่น่ารักเหล่านั้น ควรมุ่งเน้นไปที่การจัดการอารมณ์เป็นหลักแทน โดยอาจจะแนะนำให้ลูกหาพักอารมณ์หลังจากเล่นเกมก่อนที่จะคุยกับคนอื่นก็ได้
ลองเช็กลิสต์ว่าทำครบหรือไม่
1. อย่างแรกต้องมั่นใจก่อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกอยู่ในระดับที่ดีพอจริงๆ
2. กติกานั้นเกิดจากการตกลงและยอมรับร่วมกันระหว่างเราและลูก ไม่ใช่เกิดจากการบังคับ กติการะบุชัดเจนว่าหากทำตามจะเป็นอย่างไร และหากไม่ทำตามจะเป็นอย่างไร และสมาชิกในบ้านทุกคนรับทราบด้วยเช่นกัน
3. สมาชิกทุกคนในบ้านรวมถึงญาติผู้ใหญ่เคารพกติกา ทำให้กติกาศักดิ์สิทธิ์ ไม่ละเมิดกติกาที่ตั้งไว้ หลายครั้งพบว่าในช่วงแรกทุกคนจะพยายามทำตามกติกา แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดความย่อหย่อน ไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ใหญ่ในบ้านไม่มีเวลาควบคุม จนต้องยอมปล่อยให้เด็กเล่นตามใจชอบ ซึ่งพบว่าจะเป็นเช่นนี้ได้มากในช่วงที่เด็กปิดเทอมหรือเรียนออนไลน์ อยู่บ้านคนเดียว แต่พ่อแม่ยังต้องไปทำงาน และสำหรับบ้านที่มีพี่เลี้ยง ต้องให้อำนาจในการใช้กติกากับพี่เลี้ยงด้วยเช่นกัน งดการต่อรองขอเวลาเพิ่ม หรือติดสินบนเมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่ดี สรุปได้ว่ากติกาว่าอย่างไร ก็ทำตามกติกาที่วางไว้ ยืดหยุ่นได้บ้าง แต่ไม่ย่อหย่อน
ลูกที่ต่อรองเก่ง มักเกิดจากพ่อแม่ที่ใจอ่อน ไม่เอาจริง ใช้กติกาไม่สม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นแก้ไขด้วยการทำกติกาให้ศักดิ์สิทธิ์ งดต่อรองกับลูก ให้นึกไว้ว่าหากมีครั้งแรกก็จะมีครั้งต่อไปๆ และเชื่อเถอะว่าการต่อรองจะมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่พ่อแม่พอทำใจได้ แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งความอดทนที่มีก็หมดลงได้ ซึ่งนั่นทำให้เผลอทะเลาะกันรุนแรงจนทำลายความสัมพันธ์ที่ดีได้ เมื่อนั้นการที่จะมาคุยเรื่องกติกาก็เป็นเรื่องยากและน่าเบื่อสำหรับทุกคน

เพราะฉะนั้นทำกติกาให้สม่ำเสมอเสียตั้งแต่แรกดีกว่า ตัวอย่างการต่อรองที่พบได้บ่อย เช่น ต้องให้เล่นเกมก่อนถึงจะทำการบ้าน ถ้าไม่ให้เล่นเกมพรุ่งนี้จะไม่ไปโรงเรียน ถ้าพ่อแม่เจอแบบนี้ให้ตั้งสติ หากไม่พร้อมที่จะคุยให้บอกลูกว่า “ตอนนี้แม่คิดว่าเราคงยังไม่พร้อมจะคุยกัน ไว้อารมณ์เย็นแล้วค่อยมาคุยกันอีกที” แล้วเดินออกมา และหากลูกเดินตามมารบเร้า หรือโวยวายให้ใช้การเพิกเฉย ไม่สนใจจนกว่าลูกจะหยุดตามที่บอกไปก่อนหน้านี้
ในกรณีนี้ให้กลับมาทบทวนกติการ่วมกันอีกครั้ง ว่ากติกาครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน อันที่จริงแล้วควรรวมเวลาไว้ด้วยกันเพราะถือว่าเป็นการใช้สื่อเหมือนกัน ถ้าไม่นับการเรียนหรือทำการบ้าน
ในสถานการณ์การเรียนออนไลน์แบบนี้ พฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เพราะเข้าถึงอุปกรณ์ได้ง่าย หากมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับพ่อแม่ของเพื่อนลูก เชื่อว่าจะรู้สึกไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะรูปแบบการเรียนออนไลน์ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กมากนัก และยังเกิดความเหนื่อยล้าหรือเบื่อหน่ายได้ง่าย ดังนั้นอยากให้แสดงความเข้าใจ ไม่จับผิดลูก แต่อยากให้คุยกันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ปรับความคาดหวังของทั้งสองฝ่ายให้ตรงกัน เช่น บางครอบครัวตกลงกันว่าเล่นได้ แต่แค่เช็กชื่อให้ทัน ส่งงานให้ครบ สอบให้ผ่าน ครูถามเรียกตอบได้ หากเมื่อไหร่ที่เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น จำเป็นต้องมาพูดคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าจะป้องกันและแก้ปัญหาอย่างไร ตรงนี้อาจจะมาตั้งกติการ่วมกันที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย

ที่สำคัญอยากที่อยากให้พ่อแม่ระลึกเสมอว่า การเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยนี้และสมัยนี้ แต่อยากให้มองอีกแง่ว่าการเรียนไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เอาการเรียนไปผูกกับการประสบความสำเร็จ ในวัยนี้อาจจะยังเร็วเกินไป ผลการเรียนหรือเกรดเฉลี่ยในชั้นประถมยังไม่ได้วัดความสำเร็จในอนาคตขนาดนั้น (ถึงแม้จะมีบางโรงเรียนที่ใช้เกรดเฉลี่ยในการเรียนต่อระดับมัธยมต้น) และเกรดเฉลี่ยในชั้นมัธยมมีความสำคัญมากขึ้นต่อการเลือกสายการเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่หากมุ่งวัดแค่เรื่องเรียน เด็กจะเรียนด้วยความเครียด กดดันตัวเองจนมากเกินไป เมื่อผลการเรียนไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังแล้ว โลกของเขาก็อาจจะถล่มลงมาได้เช่นกัน จะดีกว่ามั้ยหากลูกรู้สึกดีกับตัวเองจากเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่โลกของการเรียนไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ก็ยังมีโลกของเพื่อน กีฬา ดนตรี มารองรับ
วัคซีนป้องกันการติดเกม

วัคซีนป้องกันการติดเกม

1. ให้ความรัก ความอบอุ่น เวลาที่มีคุณภาพกับเด็ก และสนันสนุนกิจกรรมอื่นที่เด็กสนใจ
2. หาโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนลูก เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ปกครองในการพาเด็กทำกิจกรรมยามว่างร่วมกัน เช่น กีฬา กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมจิตอาสา
1. ควรกำหนดระยะเวลาการเล่นเกมของเด็ก โดยตกลงร่วมกันกับเด็กก่อน เพราะหากกำหนดหลังจากเด็กติดเกมเเล้วเป็นเรื่องยาก
ประเด็นที่ควรตกลงกันมีดังนี้
- วัน เวลา จำนวนชั่วโมงการเล่นเกมเเต่ละครั้ง
- กำหนดหน้าที่ที่เด็กต้องรับผิดชอบก่อนการเล่นเกม
- กำหนดการลงโทษหากเด็กไม่สามารถทำตามกติกาได้ แนะนำให้ใช้วิธีงดเกม หรือลดเวลาในการเล่นเกมในครั้งต่อไปลง

2. ควรจำกัดจำนวนของอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกม และควรติดตั้งโปรแกรมที่ควบคุมเวลาและเนื้อหาการเล่นเกม รวมทั้งใส่รหัสผ่านไว้ในอุปกรณ์ทุกชิ้น

3. ครอบครัวควรมีแนวทางเดียวกันในการเลี้ยงดู
1. สอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลา และมีวินัยในการใช้เงิน เพราะเด็กที่ถูกฝึกให้มีความรับผิดชอบและระเบียบวินัย จะมีความเสี่ยงในการติดเกมลดลงถึง 3 เท่า

2. ส่งเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง (self esteem) โดยการให้มองหาและดึงจุดดีของเด็กขึ้นมาชื่นชมและส่งเสริมสิ่งที่เด็กทำได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องเรียน และผู้ปกครองควรแสดงความชื่นชมเมื่อเด็กทำตามกติกา เลิกเล่นเกมเมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

3. ควรส่งเสริมให้เด็กมีงานอดิเรกทำหลายๆ อย่างร่วมกับการสอนให้เด็กมีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
วัยเด็กเล็ก (6-10 ปี) ควรเลือกเกมที่ไม่รุนแรง หรือรุนแรงเพียงเล็ก เช่น เกมกีฬาที่ไม่ใช่การต่อสู้ เกมการ์ตูน และใช้ภาษาสุภาพ

วัยเด็กโต (10-13 ปี) อาจเล่นเกมที่มีฉากต่อสู้เล็กน้อยภายในเกม และมีภาษาที่ซับซ้อน แต่ไม่ควรมีฉากความรุนแรง

วัยรุ่น (อายุ 13 ปีขึ้นไป) วัยรุ่นอาจสนใจเกมที่มีการต่อสู้และความรุนแรงที่มากขึ้น แต่ไม่ควรมีความรุนแรงมากเกินไป เช่น ฉากนองเลือด และควรระวังเกมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น เรื่องเพศ ยาเสพติด คำหยาบคาย หรือเนื้อหาที่ยุงยงให้กระทำผิด
1. ควรติดตามและเรียนรู้ให้เท่าทันเกมที่เด็กนิยมเล่น

2. ไม่แนะนำให้เล่นเกมรวมมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ในวันธรรมดา และ 2 ชั่วโมงต่อวัน ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

3. ไม่แนะนำให้เด็กเล่นเกมต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง

4. ไม่แนะนำให้เด็กเล่นเกมในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เนื่องจากเกมจะมีผลรบกวนการนอน
สาเหตุ..การติดเกม

สาเหตุ..การติดเกม

1. ขาดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
2. ขาดทักษะการแก้ไขปัญหา
3. ขาดวินัยในตัวเอง
4. ขาดทักษะสังคม มีปัญหากับเพื่อนบ่อยๆ
5. มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ และปัญหาพฤติกรรม เช่น โกหก ลักขโมย ทะเลาะวิวาท
6. มีโรคทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล ติดสารเสพติด
1. มีความขัดแย้งกันในครอบครัว
2. พ่อแม่ขาดสัมพันธภาพและความผูกพันธ์ที่ดีกับตัวเด็ก เช่น ไม่ทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
3. ขาดกฎระเบียบเกี่ยวกับการเล่นเกมและควบคุมกฎอย่างสม่ำเสมอ
4. ขาดการสอดส่องดูแลการเล่นเกมของเด็ก
5. ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สื่อ
6. มีโรคทางจิตเวชในครอบครัว
1. มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนในชีวิตจริง
2. มีการใช้เวลากับเกมมาก
3. สามารถเข้าถึงเกมได้ง่าย มีเกมในห้องนอน
4. เกมที่มีการสวมบทบาทและเล่นกับผู้อื่น
5. มีการจัดอันดับในเกม
6. มีการใช้เงินเพื่อซื้อหรือสุ่มสิ่งของ หรือมีการพนัน
7. มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย มีเนื้อหาโป๊เปลือย
สัญญาณเตือนของการติดเกม

สัญญาณเตือนของการติดเกม

เด็กส่วนใหญ่เมื่อเผชิญความเครียด มีความรู้สึกเศร้า เบื่อ มักหาทางออกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเล่นกีฬา เล่นดนตรี ทำสิ่งที่ชอบ และการเล่นเกมก็มักเป็นทางออกหนึ่งในการจัดการความเครียด แต่หากผู้ปกครองเห็นว่าเด็กเลือกใช้วิธีการไม่หลากหลาย ใช้การเล่นเกมเป็นทางออกในการระบายอารมณ์ทางลบบ่อยๆ ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่กำลังบอกว่าเด็กอาจติดเกม
เด็กติดเกมจำนวนมากเมื่อถูกบอกให้หยุดเล่น มักรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ ถ้าผู้ใหญ่ที่มาเตือนกำลังมีอารมณ์โกรธ ดุด่าเสียงดัง หรือกระชากปลั๊กออก แต่หากผู้ปกครองเตือนดีๆ แล้วลูกก็ยังหงุดหงิด เสียงดัง โวยวาย ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น สัญญาณเหล่านี้เป็นอันตรายว่าลูกอาจติดเกมแล้ว
เด็กที่มีแนวโน้มว่าจะติดเกมอาจมีความคิดหมกมุ่นกับเกมตลอดเวลา หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อเล่นเกมบ่อยๆ หรือเมื่อกลับถึงบ้านก็พุ่งไปหาคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมทันที ไม่รับผิดชอบกิจกรรมอื่น ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกม เช่น อ่านข่าวสารเกม ดูนักพากย์เกม (game caster) หรือดู streaming ที่มีคนที่เล่นเกมเก่งๆ มาเล่นเกมให้ดู
เด็กที่ใช้เวลากับการเล่นเกมนานขึ้นเรื่อยๆ ต่อรองผู้ปกครองเพื่อให้ได้เล่นเกมมากขึ้น หรือเดิมเคยรักษาเวลาในการเล่นได้ตามข้อตกลง แต่ต่อมาไม่สามารถรักษาเวลาได้ จากที่ไม่ต้องเตือนให้หยุดเล่นกลายเป็นต้องเข้าไปเตือนทุกครั้ง หรือเวลาที่เล่นเริ่มเบียดบังเวลาในการทำภาระหน้าที่และการเรียน
ผลกระทบจากการเล่นเกม คือ การเสียเวลาไปกับเกม ไม่กินข้าว นอนดึก ตื่นสาย เด็กที่มีแนวโน้มจะติดเกมมักจะไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ยังคงเล่นเกมและไ่ม่พยายามที่จะควบคุมการเล่น เริ่มโทษผู้อื่นนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง และใช้การเล่นเกมเป็นทางออกทำให้เกิดเป็นวงจรของปัญหาการติดเกม
Healthy Gamer