window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

"แท็บเล็ต" เพื่อการศึกษาไปถึงไหนแล้ว ... ?

ตอนนี้

     "แท็บเล็ต" เพื่อการศึกษาไปถึงไหนแล้ว ... ?

     สำหรับโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา หรือ แท็บเล็ต ป.1 เริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2555) โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดำเนินงาน จัดซื้อแท็บเล็ต ป.1 จำนวนกว่า 9 แสนเครื่อง ปัจจุบันแท็บเล็ตทั้งหมดได้ส่งถึงมือเด็กนักเรียนแล้ว และได้ติดตัวเด็กนักเรียน ป.1 เพื่อนำไปใช้ในการเรียน ป.2 ด้วย ขณะที่โครงการจัดหาแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน ป.1 และ ม.1ในปี 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการจัดหาและจัดการประมูลแท็บเล็ต อยู่ระหว่างดำเนินการ

     ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ส.ค.56 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยความคืบหน้าการจัดซื้อแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ประจำปีการศึกษา 2556 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดซื้อแท็บเล็ตทั้ง 4 โซน ประกอบด้วย โซน 1 สำหรับนักเรียน ป.1 ภาคกลางและภาคใต้ ,โซน 2 สำหรับนักเรียน ป.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,โซน 3 สำหรับนักเรียน ม.1 ภาคกลางและภาคใต้ และโซน 4 สำหรับนักเรียน ม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่าโซนที่ 1, 2 และ 4 จะมีการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งบันทึกมาและมีข้อความบางส่วนตีความได้ว่ามีข้อสงสัยในการประกวดราคาฯ ของโซน 1, 2 และ 4 แม้ว่าจะไม่มีนัยยะสำคัญ แต่ สพฐ. ก็จำเป็นต้องหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ขณะที่โซน 3 ก็สั่งให้ทบทวนเช่นกันเพราะหาก สตง.สั่งให้ทบทวน แต่ยังเดินหน้าดำเนินการต่อไปก็อาจจะโดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบได้

“ปีนี้นักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 คงจะได้รับแท็บเล็ตช้าอย่างแน่นอน แต่ยืนยันว่าโครงการนี้จะไม่ล่ม”

     ระหว่างที่รอกระบวนการในการจัดซื้อแท็บเล็ตสำหรับเด็ก ป.1 และ ม.1 เดินไปตามขั้นตอน ผู้สื่อข่าวหน้าการศึกษาของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายงานว่า วันที่ 26 ส.ค.56 รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษากำลังเตรียมทำแผนระยะยาวเพื่อปรับปรุงการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระแสทั้งโลก ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากกระแสนี้ และจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาได้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ เรื่องของสื่อที่จะนำมาใช้กับแท็บเล็ต

     ปัจจุบัน สพฐ. มีสื่อที่ผลิตแล้ว 2 รูปแบบ คือแบบออฟไลน์ 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา ชั้น ป.1-ป.3 จำนวน  2,310 บทเรียน  ส่วน ม.1 และ ม.3  มี 1,020 บทเรียน และยังมีแอพพลิเคชั่นสำหรับแท็บเล็ต ชั้น ป.2 วิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ 400 เรื่อง รวมทั้งกำลังพัฒนาเนื้อหาของชั้น ป.2 ป.3 ใน 5 วิชาหลัก อีก 1,100 เรื่อง

     นายจาตุรนต์  กล่าวว่า  สพฐ. ได้ทำวิจัยผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ใช้แท็บเล็ตในปีพ.ศ. 2554-2555 พบว่า นักเรียน ป.1 ในวิชาภาษาไทย มีคะแนนเพิ่มขึ้น 56.82 % คณิตศาสตร์ 55.45 % วิทยาศาสตร์ 56.14 % สังคม 52.95% ศิลปะ 53.64 % การอาชีพ 54.55%  สุขศึกษา 57.27% ส่วนภาษาอังกฤษ 62.05 และยังพบว่า การใช้แท็บเล็ตมีข้อดี คือ เด็กสนุกสนาน มีแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้เด็กที่เรียนรู้ช้า หรือเด็กพิเศษมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ เนื้อหาในแท็บแล็ตส่วนใหญ่ยังเหมือนในหนังสือเรียน มีปัญหาทางเทคนิค เช่น แบตเตอรี่หมดเร็ว เครื่องร้อน เป็นต้น และหลายพื้นที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เช่น ภาคใต้  และปัญหาที่ครูบางส่วนยังไม่มีแท็บแล็ต และไม่มีทักษะด้านไอซีทีทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนได้

     “ขณะนี้ทราบว่า มีการผลิตครูเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้แล้วจำนวนมาก แต่ยังติดปัญหาเรื่องอัตราบรรจุ และที่สำคัญติดเรื่องใบประกอบวิชาชีพ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนว่าต่อไปจะต้องมีครูเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โรงเรียนละ 1 คน ดังนั้นต่อไปจะต้องมีครูเทคโนโลยีฯ เพิ่มกว่าหมื่นคน“ นายจาตุรนต์กล่าว

     ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การพัฒนาครูมีส่วนสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาขาดครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งหากมีการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมแล้ว แนวคิดการใช้ครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ก็อาจปรับเปลี่ยนไป โดยอาจใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งสามารถใช้ครู 1 คนต่อนักเรียน 1,000 คนได้ โดยกระทรวงศึกษาจะต้องกำกับดูแลการเรียนการสอนทางไกลให้บรรลุผลอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นองค์กรกลางในการกำหนดทิศทางนโยบายการใช้สื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะการจัดตั้งสถาบันดังกล่าวจะเป็นการรวมหน่วยงานหลายแห่งเข้าด้วยกันเป็นองค์การมหาชน  ดังนั้นภารกิจหลักของศธ.จะต้องเร่งผลักดันจัดตั้งสถาบันนี้ขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้การพัฒนาสื่ออิเลคทรอนิกส์เดินหน้าต่อไปได้

     สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กไทยเรา และเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่มีให้คุณได้เลือกดูกันอย่างจุใจ ได้ที่นี่ www.healthygamer.net และ www.facebook.com/healthygamer

HealthyGamer

 

Healthy Gamer