window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

เมื่อลูกติดเกมอย่างหนัก

เมื่อลูกติดเกมอย่างหนัก
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว


ถาม
 
คือ ลูกเราเวลากลับจากโรงเรียนก็วิ่งไปเล่นคอมเลย และเราก็ทำงานอยู่เลยไม่มีเวลาดูลูก แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีใครดูลูกเวลาเราไม่อยู่นะคะ ก็ยังมีคุณย่าแกดูอยู่ แต่คุณย่าไม่ค่อยใส่ใจสักเท่าไหร่ ชอบปล่อยให้ลูกเล่นเกม และเดี๋ยวนี้ลูกก้าวร้าวขึ้นมาก เวลาปิดคอมลูกก็จะดิ้นแล้วก็ร้องไม่ยอมเลิก พอเราตีเราว่า เขาก็เถียงกลับ และเรื่องการเรียนก็ตกต่ำลงมา จากที่ได้ที่10 ตอนนี้ไปได้ที่ 16 แล้วคะ และที่สำคัญคือลูดพูดคำหยาบมาก เพราะคุณย่า ชอบพูดคำหยาบ เอะอะ ก็มึงกู อีนู้น อีนี้ ลูกเลยติด  ว่าเท่าไหร่ก็ไม่ยอมฟัง ตอนนี้ตีเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกรู้สาแล้วคะ ทั้งติดเกมทั้งพูดคำหยาบ ตอนนี้อายุ6 ขวบเองนะคะ เป็นเด็กผู้ชายค่ะ เราอยากให้ลูกสุภาพเรียบร้อยเหมือนเด็กคนอื่นบ้าง 

ตอบ จากที่คุณแม่ถามมา ทั้งในเรื่องการเล่นเกม และการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของลูกชาย เช่น การเรียนที่ตกลง การพูดคำหยาบ และพฤติกรรมก้าวร้าว ดิฉันจึงขอแบ่งตอบตามประเด็นต่างๆเป็นข้อๆไปนะคะ 

- ก่อนอื่นควรพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ในบ้านค่ะ ว่าเราจะเริ่มปรับพฤติกรรมของเจ้าลูกชายกันแล้ว โดยการปรับพฤติกรรมนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีคนหนึ่งเอาจริง คนหนึ่งไม้อ่อน เจ้าลูกชายก็จะวิ่งไปอ้อนเอาไม้อ่อนเสมอจนการปรับพฤติกรรมไม่ได้ผล บอกผู้ใหญ่ในบ้านว่าท่านเป็นคนสำคัญที่มีส่วนช่วยในการดูแลลูกหลาน ให้เรามาช่วยกันวางกติกาในบ้าน (จะพูดในประเด็นถัดไปค่ะ) เพื่อสร้างวินัยให้ลูกของเราตั้งแต่ตอนนี้ค่ะ
 
- การทำตารางเวลาประจำวันและการวางกติกาภายในบ้านจำเป็นต้องให้ลูกของเรา "มีส่วนร่วม" ในการวางกติกาด้วยค่ะ ซึ่งส่วนนี้สำคัญมากเลยนะคะ การที่เขามีส่วนร่วม ช่วยกระตุ้นให้เขาอยากที่จะร่วมมือในการทำตามกติกามากขึ้นค่ะ สำหรับหลักการวางกติกาภายในบ้านสามารถดาวน์โหลดได้จากภายในเว็บไซต์ healthygamer.net ของเราค่ะ หรือจะลอง search หาเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ตก็มีแนะนำอยู่อย่างหลากหลาย
 
- การจำกัดเวลาการเล่นเกม ไม่ควรเล่นเกินวันละ1 ชั่วโมงในวันธรรมดาและไม่เกิน 2 ชั่วโมงในวันหยุด ซึ่งก็ไม่ใช่นั่งเล่นรวดเดียวนะคะ ให้เล่นแล้วลุกไปทำนู่นนี่เป็นพักๆ ซอยแบ่งเวลาเล่นให้เหลือสั้นๆหลายๆครั้งแทนค่ะ แล้วก่อนเล่นก็ควรรับผิดชอบทำหน้าที่ของตัวเองให้เรียบร้อยก่อนนะคะ เช่นทำการบ้าน หรือทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายเสียก่อน ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการฝึกวินัยให้เด็กไปด้วยค่ะ
 
- การให้แรงเสริมทางบวกเมื่อลูกทำสิ่งดี คำว่าแรงเสริม ไม่ใช่แค่รางวัลประเภท เกม ตัวต่อ หุ่นยนต์ หรืออะไรทำนองนั้นนะคะ แต่ยังหมายถึง การกอด การชม การแสดงความรักทั้งคำพูดและภาษากาย สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยชั้นดีที่เชื่อมใจของเรากับลูกให้ผูกพันกันไปแม้ลูกจะโตเป็นหนุ่มแล้วก็ตามค่ะ
 
- การให้เวลาคุณภาพและกิจกรรมทางเลือก ใช้เวลาร่วมกันอย่างเต็มที่ แม้สิบนาทีที่นั่งกินข้าวด้วยกันก็เป็นเวลาคุณภาพได้ หากเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราและลูกต่างรู้สึกถึงความรักความเอาใจใส่ต่อกัน คำถามง่ายๆอย่าง "เป็นยังไงคะ วันนี้เรียนสนุกไหม?" "คุณครูสอนอะไรบ้าง เอามาสอนแม่บ้างสิคะ?" คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ให้ลูกสนุกสนานและมีความสุขกับการใช้เวลาร่วมกับเรา นอกจากนี้ยังอาจส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมยามว่างอื่นๆนอกเหนือจากการเล่นเกม ลูกของเราจะได้มีอะไรอย่างอื่นทำ ไม่ใช่ว่างๆ พอเบื่อมากๆก็หันไปหาเกมอีก
 
จริงๆที่กล่าวไปเป็นเพียงหลักการคร่าวๆเท่านั้น หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านบทความต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญภายในเว็บไซต์ healthygamer.net ของเราได้ค่ะ หรือไม่ก็สอบถามเพิ่มเติมในจุดที่อยากให้อธิบายเสริม ทางทีมงานยินดีตอบทุกคำถามของคุณแม่ค่ะ
 
สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้ลูกของคุณแม่เติบโตขึ้นเป็นเด็กที่แข็งเเรงทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจ ห่างไกลจากอาการเสพติดเกมนะคะ :)
Healthy Gamer