window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

"โดนซ้ำ ๆ หนูไม่ชอบ” NO BULLY

เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

"โดนซ้ำ ๆ หนูไม่ชอบNO BULLY

บทความนี้เกิดจากผู้เขียน ได้พูดคุยกับเพื่อนที่พบเจอกับนักเรียนที่มีการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน และบังเอิญ Facebook ขึ้นเตือนความทรงจำ จึงเกิดความคิดอยากจะแชร์เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเคยไปฝึกงาน ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งการฝึกงานครั้งนี้ ผู้เขียนและเพื่อนได้คิดกิจกรรมหนึ่งให้เด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ชื่อกิจกรรม "NO BULLY" โดยสาเหตุที่เลือกทำกิจกรรมนี้ เพราะเคสส่วนใหญ่มักแซวเพื่อนโดยไม่รู้ว่าเพื่อนไม่ชอบ หรือการแกล้งโดยการทำร้ายร่างกาย แม้กระทั่งคนที่ถูกแกล้งก็ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองกำลังถูกแกล้งอยู่

กิจกรรมจะเริ่มจากให้เด็ก ๆ รู้ความหมายของคำว่า "การกลั่นแกล้ง (Bully)"  ผู้เขียนและเพื่อนมองว่าการอธิบายความหมาย “Bully” ให้เป็นรูปธรรมและเข้าใจง่ายนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก พวกเราเลยคิดคำบูมให้เด็ก ๆ คือ "โดนซ้ำ ๆ หนูไม่ชอบ” คำบูมนี้เป็นการรวมคำสำคัญของการกลั่นแกล้ง คือ การกลั่นแกล้งจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ มาโดยต่อเนื่องในช่วงเวลายาวนาน มีความรู้สึกไม่ชอบหรือกลัวอยู่ตลอดเวลา และที่ใช้คำว่า “หนู” เพราะการแกล้งกันมันจะมีฝ่ายหนึ่งตัวเล็กลงหรือตัวจะลีบลง

 

หลังจากนั้นก็มอบคาถายันต์กันคนแกล้ง คือ "หน้านิ่ง พูดว่าไม่ หากไม่ไหววิ่งหาครู" หน้านิ่ง หมายถึง หน้าเฉย ๆ อย่าทำหน้าคิ้วขมวดหรือหน้าตากวน ๆ ใส่ เพราะยิ่งทำให้อีกฝ่ายสนุกที่ได้แกล้ง จากนั้นพูดความในใจออกมา บอกเพื่อนว่าไม่ชอบให้แกล้ง เราเสียใจ แต่สุดท้ายหากเพื่อนยังไม่หยุด เราต้องวิ่งหาคนช่วยเหลือ (อย่าเพิ่งตัดสินด้วยกำลัง)

 

ก่อนจบกิจกรรม ผู้เขียนและเพื่อนได้ให้เด็ก ๆ เขียนคำขอโทษลงบนกระดาษ และเขียนข้อดีของเพื่อน ๆ ซึ่งหลังจากจบกิจกรรมทั้งหมด เราไม่ได้คาดหวังว่า กิจกรรมดังกล่าวจะหยุดการแกล้งกันได้ แต่อยากให้เด็ก ๆ เกิดการตระหนักรู้ (self-awareness) ว่าการแกล้งกันไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะเราไม่รู้เลยว่าคำพูดหรือการกระทำของเราจะส่งผลต่อคนถูกกระทำอย่างไรบ้าง

 

การแกล้งกันจะน้อยลง หรือมากขึ้น ไม่ใช่แค่เด็กที่จะต้องดูแลกายและใจของตัวเอง แต่ยังต้องได้รับความร่วมมือจากคุณครูด้วย ก่อนจะปิดท้ายบทความ ผู้เขียนอยากฝากเทคนิค 5 วิธี ในการช่วยป้องกันการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ดังนี้

 

1. รู้จักนโยบายโรงเรียนเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง โดยโรงเรียนควรมีนโยบายหรือข้อปฏิบัติสำหรับครู เมื่อพบการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน และคุณครูควรมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผล

 

2. ปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนด้วยความอบอุ่นและความเคารพ ให้นักเรียนรู้ว่าคุณพร้อมที่จะรับฟังและช่วยเหลือพวกเขา

 

3. จัดกิจกรรมในห้องเรียนเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ครูสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียนโดยใช้สื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ รายการทีวี และภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการสะท้อนคนรังแกและคนถูกรังแก หลังจากนั้นมีการอภิปรายในชั้นเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาในเรื่องการกลั่นแกล้งและความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน การดำเนินกิจกรรมแบบนี้ช่วยให้นักเรียนได้รับความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ส่งเสริมการสนทนาที่เปิดกว้างในห้องเรียน และส่งเสริมการแก้ไขปัญหาและการสนับสนุนระบบความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในชั้นเรียน

 

4. หารือปรึกษากับครูในโรงเรียน พูดคุย ลงมือในการจัดการเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียน โดยเริ่มจากการสำรวจ หรือการตรวจสอบสภาพแวดล้อมโรงเรียน เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้ง หรือ การพูดคุยกับเด็กเรื่องประสบการณ์การกลั่นแกล้ง และความกังวลที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนแต่ละคน

 

5. ดำเนินการทันที การปฏิบัติหรือทำทันที และตรงไปตรงมาเมื่อพบเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้ง หากไม่มีการจัดการทันทีจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น

 

เรียบเรียงโดย โสธิดา ผุฏฐธรรม

 

อ้างอิง

https://www.edutopia.org/blog/bullying-prevention-tips-teachers-parents-anne-obrien

 

Healthy Gamer