window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

หากลูกของคุณเดินมาบอกว่า “หนูถูกแกล้ง”

หากลูกของคุณเดินมาบอกว่า “หนูถูกแกล้ง”
เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

หากลูกของคุณเดินมาบอกว่า “หนูถูกแกล้ง”

 

บทความนี้เป็นภาคต่อจาก “โดนซ้ำๆ หนูไม่ชอบ” NO BULLY ซึ่งจะเอ่ยถึงบทบาทของครอบครัวที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลเมื่อเด็ก ๆ ถูกแกล้ง

 

สิ่งแรกที่ควรทำ คือ พ่อแม่ควรรับฟังอย่างใจเย็น เข้าใจ ให้กำลังใจ และกล่าวชมเชย ลูกว่า “กล้าหาญ” มากที่เดินมาบอกพ่อแม่ ลูกไม่ได้อยู่คนเดียว และเรื่องที่ลูกถูกแกล้ง ไม่ใช่ความผิดของลูกเลย ทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณจะคอยรับฟัง อยู่ข้าง ๆ และช่วยให้ผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน

 

เด็กมักจะลังเลที่จะบอกผู้ใหญ่เกี่ยวกับการถูกกลั่นแกล้งเพราะพวกเขารู้สึกอายและละอายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมไปถึงเกิดความกังวลเกี่ยวกับความรู้สึกของพ่อแม่ว่าจะผิดหวัง ไม่พอใจ   โกรธในตัวเขา รวมไปถึงปฏิกิริยาที่พ่อแม่จะแสดงออกมา

 

สาเหตุที่ลูก ๆ มักจะไม่ยอมเล่าให้ฟัง เมื่อถูกแกล้ง

  • เด็กที่ถูกรังแกจะรู้สึกผิดกับตัวเอง มักจะโทษตัวเองว่าเป็นเพราะเขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเพื่อน หรืออ่อนแอ จึงทำให้ถูกรังแก
  • กลัวว่าถ้าคนแกล้งรู้จะยิ่งแย่ลง
  • เด็กที่ถูกแกล้งกังวลว่าพ่อแม่จะไม่เชื่อพวกเขา หรือเด็ก ๆ กังวลว่า เมื่อพ่อแม่รู้จะกระตุ้นให้พวกเขาต่อสู้กลับทั้งที่ภายในจิตใจของพวกเขายังกลัวอยู่

 

คำแนะนำสำหรับเด็ก

ผู้ปกครองสามารถช่วยให้ลูกของเราเรียนรู้วิธีจัดการกับการถูกแกล้งได้ สำหรับพ่อแม่การบอกลูกให้ต่อสู้กลับอาจเป็นเรื่องยาก บางครั้งเมื่อพ่อแม่พยายามบอกให้ลูก “ยืดหยัดเพื่อตัวเอง” แต่สุดท้ายลูกของเราก็ไม่สามารถทำได้ จนพ่อแม่บางคนโกรธที่ลูกอยู่กับความกลัว และคิดว่าการต่อสู้กลับเป็นวิธีเดียวที่จะเอาคนชนะคนที่แกล้งได้

แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องแนะนำเด็ก ๆ ไม่ให้ตอบสนองต่อการกลั่นแกล้งด้วยการต่อสู้ หรือรังแกกลับ เพราะการต่อสู้หรือรังแกกลับ อาจลุกลามไปสู่ความรุนแรง ปัญหา และมีคนได้รับบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว ทางที่ดีควรเดินหนีจากสถานการณ์นั้น และบอกผู้ใหญ่แทน

 

สำหรับวิธีอื่นที่พ่อแม่อาจจะแนะนำให้ลูกนำไปใช้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดี :


1. เล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง
..

ครู ครูใหญ่ ผู้ปกครอง หรือใครในโรงเรียนที่สามารถช่วยหยุดการกลั่นแกล้งได้

 

2. ระงับความโกรธ

ไม่ได้หมายถึงว่า เด็กที่ถูกแกล้งจะไม่สามารถโกรธได้ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องปกติที่คนถูกแกล้งจะรู้สึกโกรธ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของคน แต่เมื่อไหร่ที่เราโกรธให้คนแกล้งเห็น หรือรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกมีพลังมากขึ้น ลองฝึกการไม่แสดงปฏิกิริยาด้วยการร้องไห้ หน้าแดง หรืออารมณ์เสีย จะเป็นทักษะที่มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้คนแกล้งได้ใจ บางครั้งเด็ก ๆ จะพบว่า การฝึกกลยุทธ์ "cool down" เช่น การนับ 1 ถึง 10 การเขียนคำพูดที่โกรธแค้น หายใจเข้าออกลึก ๆ หรือการเดินจากไป ก็มีประโยชน์ บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดคือ การสอนให้เด็ก ๆ ใจเย็น ๆ จนกว่าพวกเขาจะพ้นจากอันตรายใด ๆ (การยิ้มหรือหัวเราะอาจกระตุ้นให้เกิดการกลั่นแกล้งได้)

 

3. ทำตัวกล้าหาญ เดินหนี และเมินเฉยต่อคนแกล้ง

บอกคนพาลให้หยุดอย่างหนักแน่นแล้วเดินจากไป ฝึกฝนวิธีเมินเฉยต่อคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ เช่น การทำตัวไม่สนใจหรือส่งข้อความหาใครสักคนทางโทรศัพท์มือถือ การเพิกเฉยต่อคนแกล้งแสดงว่าคุณไม่สนใจ แล้วในที่สุดคนแกล้งอาจจะเบื่อกับการพยายามรบกวนคุณ

 

4. เล่าเรื่องให้ใครฟัง

พูดคุยกับคนที่คุณไว้วางใจ เช่น พ่อแม่ ครู พี่น้อง หรือเพื่อน พวกเขาอาจเสนอคำแนะนำที่เป็นประโยชน์บางอย่าง ถึงแม้จะแก้ไขสถานการณ์ไม่ได้ แต่ก็อาจช่วยให้คุณไม่รู้สึกว่าอยู่คนเดียว

 

พ่อแม่ฉีดวัคซีนใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในลูกเรา

การกลั่นแกล้งส่งผลต่อความมั่นใจของเด็ก ดังนั้น พ่อแม่ควรสร้างความมั่นใจให้เขา โดยการส่งเสริมให้ลูกของคุณใช้เวลากับเพื่อนที่มีพลังบวก จะสามารถส่งผลให้เกิดพฤติกรรม ความคิด หรือทัศนคติที่ดีขึ้น การเข้าร่วมชมรม กีฬา หรือกิจกรรมที่สนุกสนานอื่น ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และมิตรภาพ

 

สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อลูกโดนแกล้ง คือ ตั้งใจฟังสถานการณ์ที่ยากลำบาก ให้กำลังใจลูก ชี้ให้เขาเห็นถึง “ความกล้า” ที่เขามาเล่าให้คุณฟัง รวมไปถึงฉีดวัคซีนใจ เพิ่มภูมิคุ้มกันจิตใจให้เขาเสมอ เช่น ชมเชย มองเห็นศักยภาพที่ดีในตัวเขา คุณต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกว่า คุณเชื่อมั่นในตัวลูก และคุณจะทำทุกอย่างเท่าที่คุณทำได้ ที่จะสามารถช่วยให้ลูกผ่านพ้นเหตุการณ์ที่ไม่ดีนี้ไปด้วยกัน

 

เรียบเรียงโดย โสธิดา ผุฏฐธรรม

 

อ้างอิง

Healthy Gamer