window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

เลือกเกมให้ลูกอย่างไรดี

เลือกเกมให้ลูกอย่างไรดี
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

มีผู้ปกครองถามเข้ามาบ่อยๆ ค่ะว่าผู้ปกครองควรมีหลักในการเลือกเกมให้ลูกๆ อย่างไร วันนี้ Healthygamer ได้ลองปรึกษาคุณเอษรา วสุพันรจิต นักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อขอคำแนะนำในการเลือกให้กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เพียงแต่ว่า ถ้าผู้ปกครองอยากให้ลูกๆ เล่นเกมได้อย่างมีสมดุล และเกิดผลดีกับเขามากที่สุด นอกจากจะเลือกตัวเกมแล้ว ผู้ปกครองและเด็กๆ ควรช่วยกันเลือกสิ่งเหล่านี้ด้วยนะคะ

  • เลือกเวลาในการเล่น ที่บ้านควรมีกติกาว่าเด็กๆ ควรได้เล่นเกมในช่วงเวลาไหน เป็นเวลาเท่าไหร่ (ขอแนะนำว่า วันธรรมดาไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง วันหยุดไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมงค่ะ) คุณพ่อคุณแม่อาจใช้คำถามว่า “ลูกจะเล่นเกมช่วงหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม หรือหกโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่มดี” ลองเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมให้กับน้องๆ เป็นตัวเลือกให้เค้าได้มีโอกาสเลือกเอง เพราะการได้มีโอกาสเลือกเอง จะช่วยลดการต่อต้านจากน้องๆ ที่กำลังอยากเล่นเกมนานๆ ได้ดีเชียวล่ะค่ะ
  •  
  • เลือกว่าลูกควรทำอะไรก่อนจะได้เล่นเกม คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้น้องๆ รู้สึกว่า การจะได้เล่นเกม เป็นสิ่งที่เค้าควรทำสิ่งดีๆ เพื่อได้มา ไม่ใช่สิทธิที่พวกเค้าต้องได้อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้น การจะฝึกให้เค้าเล่นเกมได้อย่างมีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบจะเป็นเรื่องยากมากค่ะ คุณอาจมีตัวเลือกให้กับเค้าว่า จะเล่นเกมได้ก็ต่อเมื่อทำการบ้านเสร็จ หรือเล่นได้ก็ต่อเมื่อทำหน้าที่ที่รับผิดชอบในบ้านเสร็จแล้ว และคุณพ่อคุณแม่อาจจะให้ลูกได้เล่นเกมนานขึ้นในวันยุด หรือซื้อเกมใหม่ให้เป็นรางวัลที่ทำตัวน่ารักก็ได้นะคะ แต่แนะนำว่า อย่าทำบ่อย และอย่าเอามาใช้เป็นเครื่องต่อรองค่ะ ให้เป็นเซอร์ไพรส์นานๆ ครั้งโดยที่เด็กๆ ไม่รู้ว่าเค้าจะได้ดีกว่า  ไม่อย่างนั้นแล้วน้องๆ ก็อาจติดนิสัยว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วต้องได้เล่นเกมเพิ่มสิน่า จนกลายเป็นสินบนที่น้องๆ เขาอาจนำมาต่อรองกับเราแทนได้ค่ะ
  •  

เลือกเกมให้เหมาะกับพัฒนาการของลูก จริงๆ แล้วหลักการเลือกเกมง่ายนิดเดียวค่ะ มีสองแนวทาง่ายๆ แนวทางแรกคือให้น้องๆ เป็นคนเลือกเกมเอง ในจุดนี้ ขั้นแรกต้องดูเรตติ้งเกมจากหน้ากล่องค่ะ ว่าเหมาะสำหรับอายุของน้องๆ หรือไม่ (สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรตติ้งเกมได้จากบทความนี้ค่ะ) ต่อมาก็สังเกตหน้าเกมได้เลยค่ะว่าเข้าข่ายมีความรุนแรงหรือไม่ ปกติแล้วถ้าเป็นเกมรุนแรง ผู้ผลิตเกมต้องมีคำเตือนอยู่แล้วค่ะว่าเกมนี้มีความรุนแรงอยู่ในระดับไหน (ใครไม่เตือนไม่ควรสนับสนุนนะคะ) เรื่องเกมรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของที่บ้าน ว่าถ้าอนุญาตให้เล่น ก็ควรพูดคุยทำความเข้าใจและดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าไม่อยากให้เล่นเกมแนวมีความรุนแรงเลย ก็ควรแนะนำเกมอื่นให้น้องแทนค่ะ (ถ้าน้องๆ งอแงอยากเล่นให้ได้ ก็จำเป็นต้องแข็งใจค่ะ โดยต่อรองว่าให้เลือกระหว่างได้เล่นเกมอื่น หรือไม่ได้เล่นเลย)

ส่วนแนวทางที่สอง คุณพ่อคุณแม่อาจอยากเลือกเกมที่ฝึกสมอง ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ขั้นตอนการเลือกก็คล้ายกับข้อแรกค่ะ คือดูจากหน้ากล่องก่อนว่าเหมาะสมกับอายุลูกเรามั้ย ซึ่งทางทีมงานขอแนะนำว่า ถ้าเป็นเด็กเล็กมากๆ ต่ำกว่า 10 ขวบ ควรไปเล่นเกมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์มากกว่าค่ะ เนื่องจากน้องๆ ยังมีความจำเป็นในการได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม จากสิ่งแวดล้อมรอบข้างมากกว่าการสื่อสารกับจอสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียวจนกลายเป็นการปิดกั้นพัฒนาการที่เขาสมควรได้รับไป จากนั้นก็ดูเกมแนวที่เป็น puzzle ทายปริศนา ขอแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง ถ้ามีเกมที่สนใจอยากซื้อให้ลูก อาจลองเซิร์จหาตัวอย่างเกมจาก youtube ดูก่อนก็ได้ค่ะ ด้วยการพิมพ์ชื่อเกมตามด้วย trailer วิธีนี้จะทำให้เราสามารถรู้ได้คร่าวๆ ว่า เกมที่ลูกเล่นนั้นมีเนื้อหาอย่างไร โดยที่ไม่ต้องเข้าไปเล่นด้วยตัวเอง
 
แต่ถึงแม้ว่าเกมหลายๆ เกมจะมีสาระสร้างสรรค์ และช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก คนที่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของเด็กๆ ได้ดีที่สุดก็คือคุณพ่อคุณแม่ค่ะ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกเล็ก การได้พูดคุย สัมผัส ทำกิจกรรมร่วนกันในครอบครัว ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการได้ดียิ่งกว่าเกมไหนๆ แน่นอนค่ะ

 อ้อ และถ้าอยากศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของเกมต่างๆ ให้มากขึ้นไปอีก สามารถดาวน์โหลดคู่มือรู้ทันลูกเล่นเกมได้จากการคลิกตามไปที่ลิงค์เลยค่ะ 

เลือกงานอดิเรกอย่างอื่นให้ลูก (เลือก) เล่นบ้าง เล่นกีฬา เล่นดนตรี อ่านหนังสือ กิจกรรมเพื่อความสนุกมีมากมายค่ะ เพียงแต่เด็กๆ อาจชอบเล่นเกมกันมากเพราะมีความน่าดึงดูดใจมากกว่าสิ่งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เด็กๆ หาความสนุกจากด้านอื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดค่ะ เพราะมันจะความสนุกที่สามารถส่งเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองของน้องๆ ได้ในอนาคต และเป็นสิ่งที่จะผูกพันเค้าอยู่กับสิ่งอื่นๆ รอบตัว ไม่ได้มีแต่โลกดิจิตอลในกรอบสี่เหลี่ยมแค่เอย่างเดียว

ฟังแล้วอาจดูเหนื่อยสักหน่อยนะคะ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่(และน้องๆ ด้วย)สามารถเลือกได้ถูกทาง รับรองค่ะว่าผลที่ตามมาไม่ใช่แค่พวกเค้าจะได้เล่นเกมอย่างมีความสุข แต่ยังหมายความว่า คุณได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกๆ

 ซึ่งก็คือความรัก ความใส่ใจนั่นเองค่ะ

 

Healthy Gamer