window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

เลี้ยงลูกให้ทันไฮสปีด

เลี้ยงลูกให้ทันไฮสปีด
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

เกมคอมพิวเตอร์ แชตออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น  MSN  facebook ล้วนเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่ขนมาเอาใจสาวกไซเบอร์ตั้งแต่ยังเด็กจนติดกันหงอมแงมทั่วเมือง มองให้ดี เราจะพบด้านหนึ่งคือประโยชน์มหาศาล แต่อีกด้านก็คือพิษภัยที่ส่งผลต่อเยาวชนของชาติอย่างร้ายกาจ

 

 

 โลกที่เปลี่ยนไปเป็น “สังคมไฮสปีด” ในปัจจุบันก่อให้เกิดภัยอันตรายใหม่ๆ ที่แอบแฝงมากับสิ่งใกล้ตัวและส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก  อาทิ ลูกจับเจ่าหน้าจอ กินทำลายสมอง แข่งกันเรียน แข่งกันมีของใช้ เข้าสังคมไม่ได้

 การใช้เทคโนโลยีมากเกินไปก่อนวัยอันควรนั้น ทำให้เด็กเกิดปัญหากับการเรียน เขียน อ่าน และการคำนวน 

ทุกวันนี้คุณครูระดับชั้นประถมพบว่า เด็กๆ มักจะมีปัญหาในการอ่าน

 และยังมีข้อบ่งชี้ว่าเด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการมากขึ้น เช่น ปัญหาสมาธิสั้น ปัญหาความบกพร่องด้านการเรียน และออทิสซึ่ม หรือ ใจร้อนหุนหัน และอยู่ไม่นิ่ง จนทำให้เด็กๆ เรียนรู้ทักษะการเขียนอ่านได้ยาก และเด็กที่มีแนวโน้มว่าอ่อนภาษาอยู่แล้วก็จะยิ่งเรียนได้ยากขึ้นไปอีก

 ในขณะที่เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เด็กเคยชินกับการเรียนรู้แบบทันใจ เหมือนเวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เข้าเว็บไซต์หรือกดปุ่มโทรทัศน์ จนทำให้รู้สึกว่าการเรียนเขียนอ่านนั้นเป็นเรื่องน่าเบื่อและเสียเวลา

 เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเองยังเห็นด้วยว่า คนเราจะต้องอ่านและเขียนให้เป็นเสียก่อนที่จะหัดเรียนรู้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะถ้าไม่มีทักษะพื้นฐานทางภาษาแล้ว ก็คงจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ ได้ไม่ดีนัก

ป้องกันไว้ มีชัยไปกว่าครึ่ง

 ซู พาล์มเมอร์ (Sue Plamer) นักการศึกษาชื่อดังจากประเทศอังกฤษได้ค้นคว้าวิจัยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอข้อมูลที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างการใช้สัญชาตญาณของการเป็นพ่อแม่และข้อมูลงานวิจัยถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในโลกยุคไฮสปีด

 โดยกลั่นกรองความรู้ออกมาเป็นหนังสือ Detoxing Childhood หรือที่นำมาแปลในชื่อ ฉลาดเลี้ยงลูก เท่าทันพิษภัยยุคไฮสปีด โดยให้คำแนะนำวิธีรับมือกับอาการเป็นพิษต่างๆ ที่เกิดจากวิถีชีวิตสมัยใหม่นี้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง

 เธอว่า พวกเขาเหล่านั้นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก ด้วยการเปลี่ยนความคิดและวิถีชีวิตของตัวเองเสียก่อน โดยเริ่มจัดความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัวให้เป็น และรู้จักจัดสมดุลในการเลี้ยงลูก

 "มีรายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การเลี้ยงลูกให้มีความสุข และรู้จักยืนหยุ่น ท่ามกลางสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ ต้องรู้จักแยกให้ออก หรือรักษาสมดุลระหว่างความอบอุ่นและความหนักแน่ให้ได้ เช่น ในขณะที่เรารับฟังลูก ใส่ใจความรู้สึกและความเห็นของลูก  เราต้องอธิบายให้ลูกฟังถึงกฎเกณฑ์ข้อกำจัดและกิจวัตรในครอบครัวด้วย เป็นต้น"

 จากนั้นให้ศึกษาวิธีการดูแลพัฒนาการและการศึกษาของลูกวัยแรกเกิดถึง 12ปี เพื่อที่จะศึกษาพื้นฐานการเรียนรู้และเสริมทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ โดยนำความรู้เรื่องพัฒนาการทั้ง 4 ด้านคือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา มาเชื่อมโยงและเกาะเกี่ยวเป็นเรื่องเดียวกันกับกิจวัตรและกิจกรรมของเด็ก

 นอกจากนั้น ยังต้องเสริมสร้างสุขนิสัยการกินและนอนอย่างถูกต้องให้กับเด็กด้วย อย่างรับประทานอาหารร่วมกันและชวนลูกคุย ชักชวนให้ลูกเลิกอาหารที่ไม่มีประโยชน์ด้วยวิธีลูกล่อลูกชน ตั้งกฎกติกา หรือตกแต่งอาหารให้สวย ส่วนการนอน อาจใช้วิธีให้ดาวเมื่อลูกเข้านอนตรงเวลา เสริมบรรยากาศชวนเคลิ้ม หรือ เล่านิทานก่อนนอน

ปราบยักษ์ร้ายในจอ

 และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องรู้เท่าทันข้อดี-ข้อเสียของโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์

 พ่อแม่ควรให้เด็กในวัยต่ำกว่า 3 ปีได้เรียนรู้กับโลกแท้จริงรอบตัวมากกว่าจับให้นั่งหน้าจอสี่เหลี่ยม เพื่อศึกษาโลก 2 มิติ ทั้งยังต้องจัดให้คอมพิวเตอร์และเครื่องเล่นเกมอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัว และควบคุมเวลาเล่นเกมหรือการเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง จนกว่าลูกจะเข้าสู่วัยรุ่นที่ดูแลตัวเองได้

 "กำหนดเวลาให้แน่นอนสำหรับการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กอายุประมาณ 8-9 ปี ให้พวกเขาใช้เวลากับมันมากที่สุดก็คือวันละ 1 ชั่วโมง และหมั่นฝึกหัดให้ลูกรักการอ่านและเขียน เพราะชีวิตจริงสำคัญยิ่งกว่าโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นได้เพียงแค่โลกเสมือนจริงเท่านั้น" อภิญญา พันธ์สุวรรณ ผู้แปลขออธิบายเพิ่มเติม และว่า

  นอกจากคอมพิวเตอร์แล้วยังมีพิษภัยจากอาหารขยะ ความรุนแรงในโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งการศึกษาซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราทั้งสิ้น

 ฉะนั้นพ่อแม่ไม่ควรรั้งรอที่จะ “ล้างพิษ” เพื่อให้ลูกสามารถเติบโตอย่างมีพัฒนาการที่ดี และสามารถเอาตัวรอดในโลกยุคใหม่อย่างรู้เท่าทัน

 เพราะเมื่อพ่อแม่ที่รู้เท่าทันภัยเงียบนี้ เมื่อนั้นพลังของพ่อแม่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

 

Healthy Gamer