window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

WHO ประกาศ “ติดเกม” เป็นปัญหาทางสุขภาพจิต

WHO ประกาศ “ติดเกม” เป็นปัญหาทางสุขภาพจิต
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

 

 

 

 

 

 

ก่อนอื่นคงต้องแยกให้ผู้อ่านทราบว่า “ติดเกม” ที่ว่าไม่ได้หมายถึงคนที่ชอบเล่นเกม (มาก) โดยทั่วไป

และการที่ WHO ประกาศเช่นนี้เพื่อแยกคนที่ “ติดเกม” ออกจากคนที่ชอบเล่นเกม

เพื่อจะได้ดูแลรักษาอย่างเหมาะสมไม่ให้อาการ “ติด” นี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของใครคนนั้น

(รวมถึงคนที่อยู่รอบตัวคนนั้น)

จนเกินกว่าจะเยียวยาได้ทัน

 

WHO ได้ให้เกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับอาการติดเกมไว้ 3 ข้อ ได้แก่

  1. ไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมของตนเองได้
  2. ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเหนือสิ่งอื่นใดโดยละเลยสิ่งที่จำเป็นในชีวิตหรือกิจวัตรประจำวัน
  3. ยังคงเล่นเกมอย่างต่อเนื่องแม้จะมีเหตุหรือผลกระทบทางลบเกิดขึ้นจากการเล่นเกมนั้น

อธิบายได้โดยง่าย ว่ากลุ่มคนที่มีปัญหาติดเกมจนกลายเป็นโรค คือ กลุ่มคนที่เล่นเกมจนไม่สามารถแยกตนเองออกจากการเล่นเกมได้ แม้จะเกิดผลเสียกับชีวิตแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียด้านความสัมพันธ์ ครอบครัว หน้าที่การงาน การเรียน หรือความรับผิดชอบอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบ (pattern) การติดเกมจนเกิดผลเสียนี้มักจะเกิดติดต่อกันมาอย่างน้อย 12 เดือน

แม้เกณฑ์การวินิจฉัยเช่นนี้จะยังดูเป็นเกณฑ์ที่กว้างอยู่ แต่นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดของวงการแพทย์ในการศึกษาปัญหาติดเกม เพื่อจะได้ช่วยดูแลรักษาคนที่ประสบปัญหาจากการเล่นเกมได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น และเป็นฐานสำหรับการวิจัย เพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหานี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากท่านเป็นเพียงคนหนึ่งที่ชื่นชอบการเล่นเกม คงจะไม่เป็นปัญหาอะไร หากท่านยังสามารถดูแลและควบคุมให้ตัวเองรับผิดชอบกิจวัตรประจำวันหรือสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตของท่านได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านเริ่มรู้สึกได้ว่าการเล่นเกมเริ่มคุกคามชีวิตประจำวันหรือความสัมพันธ์ของท่านกับคนอื่น ๆ และท่านไม่สามารถหยุดหรือพักการเล่นเกมได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าท่านกำลังประสบปัญหา “ติดเกม” อยู่

 

และถึงแม้จะจั่วหัวไว้ว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต

แต่ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยที่เราจะกล้ายอมรับว่าเรามีอะไรบางอย่างติดอยู่ในใจ

การเดินเข้ามาหาผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ท่านได้รู้วิธีจัดการกับปัญหาในอีกรูปแบบ

เหมือนมีกระจกที่ช่วยสะท้อนภาพให้เรามองเห็นตัวเองชัดมากขึ้น

ก็เท่านั้นเอง

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: CNNICD-11

ผู้เขียน: ครูเอ

Healthy Gamer