นักวิชาการ ห่วงเกมร้าย-ละครแรง ส่งผล 7 ปรากฏการณ์ เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม ชี้เป็นสิ่งที่เด็กหาดูได้ง่าย อาจจะเกิดการจดจำจนสะสม และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาโดยไม่รู้ตัว
วันนี้ (6 พฤศจิกายน) นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ได้แสดงความเป็นห่วงถึงพฤติกรรมของเด็ก ในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ทั้งเกม และละคร ว่า จากภาพข่าวสะเทือนขวัญที่ปรากฏในสังคม เป็นการสะท้อนพฤติกรรมรุนแรงของละคร เกม และรายการโชว์ในฟรีทีวีได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สื่อที่นำเสนอละครแรง ๆ หรือเกมดุเดือดดังกล่าว เมื่อเด็กรับสารบ่อย ๆ สมองก็จะเกิดการจดจำ โดยงานวิจัยทางวิชาการสามารถอธิบายพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นหลังจากเสพสื่อดังกล่าว ออกเป็น 7 ปรากฏการณ์ ได้ดังนี้
1. ปรากฏการณ์กระจกเงา คือ การเรียนรู้ของสมองจะจำลองภาพขึ้นมา เพื่อการจดจำที่แม่นยำขึ้น แต่ในขณะเดียวกันหากภาพที่สร้างขึ้นมานั้น สมจริงและถูกปลูกฝังบ่อย ๆ ก็จะแยกแยะออกจากโลกแห่งความเป็นจริงได้ยาก โดยเฉพาะในเด็ก
2. ปรากฏการณ์จิตวิทยาหมู่ คือ เมื่อใดที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมีผู้นำหรือผู้ชักนำกลุ่ม จะทำให้คนในกลุ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้นำ โดยผู้นำจะมีอำนาจชักจูงในบุคคลในกลุ่มปฏิบัติตาม ดังนั้น ในการดูละครหรือโฆษณาจำเป็นต้องมีภาพที่ดีออกมาบ้าง เพื่อเป็นการนำกระแสสังคม เพราะข้อดีของจิตวิทยาหมู่ คือ ถ้ามีผู้นำที่ดีก็จะสร้างให้เป็นพลังช่วยเหลือสังคมที่สำคัญได้
3. ปรากฏการณ์ติดสังคมออนไลน์ไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง สิ่งนี้คือปัญหาที่ทำให้คนยุคใหม่ด้อยมนุษย์สัมพันธ์ไปส่วนหนึ่ง เพราะทำให้การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง กับคนอื่นน้อยลง โดยมีการศึกษาจากประเทศไต้หวันในปี 2009 พบว่า คนที่หมกมุ่นกับคอมพิวเตอร์มากจนเกินไปจะทำให้มีปัญหาเรื่องการคบคน หรือมีนิสัยก้าวร้าวได้
4. ไม่ค่อยอ่านหนังสือ การอ่านช่วยแก้ปัญหาความก้าวร้าวและติดจอได้มาก เพราะการอ่านทำให้สมองได้คิด ฝึกจิตให้ใช้จินตนาการในการสร้างภาพ ส่งเสริมทั้งปัญญาและสมาธิ
5. บ้านไม่อบอุ่น ซึ่งข้อนี้อยากเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลกันอย่างใกล้ชิด ถึงแม้บางครอบครัวจะไม่อบอุ่น แต่หากได้เพื่อนดี เลี้ยงลูกดี ปัญหานี้ก็จะไม่เกิด ส่วนบางบ้านถึงอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่หากใช้โทรทัศน์เลี้ยงลูก หรือปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์โดยไม่ได้รับคำแนะนำ ก็จะส่งผลให้เด็กเลียนแบบได้
6. สนใจแต่วัตถุภายนอก บางครอบครัวตอบสนองความต้องการของลูก ด้วยการหาวัตถุมาให้ และบางครอบครัวก็ส่งลูกไปเรียนพิเศษ จนมีเวลาอยู่ที่บ้านน้อยมาก ในกรณีนี้ จะส่งผลให้เด็กมีไอคิวสูง แต่มีอีคิวต่ำ ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง และพวกเขาจะมองเงินทองเป็นสิ่งของไร้ค่า ไร้ความหมาย เพราะเขาได้สิ่งต่าง ๆ ที่เขาอยากได้มาโดยง่าย
7. บอกรักออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ, แชท, เฟซบุ๊ก จนลืมมานั่งดูหน้าจ้องตากันด้วยความรัก เพราะถึงจะได้ใกล้ชิดกันในโลกออนไลน์ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นกลับห่างเหินกัน ทั้งนี้ ควรจะแบ่งเวลาบ้าง เพื่อให้ชีวิตได้มี "นาทีทอง" ร่วมกัน
ท้ายนี้ นพ.กฤษดา กล่าวว่า ทั้ง 7 ข้อข้างต้น เป็นปรากฏการณ์ของสังคม ที่เข้ามากระทบกับชีวิตของเราอย่างมาก และปัญหาเด็กผูกคอตายเลียนแบบละคร หรืออาจจะเกิดเหตุฆาตกรรมโหดจากการเล่นเกมโดยขาดความยับยั้งชั่งใจนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวเลย เพราะความก้าวร้าว และรุนแรง ในสังคม สะท้อนออกมาจากสื่อที่เด็ก ๆ สามารถหาดูได้ง่าย และเด็กก็จะจำจนเกิดการสะสมและแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวออกมาอย่างไม่รู้ตัว
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม