window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ลูกแอบเติมเกมทำอย่างไร?: ทำความรู้จักและจัดการกับ IN-APP PURCHASES

ลูกแอบเติมเกมทำอย่างไร?: ทำความรู้จักและจัดการกับ IN-APP PURCHASES
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ลูกแอบเติมเกมทำอย่างไร? ทำความรู้จักและจัดการกับ In-app purchases

 

ข่าวคราวการสูญเสียเงินของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกแอบเติมเกม หรือซื้อไอเทมในเกมอย่างไม่ทันระวัง มีออกมาให้เห็นเป็นระยะ ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านอาจมีความกังวลใจ กลัวว่าเหตุการณ์ดังเช่นในข่าวอาจจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของตนเองได้ วันนี้แอดมินชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ In-app purchases

 

In-app purchases คืออะไร?

เกมหรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือหลาย ๆ ตัว สามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้ฟรี แต่จากนั้นระบบเกมจะเสนอให้ผู้เล่นทำการ “ซื้อ” หรือ In-app purchases เพื่อที่จะได้รับไอเทม หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ ภายในเกม เพื่อยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้พิเศษยิ่งขึ้น ผู้เล่นจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ หรือเงินในเกม (ซึ่งต้องเล่นเกมเป็นจำนวนมากถึงจะมีเงินในเกมพอที่จะซื้อ) ในการซื้อไอเทม หรือฟีเจอร์บางอย่างในเกม


In-app purchases จะมีอยู่ 3 ลักษณะหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

  • Subscriptions เป็นการซื้อเนื้อหา หรือปลดล็อคฟีเจอร์ต่าง ๆ ภายในแอปพลิเคชัน ซึ่งผู้ใช้จะต้องเสียค่าบริการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี โดยจะมีการเรียกเก็บค่าบริการเมื่อครบกำหนดในแต่ละช่วงเวลาที่ได้สมัครไว้ บางแอปพลิเคชันก็จะมีช่วงระยะเวลาทดลองใช้ ซึ่งหากไม่กดยกเลิก ก็จะถูกเรียกเก็บค่าบริการโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่แล้วระบบ Subscription จะอยู่ในแอปพลิเคชันสำหรับฟังเพลง ดูหนังหรือซีรี่ย์
  • Non-consumable purchase เป็นการซื้อเพียงครั้งเดียว โดยอาจจะเป็นการทำให้ไม่มีโฆษณาระหว่างเล่น หรือได้รับฟีเจอร์พิเศษ หรือปลดล็อคเนื้อหาเกมที่ซ่อนอยู่
  • Consumable purchase คือการที่ผู้เล่นซื้อสินค้าดิจิทัล เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออาวุธ สำหรับตัวละครหรือฮีโร่ภายในเกม หรือเป็นการใช้เงินจริง ๆ เพื่อแลกเป็นสกุลเงินภายในเกม เพื่อนำไปซื้อของในเกมอีกที

 

พ่อแม่ผู้ปกครองจะจำกัด In-app purchases ของบุตรหลานได้อย่างไร?

Parental control หรือระบบการควบคุมโดยผู้ปกครอง มีความแตกต่างหลากหลายในแต่ละอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน หรือเกม แต่จุดสำคัญที่ทุกคนควรรู้คือ

  • Enable device-based parental controls คือ การตั้งค่าอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ให้อยู่ในโหมดการควบคุมโดยผู้ปกครอง ซึ่งเป็นโหมดที่มีติดมากับอุปกรณ์อยู่แล้ว โดยโหมดนี้จะช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองในการจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในอุปกรณ์นั้นของบุตรหลาน รวมทั้ง In-app purchases ด้วย
  • ศึกษาการตั้งค่าอุปกรณ์ Android เป็นโหมด parental control ได้ที่ https://support.google.com/googleplay/answer/1075738?hl=th#zippy=
  • ศึกษาการตั้งค่าอุปกรณ์ iOS เป็นโหมด parental control ได้ที่
    https://support.apple.com/th-th/HT201304
  • Enable in-app parental controls ในบางเกมหรือบางแอปพลิเคชันจะมีโหมด parental control ที่เฉพาะเจาะจงของตนเอง ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถตั้งค่าความต้องการ ครอบคลุมถึงความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการซื้อ ในแต่ละแอปได้เลย
  • ต้องรักษารหัสผ่านไว้ให้ดี เพราะโหมดการควบคุมโดยผู้ปกครองนั้น จะได้ผลก็ต่อเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองใช้รหัสในการตั้งค่าการควบคุมต่าง ๆ เป็นรหัสที่บุตรหลานของท่านไม่รู้และเดาไม่ถูก
  • ตั้งลิมิตในการใช้จ่าย โดยบางแอปพลิเคชันจะสามารถตั้งลิมิตได้ว่าจะอนุญาตให้ซื้อ หรือจำกัดจำนวนการซื้อในเกม หรือ in-app purchase ได้เท่าไหร่ บางกรณีพ่อแม่ผู้ปกครองอาจอนุญาตให้บุตรหลานซื้อของในเกมได้บ้าง โดยควรมีการตั้งข้อตกลงร่วมกันก่อนระหว่างท่านกับบุตรหลาน และเมื่อบุตรหลานทำตามข้อตกลงได้ จึงอนุญาตให้ซื้อของในเกมได้บ้างเป็นรางวัล

 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีข้อแนะนำเรื่อง in-app purchases ซึ่งสามารถอ่านได้ที่ https://www.etda.or.th/th/Our-Service/ThaiCERT/Incident-Coordination/Information/Published-documents/General/papers-general/%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%8B%E0%B8%AD-In-app-purchase-%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%A1.aspx

 

ถ้าลูกกดซื้อหรือเติมเกมไปแล้วละจะทำอย่างไร?

หากเป็นการซื้อใน App store หรือ Play store สามารถทำเรื่องขอรับเงินคืนได้

เงื่อนไขของ App store https://support.apple.com/th-th/HT204084

เงื่อนไขของ Play store https://support.google.com/googleplay/answer/2479637

ทั้งนี้ หากการขอคืนเงินไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถติดต่อโดยตรงกับบริษัทเกม หรือบริษัทที่นำเข้าเกมนั้น ๆ เพื่อขอให้พิจารณาคืนเงินได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้คืน ดังนั้น จึงควรป้องกันไว้ก่อนที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาภายหลัง

 

ทำไมคนถึงซื้อ in-app purchases?

การเข้าใจเหตุผลว่าทำไมผู้คนถึงซื้อ in-app purchases อาจช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองพูดคุย และสร้างข้อตกลงกับบุตรหลานของท่านในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเหตุผลที่ทำให้เกิดการซื้อ ได้แก่

  • แรงกดดันจากสังคม (social pressure) ในสังคมเกมที่มีการแข่งขัน การซื้อของในเกมทำให้ผู้เล่นได้เปรียบผู้เล่นคนอื่น ๆ เด็ก ๆ อาจจะรู้สึกกดดันที่จะต้องตามเพื่อนให้ทัน และอยากจะอยู่ในระดับ หรือเลเวลเดียวกันกับเพื่อน เพื่อที่จะได้เล่นกับเพื่อน
  • ความคับข้องใจ อึดอัดใจ หรือความผิดหวัง ในการที่ไม่สามารถต่อสู้หรือชนะในเกมได้ ทำให้เกิดความต้องการอยากซื้อไอเทมบางอย่าง เพื่อที่จะได้สามารถเอาชนะในเกมได้
  • ในบางเกม การซื้อก็ให้ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกับความตื่นเต้นในการ “พนัน” โดยการซื้อ Loot boxes กล่องกาชา หรือกล่องสุ่มในเกมนั้น ไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้ของที่ผู้เล่นต้องการ แต่เป็นประสบการณ์ที่ผู้เล่นจะได้ลุ้นและตื่นเต้นว่าจะได้รับของที่ต้องการหรือไม่ ดังนั้น จึงควรเตือนบุตรหลานของท่านว่ากล่องสุ่มเหล่านี้ ถูกออกแบบมาให้เรารู้สึกตื่นเต้นและเราอาจจะเสียเงินสุ่มของไปเรื่อย ๆ โดยที่เราอาจจะไม่ได้ของนั้นก็ได้

 

เด็ก ๆ อาจไม่ทันรู้ตัวว่ากำลังใช้เงินจริง ๆ อยู่ และไม่ได้ตระหนักว่าการกดปุ่มในเกมแต่ละครั้งเป็นการสูญเสียเงินจริง ๆ ไปทีละนิดอย่างรวดเร็ว การพูดคุยกับบุตรหลานถึงลักษณะของเกม การซื้อ หรือ in-app purchases จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจผลลัพธ์ที่ตามมา และเข้าใจเหตุผลที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องตั้งค่า parental control หรือโหมดการควบคุมโดยผู้ปกครองมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทุกท่านอย่าลืมพูดคุยสร้างความรู้เท่าทันให้เด็ก ๆ และสร้างข้อตกลงในการเล่นเกมอย่างเหมาะสมกันนะคะ


เขียนและเรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

รายการอ้างอิง

https://responsiblegambling.vic.gov.au/documents/976/VRGF_SchoolEdProgram_Factsheet_In-app_A4.pdf


ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com

 

 

Healthy Gamer