window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

สื่อสังคมออนไลน์กับสมองของเด็ก

สื่อสังคมออนไลน์กับสมองของเด็ก

ไม่นานมานี้ แอดมินมีโอกาสได้อ่านบทความเรื่อง “ผู้เชี่ยวชาญเริ่มกังวล คลิปสั้นๆ ในโซเชียล มีลักษณะน่าเสพติดจนสร้าง ‘TikTok Brain’ ที่ทำให้เด็กๆ สมาธิสั้น และมีปัญหาการจดจำ” จากความคิดเห็นของผู้คนในบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่า ขนาดผู้ใหญ่ยังรู้สึกว่า สื่อสมัยนี้มีผลกระทบกับตนเอง เช่น ปัญหาสมาธิสั้น การควบคุมตนเอง และพฤติกรรมเสพติด แอดมินจึงอยากมาชวนคุยกันต่อว่า ทำไมนักวิชาการ หมอ หรือคนในวงการจิตวิทยาเด็ก ถึงกังวลเรื่องการใช้สื่อของเด็ก ๆ มากนัก


ความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสพติดของเด็ก ๆ ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ปัญหาติดเกมที่มีมานาน แต่ยังมีปัญหาการติดสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่มากมาย แอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากอันหนึ่งก็คือ TikTok ซึ่งนิยมถึงขนาดที่ว่า Facebook เตรียมปรับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหา เพื่อแข่งขันกับ TikTok


การที่บริษัท หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้ ปรับตัวเพื่อแข่งขันกันในโลกของธุรกิจ ทำให้ดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ จะยิ่งมีความน่าดึงดูด หรือน่าเสพติดมากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งดึงดูดให้ผู้คนเสพสื่อ หรือใช้เวลาในแพลตฟอร์มนั้น ๆ ได้นานเท่าไหร่ ย่อมหมายถึงตัวเลขการเติบโตของบริษัท


ถือเป็นความท้าทายของผู้คนที่จะบาลานซ์ หรือสร้างสมดุลในการใช้สื่อของตนเอง ไม่ให้ใช้มากเกินไป หรือเสพติดจนกระทั่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ขนาดผู้ใหญ่ยังติดได้ แล้วเด็กละ?

 

การพัฒนาสมองในเด็ก

สมองของเด็กมีการพัฒนาตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ในวัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาของสมอง โดยสมองส่วนหน้า หรือสมองส่วนฟรอนทัล (Frontal Lobe) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรู้คิด (cognitive functions) ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิเคราะห์ การวางแผน การหาเหตุผล การยับยั้งชั่งใจ การยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา สมาธิจดจ่อ และทักษะ EF (Executive Functions) จะพัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงอายุ 3-6 ปี กล่าวได้ว่าช่วงนี้เป็นเวลาทองของชีวิตในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก หากพ้นจากช่วงเวลานี้ไปถึงวัยเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แม้จะยังพัฒนาได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงปฐมวัย



ทักษะ EF คืออะไร สำคัญอย่างไร

ทักษะ EF หรือ Executive Functions เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ แบ่งออกเป็นทักษะพื้นฐาน 3 ด้าน และทักษะสูง 6 ด้าน


ทักษะพื้นฐาน
3 ด้าน ประกอบด้วย

  1. ความจำเพื่อใช้งาน คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลเอาไว้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะจดจำเป็นความจำระยะยาว หรือเลือกที่จะลบทิ้งไป และดึงข้อมูลที่จำไว้ออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ
  2. ความยับยั้งชั่งใจ คือ ความสามารถในการยับยั้งความคิด หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นกลไกในการควบคุมตัวเองไม่ให้ทำตามความต้องการของตนโดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูดได้
  3. ความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนการตอบสนอง หรือแก้ไขปัญหาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป รู้จักพลิกแพลงและปรับตัวได้

ทักษะสูง 6 ด้าน ประกอบด้วย

  1. การใส่ใจจดจ่อ คือ ความสามารถในการจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง โดยไม่วอกแวก
  2. การควบคุมอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธหรือหงุดหงิดง่ายเกินไป
  3. การประเมินตนเอง คือ การประเมินตนเองเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้น
  4. การริเริ่มและลงมือทำ คือ ความสามารถในการกล้าคิดกล้าทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
  5. การวางแผนและการจัดการระบบดำเนินการ คือ ทักษะการทำงานตั้งแต่ตั้งเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล
  6. การมุ่งเป้าหมาย คือ การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียร และความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค เมื่อล้มก็รู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปสู่เป้าหมาย

 

ในทางการแพทย์ระบุว่า เด็กที่เติบโตโดยได้รับการพัฒนาสมองส่วนหน้า หรืออีเอฟ ที่ทำหน้าที่การควบคุมตัวเอง ยับยั้งชั่งใจ จะเป็นเกราะป้องกันภัยทำให้เด็กคนนั้นเติบโตไปโดยมีภูมิคุ้มกันของจิตใจต่อการลองสิ่งที่ไม่ดี ทำให้ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ยาเสพติด เพศสัมพันธ์ เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กที่ได้รับการพัฒนาอีเอฟเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะมีแนวโน้มจะประสบผลสำเร็จทางด้านฐานะการเงิน เพราะมีความสามารถในการจัดระเบียบแบบแผนในชีวิต การวางแผนล่วงหน้า คิดแก้ไขปัญหา และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

 

สื่อที่เด็กได้รับมีผลต่อการพัฒนาสมอง

สมองจะพัฒนาเต็มที่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พร้อมกับความมีวุฒิภาวะ เข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของเด็กว่าจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน การที่มนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตจากเด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะส่วนหนึ่งดูจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมอง และทักษะ EF ซึ่งเมื่อมาพิจารณาความกังวลของผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านดังบทความข้างต้น

เจมส์ วิลเลียมส์ นักวิชาการด้านปรัชญาและจริยศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ออกซฟอร์ด บอกกับ Wall Street Journal โดยเปรียบเทียบว่า ตอนนี้โซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเหมือนกับโรงงานผลิตลูกกวาดขนาดใหญ่ ที่ผลิตลูกกวาดต่างๆ ออกมาให้กับเด็กๆ กินทุกวัน (เขาเปรียบเทียบคลิปสั้นๆ ว่าเป็นลูกกวาด)

ปัญหาที่จะตามมาก็คือ เมื่อกินลูกกวาดนี้เข้าไปเรื่อยๆ จนเคยชิน พวกเขาจะคุ้นเคยกับการได้รับสารโดปามีน (สารที่ก่อให้เกิดความสุข) อย่างรวดเร็ว และด้วยความที่มันเป็นคลิปสั้นๆ เด็กๆ ก็จะต้องการเสพลูกกวาดเหล่านี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และกว่าที่ผู้ใหญ่จะขอร้องให้เด็กๆ ไปเสพอย่างอื่นแทนบ้าง มันก็อาจจะสายไปแล้ว

ด้าน มิเชล มานอส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ของเด็ก อธิบายว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่สมองของเด็กๆ เริ่มคุ้นชินกับคลิปที่มาไวไปไวมากๆ แล้ว สมองก็จะเกิดอุปสรรคที่จะเรียนรู้โลกแห่งความเป็นจริงที่สิ่งต่างๆ ไม่ได้เคลื่อนผ่านเร็วเหมือนอย่างกับในโลกดิจิทัล

ขณะที่ เจสสิกา กริฟฟิน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ จาก University of Massachusetts Medical School ให้ความเห็นว่า ถ้าเราเสพติดคลิปสั้นๆ อย่างต่อเนื่องจนหยุดดูไม่ได้ มันก็อาจจะส่งผลต่อปัญหาในด้านการจดจ่อ การมีสมาธิ และการจัดเก็บความทรงจำระยะสั้น (short-tern memory) ได้


เมื่อพิจารณาแล้ว ดูเหมือนสื่อสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ หรือเกม ส่วนใหญ่จะเน้นความเร้าอารมณ์ ซึ่งน่าจะไม่ได้ช่วยในเรื่องของการพัฒนาทักษะ EF แต่สื่อจะเน้นการตอบสนองต่อความต้องการของคนเรา ให้มีความสุขอยู่เรื่อย ๆ จึงอาจเป็นการยากที่เด็กจะสามารถพัฒนาทักษะ EF ได้ ด้วยการมีสิ่งเร้าที่คอยกระตุ้นเร้าพวกเขาอยู่ตลอดเวลา หากพิจารณาเช่นนี้แล้ว สื่อที่มีลักษณะน่าเสพติด นอกจากจะทำให้สมาธิสั้น และมีปัญหาการจดจำแล้ว อาจนำไปสู่ปัญหาการควบคุมตนเอง และพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวัยผู้ใหญ่ก็ได้ ซึ่งหากคิดแบบมองโลกในแง่ร้าย มันก็อาจหมายถึง สังคมที่มีแต่ผู้คนใจร้อน ควบคุมตนเองไม่ได้ ไม่พอใจก็แก้ปัญหาด้วยอารมณ์ ก่อเกิดปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคมตามมา

ประเด็นปัญหานี้ ยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติม แต่ระดับของปัญหาก็ไม่ควรที่จะปล่อยปะละเลยไป

ในวัยรุ่น แม้ตลอดวัยเด็กที่ผ่านมาเขาจะไม่เคยมีมือถือ หรือ คอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองมาก่อน แต่เมื่อเขาได้เป็นเจ้าของ วัยรุ่นสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง หากเราไม่ได้มอบเวลาหน้าจอมากมายให้กับวัยรุ่นในวัยเด็กของเขา ก็ไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นคนนี้จะมีทักษะทางเทคโนโลยีที่ต่ำกว่าเพื่อนวัยรุ่นที่ได้รับโอกาสสัมผัสหน้าจอมากกว่าเขา วัยรุ่นเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่นานก็จะตามเพื่อนของเขาทันอย่างง่ายดาย แต่ความสามารถในการควบคุมตัวเองหรือการยับยั้งชั่งใจ การเรียงลำดับความสำคัญ​และความคิดยืดหยุ่น ซึ่งเป็นแกนหลักของ EF ไม่สามารถพัฒนามาได้อย่างรวดเร็ว ต้องพัฒนาตั้งแต่วัยเยาว์


ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องรีบให้เด็กดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพราะกลัวว่าเด็กจะตามไม่ทันเทคโนโลยี ในสถานการณ์ที่สื่อเทคโนโลยีอาจมีผลกระทบต่อสมองของเด็ก การให้เด็กทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช้สื่อเทคโนโลยีก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

โดยงานที่พัฒนาสมองเด็กได้ดี คือ

การเล่น เล่นกับธรรมชาติ เช่น เล่นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ ตักเทตวง การเล่นของเล่นที่ไม่สำเร็จรูป ปราศจากการจำกัดความคิด (Free form toys) เช่น ต่อบล็อกไม้ ปั้นดิน วาดรูป ก่อปราสาททราย และเล่นกับคน เพื่อพัฒนาการสื่อสารสองทาง การต่อรอง การแก้ปัญหา และอื่นๆ

การทำงานบ้าน เด็กได้ฝึกเรียงลำดับความสำคัญ และการยับยั้งชั่งใจจากการต้องทำงานบ้านก่อนไปเล่น

การอ่านหนังสือ หนังสือ คือ โลกจำลองที่เด็กได้เข้าไปเรียนรู้ และพัฒนาทักษะต่างๆ มากมายที่จำเป็นสำหรับชีวิตจริง

สื่อเทคโนโลยีก็มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี พ่อแม่ผู้ปกครองควรเลือกสื่อที่เหมาะสมกับช่วงวัยของบุตรหลาน และมีข้อตกลงในการจำกัดระยะเวลาการใช้งานอย่างเหมาะสมด้วยนะคะ

เขียนและเรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer