window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค | อริยสัจ 4 กับเด็กติดเกม

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค | อริยสัจ 4 กับเด็กติดเกม
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค | อริยสัจ 4 กับเด็กติดเกม

 

อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อเข้าถึงความเป็นจริงของปรากฎการณ์ต่าง ๆ และมีประโยชน์ต่อการดับทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต

 

อริยสัจ 4 ประกอบด้วย

  1. ทุกข์ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
  2. สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะความทุกข์ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุเกิดจากอะไรบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีสาเหตุ
  3. นิโรธ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความดับทุกข์
  4. มรรค คือ ความจริงที่ว่าด้วยทางแห่งความดับทุกข์

 

บทความนี้ ขอชวนทุกคนมาลองใช้หลักอริยสัจ 4 ในการพิจารณาปัญหาการติดเกม

 

อริยสัจ 4 กับเด็กติดเกม

 

ทุกข์ = ติดเกม

หากจะพิจารณาว่า “ทุกข์” คืออะไร อาจตั้งคำถามว่า “ปัญหาตอนนี้คืออะไร”

 

การเล่นเกมนั้น สำหรับบางคนอาจรู้สึกว่าไม่เห็นจะเป็นปัญหาเลย แต่ถ้าถามความรู้สึกคนรอบข้าง ก็อาจจะมองว่าเป็นปัญหาได้

ก่อนอื่น ขอชวนทุกคนมาแยกก่อนว่า “การเล่นเกม” ¹ “ติดเกม”

เกม หมายถึง กิจกรรมการละเล่นหลากหลายรูปแบบ เราสามารถเล่นเกมเพื่อความบันเทิง ความสนุกสนาน และสามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้ตามแต่ละประเภทของเกม หลาย ๆ ครั้ง ครูผู้สอนก็ใช้เกมมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน

เกมที่เราพูดถึงกันในแง่ของ “ติดเกม” หมายถึง วิดีโอเกมที่สามารถเล่นผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมเกม ทำให้ลักษณะของเกมมีความสนุกสนาน น่าดึงดูด และมีจิตวิทยาที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนเราได้ ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุก และได้รับการตอบสนองความต้องการทางจิตใจบางอย่าง ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งใช้เวลากับเกมมาก และอาจจะใช้เวลาอยู่กับการเล่นเกมจนเวลาล่วงเลยไปอย่างไม่ทันรู้ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตได้ในหลายมิติ ก่อให้เกิดปัญหา และ “ทุกข์”

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กและวัยรุ่นอาจมีปัญหาติดเกม ได้แก่

  1. หมกมุ่นกับการเล่นเกมมาก เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับเกม ไม่สนใจ หรือเลิกทำกิจกรรมที่เคยชอบ
  2. ควบคุมตัวเองให้เล่นในเวลาที่กำหนดไม่ได้ ใช้เวลาในการเล่นเกมนานติดต่อกันหลาย ๆ ชั่วโมง หรือเล่นนานขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงต่อวัน
  3. ถ้าถูกบังคับให้เลิกเล่น จะต่อต้าน หงุดหงิด ไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าวเวลาไม่ได้เล่นเกม
  4. เล่นเกมจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น อดนอน รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ
  5. ละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือกิจวัตรประจำวัน เช่น ไม่สนใจการเรียน หนีเรียน หรือแอบหนีออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม การเรียนตก ไม่เข้าสังคม เสียสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ฯลฯ
  6. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ดื้อ ต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว พูดจาหยาบคาย โกหก ลักขโมย (เพื่อนำเงินไปเล่นเกม) ฯลฯ

 

 

สมุทัย = สาเหตุของการติดเกม

หากจะพิจารณาว่า “สมุทัย” คืออะไร อาจตั้งคำถามว่า “สาเหตุของปัญหาคืออะไร”

 

สาเหตุของการติดเกมนั้น เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งปัจจัยด้านชีวภาพ จิตใจ และสังคม (biopsychosocial factors)

ปัจจัยด้านชีวภาพ (biological factors)

พันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของสารเคมีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง เกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ และการจัดการรางวัล (reward processing) คนที่สมองส่วนจัดการรางวัลมีความผิดปกติ จะไม่มีความสุขจากการทำกิจกรรมทั่ว ๆ ไป จึงหันไปพึ่งความสุขจากเกมแทน

มีการศึกษาวิจัยสมองของคนที่เสพติดเกม พบว่ามีวงจรการทำงานของสมองที่ผิดปกติเหมือนคนที่ติดสารเสพติด ทั้งความผิดปกติทางด้านโครงสร้าง การทำงาน และสารสื่อประสาท

แต่ละคนมีความเปราะบางต่อการติดเกมไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เล่นเกมจะต้องเสพติดเกมเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพียงแต่การที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ โรคทางจิตเวชที่พบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD) โรคดื้อต่อต้าน/เกเร (ODD/conduct disorder) โรคซึมเศร้า (Depression) โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)

ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม (psychosocial factors) ตัวอย่างเช่น

- เกมในปัจจุบันมักถูกสร้างขึ้นมาให้มีคุณลักษณะที่จะติดได้ง่าย เช่น เกมที่ต้องมีการใช้เงินซื้อของ ซื้อไอเทมต่าง ๆ เพื่อเลื่อนระดับของการเล่นเกม หรือบางคนเวลาเล่นเกมเก่งจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้นำ มีคนมานับถือ สามารถช่วยเหลือผู้อื่นในเกมได้ ทำให้เกิดความภูมิใจแบบไม่เหมาะสม โดยขาดความภูมิใจในชีวิตจริง เช่น บางคนอาจจะเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าสื่อสารกับคนอื่น แต่สามารถสื่อสารผ่านเกมได้ดีกว่า จึงทำให้หันไปใช้สื่อพวกนี้มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกของความจริง

- มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากคนอื่น การเล่นเกมชนะ ได้อันดับดี มีชื่อเสียงในโลกของเกม ได้แรงเสริมทางบวกจากการเล่นเกม เช่น ได้รับคำชม จะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ

- การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (Poor disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ดี เมื่อเริ่มเล่นเกมแล้วจะติดพัน เล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่รู้หน้าที่ เช่น การเรียน กิจวัตรประจำวัน โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้สอนตักเตือน หรือแค่พูดห้ามไม่ให้เล่น แต่ไม่ได้ลงมือหยุดการเล่นเกมของเด็กอย่างจริงจัง

- ปัญหาครอบครัว (Family dysfunction) ทำให้เด็กมีความเครียดเกิดขึ้น เด็กเล่นเกมเพื่อเป็นการระบายความเครียด

- การขาดต้นแบบที่ดี (Poor role model) บางครอบครัวตัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน

- มีกลุ่มเพื่อนที่โน้มน้าวกดดันให้ต้องเล่น (Peer pressure) ต้องเล่นเพื่อให้เพื่อนยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

 

 

นิโรธ = เป้าหมาย (ปลายทาง)

หากจะพิจารณาว่า “นิโรธ” คืออะไร อาจตั้งคำถามว่า “ภาวะที่ปัญหานั้นดับลงเป็นอย่างไร”

 

การที่ทุกข์จะดับไป หรือปัญหาการติดเกมจะดีขึ้น สภาวะนั้นจะเป็นอย่างไร

เกมมีทั้งด้านบวก และด้านลบ หากเล่นอย่างพอดี เกมก็ทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน เป็นกิจกรรมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ ปัจจุบันการเล่นเกมยังสามารถทำเป็นอาชีพและสร้างรายได้ได้อีกด้วย

แต่ถึงแม้ปัจจุบันจะมีคนที่เล่นเกมอย่างจริงจัง และเล่นเกมเป็นอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นก็ควรที่จะแบ่งเวลาในการพัฒนาทักษะความรู้ของตนเองในด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการเล่นเกมด้วย เพราะคนเราไม่สามารถอาศัย “การเล่นเกม” เพียงอย่างเดียวในการเลี้ยงชีพได้ อาชีพ เช่น นักกีฬาอีสปอร์ต ก็จะมีช่วงอายุในการเล่นเป็นอาชีพได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ผู้เล่นจึงควรมีการพัฒนาทักษะความรู้ด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไป เพื่อที่จะได้สามารถปรับตัวในการประกอบอาชีพต่อไปได้ในอนาคต

 

ดังนั้น คนเราสามารถเล่นเกมได้ แต่ควรที่จะเล่นอย่างพอดี เล่นอย่างสมดุล มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ดูแลสุขภาพของตนเอง ไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบกับตนเอง หากมีผลกระทบด้านลบเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรที่จะเปิดใจยอมรับในการปรับปรุงตัว หากมีใครมาตักเตือน ก็ควรนำมาพิจารณาตนเอง

 

พ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังหนักใจกับการเล่นเกมของบุตรหลาน อาจชวนบุตรหลานพูดคุยถึงสิ่งที่เขาได้จากการเล่นเกม และเป้าหมายในการเล่นเกมของเขา ชวนคุยชวนคิดว่า หากเขายังเล่นเกมแบบที่เรียกว่า “ติดเกม” ต่อไป จะเกิดอะไรขึ้น

แต่ก่อนที่จะพูดคุยเรื่องนี้ คงต้องมาย้อนดูสาเหตุที่ทำให้บุตรหลานติดเกมซะก่อน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องค้นพบให้ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้ลูกติดเกม...สังเกตและทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะหาทางแก้ไขได้อย่างตรงจุด (ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ได้)

 

 

มรรค = แนวทางที่จะแก้ปัญหา (เส้นทาง)

หากจะพิจารณาว่า “มรรค” คืออะไร อาจตั้งคำถามว่า “ทางออกของปัญหาคืออะไร”

 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือเส้นทางที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ หรือการแก้ปัญหาการติดเกม ก็จะต้องสอดคล้องกับ “สมุทัย” หรือสาเหตุการติดเกมที่จะต้องหาให้เจอก่อน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในเส้นทางที่เหมาะสม

 

สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาการติดเกม คือ “กฎระเบียบที่ดี” กับ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ซึ่งต้องบริหารให้ควบคู่กัน โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาความสัมพันธ์ ต้องดูแลอย่างดี เพราะหากเราสามารถแก้ความสัมพันธ์ได้ เด็กก็จะเชื่อฟังมากขึ้น

 

หลักการบริหาร กฎระเบียบที่ดีและ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ประกอบด้วย

 

1.การตั้งกฎกติกาต้องชัดเจน ยกตัวอย่าง จะเล่นเกมได้ก็ต่อเมื่อทำการบ้านเสร็จ ทำงานเสร็จ ห้ามเล่นเกมเยอะ คำว่า “เยอะ” ต้องหามาตรฐานที่ชัดเจน โดยกำหนดไปเลยว่ากี่ชั่วโมง (ขึ้นอยู่แต่ละครอบครัวจะกำหนด แต่จากงานวิจัยพบว่า เวลาที่เหมาะสมนั้น อยู่ที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง)

 

2.การออกกฎในการลงโทษ และบทให้รางวัล ตัวอย่างเช่น ต้องนอนก่อน 4 ทุ่ม หากเพื่อนมาที่บ้านและชวนกันเล่นเกมนานเกินกำหนด ก็จะต้องกำหนดบทลงโทษ อาทิ ตัดเวลาการเล่นเกมในวันถัดไป หรือถ้าทำการบ้านเสร็จเร็ว ก็อาจจะต่อเวลาเล่นเกมให้

 

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมองหาจุดเด่นของเด็ก เพื่อเลือกกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ เช่น ดนตรี ศิลปะ กีฬา ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงเด็กออกจากเกมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับเด็กอีกด้วย หากกิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวก็จะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กเข้าถึงอุปกรณ์ที่จะเล่นเกมได้น้อยลง นอกจากนี้ ยังช่วยดึงพ่อแม่ออกจากการเล่นโทรศัพท์ สื่อสังคมออนไลน์ได้อีกด้วย เพราะถ้ายังเล่นให้ลูกเห็นเป็นประจำก็อาจทำให้เด็กนำมาเปรียบเทียบกับตนเอง และคิดว่าตัวเองมีสิทธิที่จะทำตามแบบอย่างนั้นได้

 

 

เขียนและเรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง


ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com

 

Healthy Gamer