window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

สื่อสังคมออนไลน์กับความสงสัยในตัวเอง Social Media & Self-Doubt

สื่อสังคมออนไลน์กับความสงสัยในตัวเอง Social Media & Self-Doubt
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

สื่อสังคมออนไลน์กับความสงสัยในตัวเอง

Social Media & Self-Doubt

 

เด็กสาวเลื่อนดู Instagram ของเธออย่างช้าๆ “ดูเหมือนทุกคนจะมีวันที่ดีอยู่ตลอดเวลา”

 

สื่อนิตยสารและสื่อโฆษณาถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้วว่า พวกเขาสร้างภาพที่ทำให้มาตรฐานความสำเร็จและมาตรฐานความงามดูดีกว่าความเป็นจริง แต่อย่างน้อย เราก็พอจะรู้ว่าความงามในสื่อเหล่านี้เป็นอุดมคติ นางแบบผ่านการแต่งหน้า และตกแต่งรูปภาพมากมาย

 

แต่ทุกวันนี้ มาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้นั้น อยู่ใกล้ตัวคนเรามากขึ้น สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่คนดังหรือนางแบบ แต่เป็นคนใกล้ตัวอย่างเพื่อน สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้วัยรุ่นสามารถติดตามชีวิตของคนรอบตัว และฟีด (feed) ที่ได้เห็นได้อ่าน ก็มีแต่ช่วงเวลาที่ดูดี ดูน่าอิจฉา ไม่ค่อยได้เห็นแง่มุมด้านความพยายาม การดิ้นรน หรือแง่มุมธรรมดา ๆ ของชีวิตในแต่ละวัน มีหลักฐานว่าภาพเหล่านั้นสร้างความทุกข์ให้กับเด็กหลายคน

 

Donna Wick, EdD ผู้ก่อตั้ง Mind-to-Mind Parenting กล่าวว่าสำหรับวัยรุ่นแล้ว ความเปราะบาง ความต้องการที่อยากได้รับการยอมรับจากคนอื่น และความปรารถนาที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน ๆ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พายุแห่งความสงสัยในตัวเองที่สมบูรณ์แบบ” (perfect storm of self-doubt)

 

“เขาผอมมาก เกรดก็ดี กับแฟนก็ดูมีความสุขมาก เราคงไม่มีวันเพอร์เฟคได้แบบนั้น ไม่มีวันผอมขนาดนั้น ไม่โชคดีขนาดนั้น คงประสบความสำเร็จอย่างนั้นไม่ได้”

 

บางครั้งการดูฟีดของเพื่อน “ทำให้คุณรู้สึกเหมือนทุกคนมีแต่เรื่องดี ๆ กันหมด ยกเว้นคุณ”

 

การดิ้นรนเพื่อที่จะไม่ถูกพายุแห่งความสงสัยในตัวเองพัดพาไป

ผลเสียจากมาตรฐานที่ไม่สมจริงเหล่านี้ จะเป็นอันตรายมากขึ้น เมื่อเด็ก ๆ เติบโต เข้าสู่มหาวิทยาลัย พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่สูงขึ้น งานที่หนักขึ้น และสภาพแวดล้อมที่ส่วนใหญ่ไม่มีผู้ปกครอง แรงกดดันในการดูสมบูรณ์แบบเพื่อสร้างความประทับใจให้เพื่อนใหม่ และแรงกดดันในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับเพื่อนและครอบครัวที่บ้านนั้นยิ่งมากขึ้นไปอีก

 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้บัญญัติวลี "กลุ่มอาการเป็ด" (duck syndrome) ขึ้นหลังจากมีการฆ่าตัวตายในวิทยาลัยหลายครั้ง โดยกลุ่มอาการเป็ด หมายถึง ลักษณะที่เป็ดดูเหมือนจะเหินตัวข้ามสระน้ำได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่จริง ๆ แล้วใต้ผิวน้ำ เท้าของมันกำลังทำงานอย่างบ้าคลั่ง พยายามดิ้นรนอย่างที่ไม่มีใครเห็นในการที่จะลอยอยู่บนน้ำให้ได้

 

นักศึกษาหลายคนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมีภาพที่สมบูรณ์แบบบนโซเชียลมีเดีย ฟีดของพวกเขาเต็มไปด้วยคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจ และภาพที่ผ่านการคัดกรองแล้วว่าน่าดึงดูด มีความสุข ดูเหมือนพยายามเพียงเล็กน้อยก็เก่งแล้ว แต่เบื้องหลังม่านดิจิตอล พวกเขากำลังดิ้นรนทางอารมณ์

 

ซ่อนความไม่สมบูรณ์แบบ

สำหรับเด็กที่มีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า การแก้ไขโพสต์ต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง เป็นเหมือนฉากกั้นที่ปกปิดปัญหาร้ายแรงไว้เบื้องหลังความสมบูรณ์แบบ ซึ่งทำให้พ่อแม่หรือเพื่อนสังเกตได้ยากขึ้นว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

 

Jill Emanuele ,PhD ผู้อำนวยการอาวุโสของ Mood Disorders Center ที่ Child Mind Institute กล่าวว่า โซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นหัวใจของปัญหา แต่มันสามารถทำให้สถานการณ์ยากขึ้นได้

 

วัยรุ่นที่สร้างตัวตนในโลกออนไลน์ตามอุดมคติ อาจรู้สึกท้อแท้และหดหู่ใจ เมื่อสิ่งที่พวกเขาแสร้งเป็นในโลกออนไลน์แตกต่างจากตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา

 

“ถ้าคุณฝึกฝนการเป็นตัวของตัวเองที่ผิด ๆ วันละแปดชั่วโมง มันจะยากขึ้นที่จะยอมรับตัวตนที่ด้อยกว่าจริงๆ ของคุณ” Dr.Wick กล่าว “และอย่างที่เราทุกคนทราบดีว่า ไม่มีใครที่ตัดสินวัยรุ่นได้เข้มงวดไปกว่าตัววัยรุ่นเอง”

 

ความสมบูรณ์แบบของคนอื่น

Dr. Emanuele กล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยอีกประการหนึ่งคือ สำหรับวัยรุ่นบางคน สิ่งที่อยู่ในฟีดของพวกเขาอาจกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบต่อตนเองได้ เมื่อเด็กที่มีปัญหาเรื่องความสงสัยในตนเองได้อ่านได้เห็นรูปภาพของเพื่อน ๆ พวกเขาจะเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองยังขาดอะไรบางอย่างอยู่

 

“เด็ก ๆ มองโซเชียลมีเดียผ่านมุมมองชีวิตของพวกเขา” Dr. Emanuele กล่าว “หากพวกเขากำลังดิ้นรนที่จะอยู่เหนือสิ่งใด หรือกำลังทุกข์ทรมานจากการไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง พวกเขามักจะตีความภาพของเพื่อนที่กำลังสนุกสนานเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาไม่ดี เมื่อเทียบกับเพื่อนของพวกเขา”

 

เป็นเรื่องยากที่จะต้านทาน

มีวัยรุ่นที่เห็นด้วยว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องมีผลกระทบต่อวิธีที่พวกเขามองเพื่อนและตนเอง “มันเหมือนกับว่าคุณรู้ว่ามันไม่ได้ทำให้คุณมีความสุข...แต่คุณก็ยังดูมัน”

 

แม้จะรู้ว่าภาพเหล่านี้ปกปิดปัญหาร้ายแรงบางอย่างไว้ พวกเขาก็ไม่สามารถต้านทานความกดดันที่เกิดขึ้นได้

 

“ฉันรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องการกิน เราทุกคนรู้ดี มันแย่มากที่เธอต้องไปศูนย์บำบัด แต่เมื่อเธอถ่ายรูปตัวเองบนชายหาดที่ดูผอมเพรียว ทุกคนก็ชอบรูปพวกนั้นอยู่ดี”

 

ความจริงแล้ว เธอบอกว่าเธอรู้ว่าภาพเหล่านั้นไม่ใช่ภาพปัจจุบัน และเด็กสาวคนนั้นก็กำลังป่วยหนัก แต่เธอก็ยังรู้สึกอดไม่ได้ที่จะอิจฉาอยู่ดี “ฉันจำได้ว่า ฉันคิดว่า 'ฉันอยากจะเป็นแบบนั้น' แล้วก็รู้สึกแย่กับตัวเอง”

 

ผู้ใหญ่จะช่วยได้อย่างไร

พ่อแม่ผู้ปกครองจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและใช้อย่างสมเหตุสมผล

 

Dr. Wick กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้วัยรุ่นตกหลุมพรางของสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียนั้น ซับซ้อนกว่าที่คิด “มันไม่ใช่การริบเอาโทรศัพท์ออกไป หรือการพูดคุยเพียงครั้งเดียว...พ่อแม่ต้องขยันหมั่นเพียรในการทำให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ อยู่ในความเป็นจริง และพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย"

 

1. ถือเป็นเรื่องจริงจัง Dr. Wick เตือนว่า อย่าประมาทบทบาทของโซเชียลมีเดียในชีวิตวัยรุ่น

“พลังของภาพที่มองเห็นนั้นแข็งแกร่งมาก มันสับสน” เธอกล่าวว่า วัยรุ่นหลายคนไม่เคยรู้จักโลกที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย และสำหรับพวกเขาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นทางออนไลน์ เช่น เรื่องเล็กๆ น้อยๆ การเลิกรา การชอบ หรือความคิดเห็นเชิงลบ สิ่งเหล่านี้เป็นจริงมากสำหรับพวกเขา พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตั้งใจฟังจริงๆ และระวังอย่าเพิกเฉยหรือมองว่าประสบการณ์ที่วัยรุ่นพบเจอเป็นเรื่องเล็กน้อย

 

2. ส่งเสริมให้คิดนอกกรอบ (มองสิ่งที่อาจจะเป็นมากกว่าสิ่งที่เห็น) เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองพูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย ลองกระตุ้นให้เด็ก ๆ วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เห็นมากขึ้น วิธีที่ดีในการเริ่มต้นคือ การลองถามเด็ก ๆ ว่า คิดว่าอะไรถูกครอป (crop) หรือตัดต่อจากรูปภาพที่ "สมบูรณ์แบบ" ของเพื่อน และทำไมมันถึงถูกตัดออกไป ซึ่งคำถามนี้สามารถนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่า เช่น คิดว่าเพื่อนเป็นอย่างที่เห็นในออนไลน์จริง ๆ ไหม? รู้หรือเปล่าว่าจุดประสงค์ของการโพสต์รูปถ่ายคืออะไร? การได้รับ "Like" ที่รู้สึกดีคืออะไร? การดูโซเชียลมีเดียส่งผลต่ออารมณ์ของเราหรือไม่?

 

3. เป็นตัวอย่างที่ดีในการตอบสนองต่อความล้มเหลว เด็ก ๆ ต้องได้รู้ว่าพวกเขา “ล้มเหลวได้” และการล้มเหลวก็ “ไม่เป็นไร” หากพ่อแม่ผู้ปกครองซ่อนความล้มเหลวของตนเอง เด็ก ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ใช่ความสำเร็จ เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ หรือเกิดความผิดพลาด ให้พ่อแม่ผู้ปกครองแสดงให้ลูกเห็นว่าจะยอมรับความผิดพลาดอย่างไรด้วยความสง่างาม ให้เด็ก ๆ รู้ว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่าอาย เราสามารถลุกขึ้นและลองใหม่อีกครั้ง

 

4. สรรเสริญ (และแสดง) ความพยายาม พ่อแม่ควรให้ลูกรู้ว่าความพยายามเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ การแสดงความพยายามเป็นสิ่งที่ควรยกย่อง เมื่อเด็ก ๆ ทำงานหนักเพื่อสิ่งใด ให้ชมเชยความพยายามของเขา ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองบอกเล่าถึงความภาคภูมิใจในความพยายามของตนเอง และเปิดเผยเกี่ยวกับงานของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะประสบการณ์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ จะเป็นตัวอย่างที่ทรงพลังสำหรับเด็ก ๆ

 

5. มี “วันหยุด” จากการใช้งานสื่อโซเชียล หากพ่อแม่ผู้ปกครองกังวลว่าบุตรหลานจะหมกมุ่นอยู่กับสื่อโซเชียลมากเกินไป ลองมี “วันหยุด” ที่ทุกคนในครอบครัว หยุดพักจากการใช้สื่อโซเชียล และไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันแทน เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องอยู่ห่างจากสื่อ หากต้องการให้เด็ก ๆ ใช้สื่อน้อยลง

 

6. เชื่อใจคนจริง ๆ ไม่ใช่ภาพในโลกออนไลน์ พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าพึ่งพาสื่อโซเชียลในการที่จะติดตามว่าลูกหลานเป็นอย่างไรบ้าง เด็ก ๆ อาจโพสต์เซลฟี่ด้วยรอยยิ้มได้ทั้งวัน แต่ถ้าเด็ก ๆ ดูไม่มีความสุข หรือมีน้ำเสียงที่ไม่ค่อยดีเวลาที่คุยกัน ก็อย่าปล่อยมันไป พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ สามารถพูดคุยและแบ่งปันความรู้สึกกับคุณได้อย่างปลอดภัย เมื่อเด็ก ๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง อย่าลืมที่จะเปิดใจรับฟัง แสดงความรัก ความภาคภูมิใจ ที่เด็ก ๆ บอกเล่าเรื่องราวให้คุณฟัง รับฟัง และก้าวผ่านเรื่องราวไปด้วยกัน

 

ในท้ายที่สุด ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็อยากให้ลูกมีความสุขและประสบความสำเร็จ การที่ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักและภูมิใจในตัวเขาอย่างที่เขาเป็น แบบที่ไม่ผ่านการกรอง ไม่มีการตัดต่อ ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจ ยอมรับตัวตนของตัวเอง อยู่อย่างปลอดภัย และมีสุขภาพดีเมื่อออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้าง

 

แปลและเรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://childmind.org/article/social-media-and-self-doubt/



ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com

 

 

Healthy Gamer