window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

การเล่นเกมทำให้ขี้เกียจหรือเปล่า?

การเล่นเกมทำให้ขี้เกียจหรือเปล่า?
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

การเล่นเกมทำให้ขี้เกียจหรือเปล่า?

 

การเล่นวิดีโอเกมเพื่อความสนุกไม่ได้ทำให้ขี้เกียจ แต่การเล่นเกมอาจทำให้คนเราไม่สนใจงานอดิเรก หรือกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิต ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ การเล่นเกมอาจนำไปสู่การขาดแรงจูงใจ และไม่สนใจด้านอื่น ๆ ของชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสิ่งใดที่กินเวลาชีวิตของคุณมากเกินไป เช่น การทำงาน การออกกำลังกาย การเล่นการพนัน หรือการดื่มเหล้า ก็สามารถส่งผลในทางลบเช่นเดียวกัน

การเล่นเกมเป็นกิจกรรมสันทนาการที่ดีหากเล่นอย่างพอประมาณ แต่การเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้ผู้เล่นละเลยการเรียน การทำงาน และความรับผิดชอบอื่น ๆ บางครั้งเกมเมอร์อาจจะรู้สึกขี้เกียจหลังจากเล่นวิดีโอเกม

 

เหตุผลที่การเล่นเกมอาจทำให้เกมเมอร์ดูเป็นคนขี้เกียจ
1. การเล่นเกมทำให้ผู้เล่นเคยชินกับการได้รับรางวัลง่าย ๆ มันจึงเป็นเรื่องยากที่ต้องพยายามในชีวิตจริง

วิดีโอเกมมีลักษณะที่กระตุ้นเร้าให้ผู้เล่นมีส่วนร่วม และเล่นเกมอยู่เรื่อย ๆ เมื่อเกมเมอร์ทุ่มเทเวลาให้กับวิดีโอเกม ก็จะได้รับรางวัลอย่างรวดเร็ว เลเวลหรืออันดับในเกมสูงขึ้น ได้รับอาวุธใหม่ หรือมีตำแหน่งอยู่ในกระดานผู้เล่น การเล่นเกมทำให้เกมเมอร์รู้สึกพึงพอใจได้ง่าย ไม่เหมือนกับโลกแห่งความเป็นจริงนอกเกม ที่คนเราอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้สิ่งที่หวังไว้ ซึ่งชีวิตจริงอาจทำให้เกมเมอร์รู้สึกท้อแท้ใจ จึงหันไปใช้เกมเป็นตัวช่วยเพื่อหนีจากปัญหา หรือความรู้สึกแย่ในชีวิต พอเล่นเสร็จก็อาจเกิดความรู้สึกขี้เกียจ เพราะไม่อยากกลับไปเผชิญหน้ากับความจริงที่น่าเศร้า เลยกลับมาเล่นเกมมากขึ้น ๆ เพื่อจะอยู่กับความรู้สึกดีที่ได้รับจากเกม

2. การเล่นเกมสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก

คนเราสามารถเข้าถึงวิดีโอเกมได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หลายคนมีสมาร์ตโฟนอยู่ในกระเป๋า กิจกรรมอื่น ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง นอกโลกของเกม มักจะใช้เวลามากกว่าและสนุกน้อยกว่าเกม ความสะดวกสบาย และการเข้าถึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกมเมอร์ขี้เกียจเมื่อต้องเผชิญกับความรับผิดชอบและกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิต

 

3. เกมเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่ผู้เล่นสามารถล้มเหลวได้

หากเล่นเกมแพ้ เราก็สามารถที่จะปิดเกม แล้วเปิดรีสตาร์ทใหม่ และลองเล่นใหม่อีกครั้งได้ สำหรับในชีวิตจริง เมื่อคนเราทำอะไรผิดพลาด หรือเกิดความล้มเหลวในชีวิต ก็จะไม่สามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ มีแต่จะต้องเดินหน้าต่อไป

ในโลกเสมือนจริงของเกม หากผู้เล่นไปทำให้ใครไม่พอใจเข้า ผู้เล่นก็สามารถที่จะเปลี่ยนชื่อ หรือตัวละคร เพื่อหลีกหนีจากปัญหาได้ ในขณะที่ถ้าคนเราไปทำให้ใครบางคนไม่พอใจในชีวิตจริง ก็อาจทำให้เสียชื่อเสียงและเกิดผลกระทบได้ การเล่นเกมจึงให้ความรู้สึกที่ปลอดภัยมากกว่า จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคนยังคงวนเวียนอยู่กับการเล่นเกม

 

4. เกมเมอร์อาจรู้สึกผูกติดกับอวาตาร์หรือตัวละคร

บางครั้ง เกมเมอร์ที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีความนับถือตนเองต่ำ (low self-esteem) จะรู้สึก “อิน” และชอบที่ได้เป็นอวาตาร์หรือตัวละครในเกมมากกว่าตัวตนในชีวิตจริงของตนเอง ยิ่งพวกเขาได้รับแรงเสริมจากการเล่นเกม หรือได้รับการยอมรับภายในเกมมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งต้องการใช้เวลาเพื่อเป็น “อวาตาร์” มากกว่า และอยากใช้เวลาในการเป็น “ตัวเอง” น้อยลงเท่านั้น เกมเมอร์เหล่านี้จะเล่นเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคนอื่น ๆ ที่ไม่เข้าใจก็อาจจะมองว่าพวกเขาเป็นคนขี้เกียจ

 

5. การเล่นเกมเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง

พฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ การทำกิจกรรมที่ไม่ได้ขยับร่างกาย ยิ่งใช้เวลาเล่นเกมอยู่หน้าจอนานหลายชั่วโมง เกมเมอร์ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะทำนั่งเล่นเกมอยู่กับที่ต่อไป เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะกลายเป็นนิสัย ร่างกายก็จะชิน และไม่อยากทำกิจกรรมอื่นนอกจากการเล่นเกม

 

วิดีโอเกมส่งผลต่อแรงจูงใจ

สำหรับคนจำนวนหนึ่ง วิดีโอเกมอาจทำให้รู้สึกขี้เกียจ และไม่มีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมอื่น แต่ในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้เล่นส่วนใหญ่แล้ว พวกเขามีแรงจูงใจสูง ทำงานหนัก และทุ่มเทในการทำสิ่งต่าง ๆ โดยการที่เหล่าเกมเมอร์มีจุดมุ่งหมายในการเล่นเกม อาจทำให้พวกเขามีจุดมุ่งหมายในด้านอื่น ๆ ในชีวิตได้เช่นกัน

คนที่ใช้เวลาจำนวนมากไปกับการเรียน หรือการเล่นกีฬา ก็คงจะได้รับการชื่นชมและให้กำลังใจ แต่สำหรับผู้เล่นเกมอีสปอร์ต หรือนักเล่นเกม ก็อาจจะไม่ได้รับความชื่นชมในแบบเดียวกัน ความจริงแล้วนักเล่นเกมก็มีความมุ่งมั่น และพวกเขาสมควรได้รับความเคารพและการยอมรับเช่นกัน

ผลบวกของการเล่นเกม เช่น การฝึกฝนการแก้ไขปัญหาและการใช้ตรรกะความคิด การประสานการใช้มือและตา การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน และการทำงานเป็นทีม ทักษะที่ได้จากเกมเหล่านี้สามารถถ่ายทอดไปเป็นทักษะในชีวิตที่จะช่วยให้เกมเมอร์สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจ หรือการเรียนรู้ภาษา เป็นต้น

 

จะหยุดการเล่นเกมที่มากเกินไปอย่างไร?

หากวิดีโอเกมทำให้เกมเมอร์รู้สึกไม่มีแรงจูงใจ และเซื่องซึม เกมเมอร์อาจจะเล่นเกมต่อไปเพื่อรับมือกับปัญหา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เกมเมอร์ควรจำไว้คือ เกมเมอร์ไม่ได้ขี้เกียจ หรืออ่อนแอ แต่วิดีโอเกมได้รับการออกแบบมาให้เสพติด และทำให้สมองปล่อยสารโดปามีนที่ทำให้รู้สึกดีในปริมาณมหาศาล ซึ่งอาจทำให้เกมเมอร์ควบคุมการเล่นเกมได้ยาก ทั้งนี้ มีผลการศึกษาที่พบว่า ปริมาณโดปามีนที่ปล่อยออกมาขณะเล่นวิดีโอเกมเปรียบเสมือนการฉีดแอมเฟตามีน

 

หากคุณเป็นเกมเมอร์ที่อยากมีแรงจูงใจในชีวิตมากขึ้น หรือคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากช่วยลูกให้มีแรงจูงใจในชีวิตมากขึ้น

วิธีที่จะช่วยได้ คือ

  1. เคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะทำให้รู้สึกมีความสุขและมีพลังมากขึ้น รวมทั้งทำให้ได้พักจากการใช้หน้าจอ
  2. ตั้งใจในการควบคุมเวลาการเล่น ตั้งกฎกติกาว่าขีดจำกัดในการเล่นเกมคือแค่ไหน โดยการตั้งเวลา หรือนาฬิกาปลุกสามารถช่วยจำกัดควบคุมเวลาการเล่นเกมได้
  3. มุ่งไปที่เป้าหมายที่อยู่นอกเกม ใช้ทักษะที่ได้จากเกม เช่น การคิดเชิงกลยุทธ์ และการแก้ปัญหา เพื่อไล่ตามความฝันในชีวิตจริง

 

ปรึกษาปัญหาการติดเกมผ่าน Line Chatbot ได้ที่ Line ID: @healthygamer หรือกดที่นี่เพื่อแอดไลน์ https://bit.ly/3erpjen

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://gamequitters.com/why-gamers-are-not-lazy/


ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer