window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

เกมกระตุ้นสมองสำหรับภาวะสมองเสื่อม

เกมกระตุ้นสมองสำหรับภาวะสมองเสื่อม
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เกมกระตุ้นสมองสำหรับภาวะสมองเสื่อม

21 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันอัลไซเมอร์โลก แอดมินจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับเกมสำหรับภาวะสมองเสื่อมมาฝากกันค่ะ

ภาวะสมองเสื่อม ทำให้บุคคลสูญเสียความสามารถในการรับรู้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ การคิด การใช้เหตุผล หรือแม้แต่ภาษา ซึ่งการสูญเสียทักษะเหล่านี้ อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้

ในปัจจุบัน แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีรักษาภาวะสมองเสื่อมให้หายขาด แต่ก็มีวิธีการรักษาบางอย่างที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการ และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ผู้คนมักพูดถึงแนวคิดในการใช้เกมความจำที่จะช่วยกระตุ้นสมอง ในบทความนี้ ขอชวนทุกคนมาสำรวจว่าเกมอาจช่วยในเรื่องการทำงานของสมองอย่างไร และเกมที่จะช่วยได้คือเกมอะไร?

เกมสมอง (brain games) สามารถช่วยผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร?

เกมเป็นหนึ่งในกิจกรรมมากมายที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม และได้รับความบันเทิง ประเด็นที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม คือ เกมสามารถช่วยกระตุ้นสมองของเราได้ 

ตัวอย่างเช่น การศึกษาในปี 2019 พบว่า เมื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุฝึกเล่น "exergame" ซึ่งกระตุ้นให้ผู้เล่นทั้งขยับร่างกายและใช้ความคิด หลังจากผ่านไป 16 สัปดาห์ พบว่า ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ มีความจำเพื่อใช้งาน (working memory) และทักษะด้านการคิดจากสมองส่วนหน้า (executive function) ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การศึกษาในปี 2019 อีกชิ้นหนึ่ง ศึกษาผลของการฝึกกระบวนการคิดในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้เหตุผล ความจำ ภาษา และความสนใจ ด้วยคอมพิวเตอร์ (computerized cognitive training) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการฝึกด้วยคอมพิวเตอร์นี้ ช่วยเพิ่มปริมาณสมองเนื้อสีเทา (gray matter) และอาจช่วยคงสภาพไม่ให้กระบวนการคิดเสื่อมถอยลงไป

เมื่อป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ทักษะการรับรู้หลายอย่างจะลดลง ซึ่งรวมถึงทักษะบางอย่างที่กล่าวถึงในการศึกษาเหล่านี้ เช่น ความจำและการใช้เหตุผล นอกจากการศึกษาข้างต้นแล้ว มีการศึกษาวิจัยที่ได้แนะนำว่า การเล่นเกมอาจช่วยพัฒนาทักษะการรู้คิดเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม

จากการทบทวนวรรณกรรม ในปี 2020 เกี่ยวกับบทบาทของเกมในการดูแลภาวะสมองเสื่อม พบว่า

  • เกมกระดาน (board games) สามารถช่วยในเรื่องการทำงานของสมอง เช่น ความจำ การสื่อสาร และการควบคุมอารมณ์
  • วิดีโอเกม (video games) สามารถปรับแต่งการเล่น ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดได้ สำหรับผู้คนที่มีความสามารถทางปัญญาที่แตกต่างกัน
  • เกมเสมือนจริง (virtual reality games) สามารถให้ทั้งการเสริมความรู้ความเข้าใจทางความคิด และการเคลื่อนไหวทางกายภาพ ขึ้นอยู่กับประเภทของเกม

โดยเมื่อผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมระยะเริ่มต้น และระยะกลาง ใช้เกมที่จริงจัง พวกเขาสามารถพัฒนาปรับปรุงความสามารถทางปัญญาที่หลากหลาย ได้แก่ ความจำระยะสั้น ปฏิกิริยาตอบสนอง การแก้ปัญหา เหตุผลเชิงตรรกะ และการสื่อสาร

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักฐานสนับสนุนจำนวนมากพอสมควร สำหรับบทบาทของเกมในการดูแลภาวะสมองเสื่อม แต่ผลการศึกษาก็ยังค่อนข้างหลากหลาย ตัวอย่างเช่น จากการทบทวนวรรณกรรมและการวิเคราะห์อภิมาน ในปี 2021 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้เกมสมอง (กลุ่มทดลอง) กับการรักษาทั่วไป (กลุ่มควบคุม) ไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ

ดังนั้น แม้ว่าจะมีสัญญาบางอย่างว่าเกมอาจมีบทบาทในการกระตุ้นสมองสำหรับภาวะสมองเสื่อม แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

เล่นเกมไหนดีสำหรับโรคสมองเสื่อม?

เกมเป็นวิธีกระตุ้นสมองที่ยอดเยี่ยม แต่ไม่ใช่ทุกเกมจะสามารถฝึกฝนทักษะให้กับเราได้เหมือนกันทุกเกม สำหรับเกมที่อาจสนับสนุนทักษะการรู้คิดที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม ได้แก่

  1. เกมปริศนาคำศัพท์ (Word puzzles)

ปริศนาคำศัพท์เป็นเกมที่เน้นไปที่ทักษะภาษาโดยเฉพาะ เช่น เกม Scrabble จะเน้นที่การจัดเรียงตัวอักษรและคำ ในขณะที่เกมอื่นๆ เช่น ปริศนาอักษรไขว้ (crosswords) จะเน้นที่การจำคำศัพท์ 

จากการวิจัยเมื่อปี 2015 แนะนำว่าการเล่นเกมอย่างปริศนาอักษรไขว้ อาจนำไปสู่การพัฒนาทักษะการรู้คิดในด้านการเรียนรู้คำ ความจำ ความเร็ว และอื่นๆ

เกมแนะนำในหมวดนี้ ได้แก่ crossword, word searches, anagrams, cryptograms, Scrabble, Mad Libs

2. เกมจิ๊กซอว์ (Jigsaw puzzles)

จิ๊กซอว์เป็นเกมปริศนาประเภทหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อความจำและการใช้เหตุผล มีตั้งแต่จิ๊กซอว์ธรรมดาที่ต่อเข้าด้วยกันได้ง่าย ไปจนถึงจิ๊กซอว์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้องใช้การประสานของมือกับตา และหน่วยความจำมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมักจะมีปัญหาด้านทักษะการรู้คิด เช่น การเรียกความจำจากหน่วยความจำที่เก็บไว้ และการให้เหตุผล จิ๊กซอว์จะช่วยพัฒนาทักษะเหล่านี้ 

3. เกมลูกเต๋า (Dice games)

งานวิจัยจากปี 2012 แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีภาวะการรับรู้บางประเภท เช่น ภาวะสมองเสื่อม อาจประสบปัญหาด้านตัวเลข และทักษะในการคำนวณลดลง ทักษะเหล่านี้สามารถฝึกฝนได้ด้วยเกมลูกเต๋า

เกมลูกเต๋าที่น่าลองเล่น ได้แก่ Backgammon, Kismet, Liar’s dice, Shut the Box, Yahtzee

4. เกมการ์ด/ไพ่ (Card games)

เกมการ์ดมีรูปแบบการเล่นที่หลากหลายขึ้นอยู่กับไพ่ประเภทต่างๆ เช่น การใช้สำรับไพ่มาตรฐานสำหรับการเล่นรัมมี่ หรือไพ่เฉพาะสำหรับเกมอย่าง Uno

เกมการ์ด/ไพ่เหมาะสำหรับการฝึกฝนทักษะต่างๆ เช่น การใช้เหตุผล การแก้ปัญหา ความจำ และสมาธิ ซึ่งเป็นทักษะที่มักลดน้อยลงในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

เกมแนะนำในหมวดนี้ ได้แก่

  • เกมจับคู่ เช่น Go Fish
  • เกมที่ใช้เล่ห์เลี่ยม เช่น Bridge
  • เกมเฉพาะ เช่น Uno
  • Solitaire variations
  • เกมสะสมการ์ด เช่น Pokémon Trading Card Game

5. เกมกระดาน (Board games)

เกมกระดานเป็นเกมประเภทหนึ่งที่ใช้กระดานพร้อมกับชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะถูกย้าย หรือวางบนกระดาน เกมกระดานส่วนใหญ่ มักมีการใช้ไพ่ ลูกเต๋า และองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย

จากการศึกษาในปี 2019 ซึ่งศึกษาประโยชน์ของการเล่นเกมแอนะล็อกอย่างเกมกระดาน ในผู้เข้าร่วม 1,091 คน พบว่า ยิ่งเล่นบอร์ดเกมบ่อยมากขึ้น ก็จะมีความเสื่อมถอยด้านการรู้คิดน้อยลง ในคนช่วงอายุ 70 ​​ถึงอายุ 79 ปี

เกมแนะนำในหมวดนี้ ได้แก่ เกมเศรษฐี (Monopoly), Trivial Pursuit, เกมต่อรถไฟ (Ticket to Ride), Cranium, หมากรุก (Chess)

6. วิดีโอเกม (Video games)

วิดีโอเกมประกอบด้วยเกมอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภท มีตั้งแต่เกมคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมไปจนถึงเกมบนระบบใหม่ เช่น Wii และ Switch รวมทั้งเกมมือถือและแท็บเล็ต ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

การศึกษาในปี 2021 สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าเกมฝึกสมองที่ออกแบบมาโดยเฉพาะอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทักษะการรู้คิดในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน เช่น การจดจำภาพ (visual recognition) ความจำภาพ (visual memory) และการมีสมาธิจดจ่อ (attention)

หากคุณไม่เคยเล่นวิดีโอเกมมาก่อน แต่อยากจะลองเล่น เกมที่ดีในการเริ่มต้น ได้แก่

  • TETRIS บนทุกแพลตฟอร์ม
  • Candy Crush Saga ออนไลน์ หรือบนมือถือ
  • Animal Crossing: New Horizons บน Nintendo Switch
  • Wii Sports บน Nintendo Wii (เหมาะสำหรับการออกกำลังกายด้วย)
  • เกมคลาสสิกในเวอร์ชันมือถือหรือแอป เช่น เกมคำศัพท์ ปริศนา เกมไพ่หรือลูกเต๋า และเกมกระดาน

กิจกรรมอะไรอีกบ้างที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้?

  • การอ่าน: การอ่านเป็นกิจกรรมเสริมคุณค่าที่ยอดเยี่ยม คุณสามารถอ่านหนังสือ บทกวี นิตยสาร หนังสือพิมพ์ การ์ตูน และเนื้อหาสิ่งพิมพ์หรือออนไลน์อื่น ๆ
  • ความบันเทิง: การดูรายการโทรทัศน์ หรือฟังรายการวิทยุ สามารถช่วยให้สมองมีส่วนร่วมได้
  • ศิลปะ: ศิลปะมีหลายรูปแบบ เช่น การวาดภาพ การระบายสี และการเล่นเครื่องดนตรี การแสดงออกทางศิลปะทุกรูปแบบเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม
  • การเรียนรู้: การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชั้นเรียน ดู YouTube ฟังพอดแคสต์ หรือสื่ออื่นๆ เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในวัยสูงอายุ

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมขั้นรุนแรง อาจทำงานยาก ๆ แม้แต่งานง่าย ๆ ไม่ได้ ดังนั้นกิจกรรมบางอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา หากเป็นกรณีนี้ ให้พิจารณากิจกรรมที่ง่ายกว่า เช่น พูดคุยและรำลึกความหลังผ่านรูปภาพ และฟังเพลง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเกมสำหรับภาวะสมองเสื่อม

Q. ควรเล่นเกมด้วยตัวเองคนเดียว หรือเล่นกับคนอื่น?

A. การวิจัยไม่ได้ระบุว่าเกมเล่นคนเดียว หรือเล่นหลายคนดีกว่าสำหรับภาวะสมองเสื่อม แต่เราทราบกันดีว่าเกมประเภทต่าง ๆ มีประโยชน์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปแล้ว การเล่นปริศนาอักษรไขว้มักจะเล่นคนเดียว ซึ่งสามารถพัฒนาด้านภาษาและการมีสมาธิจดจ่อแต่เกมกระดานก็สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้เช่นกัน และการเล่นร่วมกับผู้อื่นจะช่วยให้เกิดทักษะการเข้าสังคมและการสื่อสารด้วย

Q. เกมสมอง (brain games) สามารถป้องกัน หรือชะลอภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่? หากเริ่มเกมตั้งแต่อายุยังน้อย

A. ไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถป้องกัน หรือรักษาภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไรก็ตาม การปรับวิถีชีวิตบางอย่างสามารถลดความเสี่ยงได้เช่น การใช้สติปัญญาอยู่เสมอ การเข้าสังคมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งเกมสมองสามารถช่วยในสิ่งเหล่านี้ได้

Q. ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม มีอะไรที่จะป้องกันภาวะนี้ได้บ้าง?

A. ปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับภาวะสมองเสื่อม คือ สองสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุ และพันธุกรรมของเราอายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเริ่มเป็นภาวะสมองเสื่อม และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็นสองเท่าทุก ๆ 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 70 ปี แม้ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่างสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้ แต่ก็ไม่มีวิธีใดที่จะสามารถป้องกันได้ทั้งหมด

 

แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกมสามารถช่วยรักษาโรคสมองเสื่อมได้หรือไม่ แต่เรารู้อย่างหนึ่งว่าเกมเป็นสิ่งที่สนุกในการทำให้สมองได้ใช้งาน มีส่วนร่วม กระตือรือร้น และสนุกสนาน สำหรับผู้คนทุกช่วงวัย

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

รายการอ้างอิง

https://www.healthline.com/health/alzheimers-dementia/memory-games-for-dementia?fbclid=IwAR1J5vxXiM5kbxHjjkqTAWxBxIHZmnUXccNPI_hu_mXRcyz5RCrd6DGClFY

 

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer