กิจกรรมทางเลือก ทดแทนการเล่นเกม
การเล่นเกมมีประโยชน์ในการช่วยคลายเครียด และสร้างความบันเทิง นอกจากนี้ยังอาจส่งเสริมทักษะในการแก้ปัญหาด้วย แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากการเล่นเกมกลายเป็นการเสพติดเกมที่ควบคุมไม่ได้ การติดเกมสามารถส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตได้อย่างไม่ทันรู้ตัว พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการป้องกันไม่ให้ลูกหลานติดเกม
วิธีหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้ลูกหลานติดเกม คือ การที่เด็ก ๆ มีกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากการเล่นเกม
ไม่ได้หมายความว่า เด็ก ๆ ต้องเลิกเล่นเกมทั้งหมด แต่การมีกิจกรรม และงานอดิเรกที่หลากหลาย จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมให้มีไลฟ์สไตล์และชุดทักษะที่หลากหลาย รวมทั้งป้องกันไม่ให้หมกมุ่นกับการเล่นเกมมากจนเกินไป
กิจกรรมทางเลือกที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ของเด็ก ๆ ให้กว้างขึ้น
กีฬาที่มีการแข่งขัน
การเล่นกีฬาโดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย การแข่งขันและการเล่นกีฬาเป็นทีม ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมและการแก้ปัญหา สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ซึ่งให้ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกับการเล่นเกมประเภท Mass Multiplayer Online (MMO) หรือเกมออนไลน์แบบที่มีผู้เล่นหลายคน และเกมประเภท Strategy หรือเกมวางแผน วางกลยุทธ์
การแข่งขันและการเล่นกีฬาเป็นทีม ไม่เพียงแต่ให้โอกาสในการเข้าสังคม และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ยังให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่เป็นมิตร กีฬาประเภททีมให้ความรู้สึกของความสามัคคีและความเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังสามารถที่จะพัฒนาตนเองเป็นนักกีฬา และเข้าร่วมการแข่งขันในระดับลีกต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเพิ่มความมั่นใจ และเสริมสร้างทักษะทางสังคมและการสื่อสาร
กีฬาผาดโผนและกีฬากลางแจ้ง
กีฬาผาดโผนเป็นกิจกรรมทางเลือกที่เหมาะสำหรับคนที่ชอบความตื่นเต้นท้าทาย ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับการเล่นเกมประเภท First-Person Shooter (FPS) หรือเกมยิง และเกมประเภทกีฬา สิ่งสำคัญคือจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายเสมอ เช่น การใส่สนับมือ เข่า และฝ่ามือ เมื่อเล่นสเก็ตบอร์ด เป็นต้น
กิจกรรมกลางแจ้งเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับเกมเมอร์ที่อยากรู้อยากเห็น ชื่นชอบการสำรวจ และค้นพบสิ่งต่างๆ เช่น การเดินป่า ช่วยให้ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของการผจญภัย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่กิจกรรมเหล่านี้ ก็ต้องอาศัยผู้ใหญ่คอยดูแล เพื่อเสริมสร้างทักษะให้กับเด็ก ๆ และป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย
ศิลปะการต่อสู้
ศิลปะการต่อสู้เป็นกิจกรรมที่ให้ประโยชน์มากในการบำบัดการติดเกม เพราะการเรียนศิลปะการต่อสู้มีทั้งกระบวนการที่ทำให้ได้พิจารณาไตร่ตรองตนเอง (self-reflective) และกระบวนการกลุ่ม ชั้นเรียนส่วนใหญ่จัดเป็นกลุ่ม มีการขัดเกลาทางสังคม การเคลื่อนไหว ต้องทำเป็นกิจวัตร แต่การประลองจำนวนมากจะทำเป็นรายบุคคล ทำให้กิจกรรมนี้ดึงดูดทั้งเกมเมอร์ที่ชื่นชอบการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ และเกมเมอร์ที่ชอบความสันโดษ
ศิลปะการต่อสู้ สามารถเพิ่มความมั่นใจ สอนวินัย และเป็นรูปแบบการออกกำลังกายและการป้องกันตัว เหตุผลหนึ่งที่เด็ก ๆ ชอบเล่นวิดีโอเกม คือ พวกเขาสามารถกำหนดเป้าหมาย บรรลุเป้าหมาย และเห็นการเติบโตที่วัดผลได้ การเรียนรู้การเคลื่อนไหว ทักษะ และกิจวัตรในรูปแบบศิลปะการต่อสู้ เช่น ยูยิตสู (Jiu-Jitsu) และ ยูโด (Judo) จะช่วยให้เด็ก ๆ สร้างชุดทักษะที่เมื่อเวลาผ่านไป จะสามารถมองเห็น และสามารถวัดได้
กิจกรรมจิตอาสา
การทำงานจิตอาสาเป็นสิ่งที่ช่วยปลูกฝังให้เด็กมีทักษะชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ การเสียสละ การมีน้ำใจ ความขยัน อดทน ความรับผิดชอบ การเข้าสังคม อ่อนน้อมถ่อมตน ลดความเห็นแก่ตัว มีเมตตาต่อกันทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือการเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น
แต่ข้อควรระวังคือการทำงานจิตอาสาแล้วถ่ายรูปโพสใน facebook หรือ instagram เพื่อจุดประสงค์ในการให้คนเข้ามาชมหรือคอมเม้นท์ เด็ก ๆ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากงานจิตอาสาที่แท้จริง
การสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบต่าง ๆ
การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจให้เด็ก ๆ เล่นเกม เกมอย่าง Minecraft, Roblox และ Fortnite เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถสร้างสรรค์โลกของเขาภายในเกมได้
ลองชวนลูกหลานมาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ นอกวิดีโอเกม ผ่านรูปแบบศิลปะต่าง ๆ เช่น ภาพวาด ประติมากรรม ดนตรี การเต้นรำ การแต่งเพลง การออกแบบท่าเต้น การสร้างผลงานชิ้นเอกผ่านงานศิลปะล้วนเป็นการแสดงออกถึงตัวตนของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง การเรียนรู้ทักษะเชิงสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ช่วยให้เด็ก ๆ เห็นพัฒนาการของตัวเอง และมีแรงจูงใจในการฝึกฝนงานศิลปะมากยิ่งขึ้น
การเล่นวิดีโอเกมบางเกมต้องใช้การจดจ่อ และความจำอย่างมาก ลักษณะของเกมที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม และความท้าทายอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ติดหน้าจอ การชักชวนเด็ก ๆ มาทำงานศิลปะทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้พลังและความทุ่มเทในการเรียนรู้ แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่วิดีโอเกม
การออกแบบกราฟิก
การออกแบบกราฟิกผสมผสานความรักในความคิดสร้างสรรค์และการสร้างสรรค์เข้ากับโลกดิจิทัล ซึ่งแม้จะเป็นการใช้เวลาอยู่หน้าจอเหมือนกับการเล่นเกม แต่ก็ทำให้ได้ฝึกฝนทักษะซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า
การออกแบบกราฟิกไม่เพียงแต่กระตุ้นสติปัญญาเท่านั้น แต่ในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน มันสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพที่ร่ำรวยได้ ตั้งแต่การออกแบบเว็บไซต์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมและแอนิเมชั่น ตัวเลือกอาชีพสำหรับนักออกแบบกราฟิกนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เด็ก ๆ อาจจะลองออกแบบวิดีโอเกมหรือเขียนโค้ดด้วยก็ได้
การทำสมาธิหรือฝึกสติ
การทำสมาธิ หรือฝึกสติ ในเด็กมีหลายวิธี ไม่ใช่การสอนเด็กนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถบูรณาการไปสู่กิจกรรมการเล่น การเคลื่อนไหว ศิลปะ หรือการออกกำลังได้ เช่น โยคะ ซึ่งรวมเอาการฝึกสติและการออกกำลังกายเข้าไว้ด้วยกัน
การฝึกสติ (Mindfulness) คือ การฝึกตระหนักรู้ตัวว่า “เรารู้สึก" หรือ "เรากระทำอะไร" ณ ปัจจุบันขณะ การฝึกสติและสมาธิ สามารถช่วยให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น มีอารมณ์ที่มั่นคง ใจเย็นมากขึ้น มีการตระหนักรู้ตัวมากขี้นว่าตัวเองกำลังทำอะไร สามารถรับมือกับความคิดและความรู้สึกเชิงลบได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้
กิจกรรม เช่น ให้เด็กเขียนสิ่งดีๆ เขียนขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กกลับมามองเห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะการพูดสิ่งดี ๆ กับตัวเองจะช่วยเปลี่ยน Mindset และสร้างความมั่นใจให้กับเด็กได้
พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจว่าทำไมลูกหลานถึงเล่นเกม เด็ก ๆ อาจเล่นเกมเพราะความสนุกสนาน ความตื่นเต้น ท้าทาย หรือผ่อนคลายความเครียด หากเด็ก ๆ มีกิจกรรมที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกแบบเดียวกับที่ได้รับจากการเล่นเกม พวกเขาก็จะไม่หมกหมุ่นกับเกมมากเกินไป แถมกิจกรรมต่าง ๆ ยังช่วยพัฒนาทักษะที่หลากหลายให้กับเด็ก ๆ อีกด้วย
เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์
รายการอ้างอิง
https://themindfulgamer.com/best-alternative-activities-to-playing-video-games/
https://happyschoolbreak.com/volunteer-enhance-skill/
https://thestatestimes.com/post/2021081802