window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

การใช้โซเชียลมีเดีย เชื่อมโยงกับ "ภาวะซึมเศร้า" โดยเฉพาะในวัยรุ่น

การใช้โซเชียลมีเดีย เชื่อมโยงกับ
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

การใช้โซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะในวัยรุ่น

สื่อโซเชียล ได้รับความนิยม และหลาย ๆ คนก็เสพสื่อโซเชียลอยู่เป็นประจำ วัยรุ่นใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการเชื่อมต่อกับผู้คน เข้าสังคม และบางครั้งอาจจะใช้เพื่อทำการบ้านกับเพื่อน ๆ อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้งานได้ ในบทความนี้จะพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตที่มีความเชื่อมโยงกับการใช้โซเชียลมีเดีย และเคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน

จากผลการศึกษาในปี 2019 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร EClinicalMedicine พบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้โซเชียลมีเดียกับอาการซึมเศร้าในเด็กอายุ 14 ปี แม้การศึกษานี้จะไม่ได้พิสูจน์ถึงสาเหตุ แต่ข้อค้นพบนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าควรตระหนักถึงความสัมพันธ์ของการใช้โซเชียลมีเดียกับอาการซึมเศร้า

นักวิจัยใช้ข้อมูลประชากรจาก UK Millennium Cohort Study ศึกษาในเด็กอายุ 14 ปี จำนวน 10,000 คนที่เกิดระหว่างปี 2000 ถึง 2002 ในสหราชอาณาจักร เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้โซเชียลมีเดียกับอาการซึมเศร้า

โดยภาพรวม เด็กผู้หญิงมีการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงมากกว่า 43% ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าสามชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่มี 21.9% ของเด็กผู้ชายที่ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าสามชั่วโมงต่อวัน

มีเด็กผู้หญิงเพียง 4% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย ในขณะที่เด็กผู้ชายที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย มีอยู่ 10% 

ผลการศึกษาพบว่า เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในการล่วงละเมิด หรือการคุกคามทางออนไลน์ในฐานะผู้กระทำผิดหรือเหยื่อ 38.7% เทียบกับ 25.1% สำหรับเด็กผู้ชาย และเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีความนับถือตนเองต่ำ มีความไม่พอใจในน้ำหนักของตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะไม่พอใจกับรูปลักษณ์ของตนเอง นอกจากนี้ การใช้โซเชียลมีเดียทำให้เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มนอนน้อยลง และโซเชียลมีเดียยังรบกวนการนอนอีกด้วย

นอกจากการศึกษาข้างต้นแล้ว ยังมีการศึกษาที่พบ ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้โซเชียลมีเดียกับอาการซึมเศร้า อีกหลายชิ้น

ในวัยรุ่นที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด (มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน) ผลการศึกษาพบว่าเด็กผู้หญิงมีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 50% (และ 35% ในเด็กผู้ชาย) เมื่อเปรียบเทียบอาการกับผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียเพียงวันละ 1-3 ชั่วโมงเท่านั้น

แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้ จะชี้ให้เห็นว่าเด็กผู้หญิงดูจะได้รับผลกระทบมากกว่า แต่เราก็ไม่สามารถมองข้ามความจริงที่ว่าการใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมาก ทำให้เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงเช่นกัน การใช้โซเชียลมีเดีย มีความเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางออนไลน์ การรบกวนการนอนหลับ ความพึงพอใจในรูปลักษณ์ และน้ำหนักตัวของเด็ก ๆ

การศึกษานี้มีข้อจำกัดบางประการ นั่นคือ ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์มาจากการรายงานตนเองของกลุ่มตัวอย่าง (self-report) เกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนและการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าการใช้โซเชียลมีเดียบ่อยครั้งทำให้เกิดอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า เด็กอายุ 14 ปีที่มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ามักใช้โซเชียลมีเดียเป็นกลไกในการเผชิญปัญหาหรือเชื่อมต่อกับผู้อื่น

โซเชียลมีเดียเป็นอันตรายต่อคนหนุ่มสาวเช่นกัน

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Social and Clinical Psychology  พบว่า ในกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีอายุ 18-22 ปี หากมีการใช้โซเชียลมีเดียน้อยลง จะทำให้ภาวะซึมเศร้าและความเหงาของนักศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สิ่งสำคัญ คือ การประเมินอย่างตรงไปตรงมาว่า การใช้โซเชียลมีเดีย ส่งผลต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นอย่างไร และอะไรเป็นสิ่งที่วัยรุ่นจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้

เคล็ดลับสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมให้วัยรุ่นมีการตัดสินใจที่ดีได้ ด้วยการมีส่วนร่วมในการสื่อสารที่เปิดกว้างและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย เปิดใจรับฟังความต้องการทางอารมณ์และสังคมของวัยรุ่น


1. แบ่งปันและพูดคุยเกี่ยวกับงานวิจัย

ตัวช่วยหนึ่งในการดูแลเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียของเด็ก ๆ คือ แอปพลิเคชันควบคุมโดยผู้ปกครอง (Parental control apps) ซึ่งเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ผู้ปกครองในการปิดโซเชียลมีเดีย และแอพอื่น ๆ บนอุปกรณ์ของเด็ก ๆ ในเวลาที่กำหนด พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบทุกกิจกรรมบนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของเด็ก ๆ ได้ แต่การพึ่งพาเครื่องมือเหล่านี้เพียงอย่างเดียวก็อาจจะทำลายความไว้วางใจ และส่งผลให้เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกถูกบีบบังคับได้

ดังนั้น แทนที่จะใช้แอปควบคุมโดยผู้ปกครอง พ่อแม่ผู้ปกครองอาจให้ความรู้แก่วัยรุ่น โดยอ่านงานวิจัยด้วยกัน พูดคุยเกี่ยวกับประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย และข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้น 

วัยรุ่นแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนอาจดิ้นรนกับวัฒนธรรมการเปรียบเทียบบน Instagram แต่บางคนอาจไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรทำความเข้าใจว่าลูกหลานใช้โซเชียลมีเดียอย่างไร และโซเชียลมีเดียส่งผลต่อลูกหลานอย่างไร สิ่งสำคัญ คือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็น “พวก” เดียวกันกับลูก ควรทำความเข้าใจความคิดความต้องการของเด็ก ๆ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่สามารถควบคุมโทรศัพท์ หรือควบคุมนิสัยการใช้โทรศัพท์ของเด็ก ๆ ตลอดไปได้


2. สร้างขอบเขตเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของครอบครัว

หากการใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น ในวัยผู้ใหญ่เองก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน การลดการใช้โซเชียลมีเดียจึงควรเป็นเรื่องของครอบครัว

ลองตั้งเป้าหมายในการลดการใช้โซเชียลมีเดีย แล้วติดตามผลการใช้โซเชียลมีเดียของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคน ดูว่าในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในโทรศัพท์มือถือมีการตั้งค่า Screen Time ที่จะช่วยได้

สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน หากต้องการให้เด็ก ๆ ใช้สื่ออย่างไร คุณก็ควรจะทำเช่นนั้นด้วย


3. คุยเรื่องสุขภาพจิต

วัยรุ่นยุคใหม่ใช้ชีวิตที่วุ่นวายและเต็มไปด้วยแรงกดดัน เมื่อต้องจดจ่ออยู่กับความพยายามเป็นในสิ่งที่คาดหวัง อาจเป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับอารมณ์ 

พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิต อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล และผลกระทบของวัยรุ่น ส่งเสริมให้ลูกหลานมีทักษะในการเผชิญปัญหา ตระหนักรู้ในอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และจัดการตนเองอย่างเหมาะสม หัวข้อเหล่านี้อาจรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยในบางครั้ง แต่สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ “พูดคุยกันได้” สร้างพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้สบายใจที่จะพูดคุยปรึกษาเรื่องทางใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ คนที่เปิดเผยเกี่ยวกับการต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต พ่อแม่ผู้ปกครองอาจใช้ตัวอย่างเหล่านี้ในการพูดคุยกับลูกหลานได้


4. เอาใจใส่ และเห็นอกเห็นใจ กับความท้าทายหรือความยากลำบากของเด็ก ๆ

ชีวิตวัยรุ่นในสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบัน ไม่เหมือนกัน หากเด็ก ๆ เจอความยากลำบากหรือความท้าทายในการใช้ชีวิต พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดใจรับฟังด้วยความเอาใจใส่และเห็นอกเห็นใจ

อิทธิพลจากเพื่อนฝูงทำให้วัยรุ่นเลิกใช้สื่อโซเชียลได้ยากมาก แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะส่งผลในทางลบต่อพวกเขาก็ตาม  สิ่งที่วัยรุ่นต้องการ คือ การเอาใจใส่และความเข้าใจ


5. ค้นหากิจกรรมอื่น ๆ ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วม

โซเชียลมีเดีย ให้ความสนุกสนานและการมีส่วนร่วม

วิธีที่ดีในการลดการใช้โซเชียลมีเดีย คือ การวางแผนกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ลืมโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเล่นกีฬา ไปดูหนัง เดินป่ากับเพื่อนๆ ฯลฯ พ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกหลานเพื่อดูว่ามีกิจกรรมใดที่เด็ก ๆ อยากทำมากกว่านี้หรือไม่

 

การสร้างนิสัยการใช้โซเชียลมีเดียที่ดี จะใช้เวลาและอาจมีทั้งขาขึ้นและขาลง เมื่อไหร่ที่เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับอารมณ์ที่ดีขึ้น และรู้สึกนับถือตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้โซเชียลมีเดียลดลง เมื่อนั้นความสมดุลที่ดีก็จะปรากฏขึ้น

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

รายการอ้างอิง

https://www.psycom.net/depression/depression-in-teens/social-media-and-teenage-depression

 

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com

 

Healthy Gamer