window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

สร้างนิสัยการใช้เวลาหน้าจอที่ดีให้กับลูก

สร้างนิสัยการใช้เวลาหน้าจอที่ดีให้กับลูก
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

สร้างนิสัยการใช้เวลาหน้าจอที่ดีให้กับลูก

การใช้เวลาหน้าจอ (Screen Time) คือ คำที่ใช้เรียกกิจกรรมต่าง ๆ บนหน้าจอดิจิทัล เช่น การดูทีวี การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การใช้มือถือหรือแท็บเล็ต หรือการเล่นวิดีโอเกม

การใช้เวลาหน้าจอเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลายประเภท ทั้งด้านการศึกษา และด้านความบันเทิง ทั้งแบบที่มีการโต้ตอบ เช่น การสนทนากับผู้อื่น และแบบที่ไม่มีการโต้ตอบ เช่น การดูรายการในช่องสตรีมมิ่ง

เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น และเข้าสู่วัยรุ่น มักจะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองกังวลว่าการที่ลูกหลานใช้เวลากับหน้าจอจำนวนมากจะส่งผลกระทบกับเด็ก ๆ หรือไม่ สิ่งสำคัญในเรื่องการใช้หน้าจอ คือ การใช้อย่างสมดุลกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเติบโตอย่างเข้มแข็ง

ความสัมพันธ์ที่ดีกับหน้าจอจะขึ้นอยู่กับประเภทของกิจกรรมที่เด็กๆ ทำทางออนไลน์ตลอดจนการสร้างสมดุลระหว่างเวลาหน้าจอกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การนอนหลับ การติดต่อกับครอบครัวและเพื่อน การออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การพูดคุยกับเด็กเรื่องเวลาการใช้หน้าจอมีความสำคัญ แต่อย่าบีบบังคับเด็ก ๆ จนเกินไป เพราะความขัดแย้งในครอบครัวเรื่องเวลาการใช้หน้าจออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กมากกว่าการใช้เวลาอยู่หน้าจอของเด็กเอง

 

กลยุทธ์ในการช่วยให้ทั้งครอบครัวมีนิสัยการใช้หน้าจอที่ดี คือ

  1. กำหนดขอบเขต กำหนดว่าพื้นที่ไหนที่เป็นเขตปลอดหน้าจอ กำหนดจำนวนเวลาการใช้หน้าจอในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ตั้งเป้าสร้างสมดุลของกิจกรรมตลอดทั้งสัปดาห์ เช่น อ่านหนังสือ อยู่กับครอบครัวและเพื่อน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถพูดคุยและสร้างข้อตกลงในการใช้สื่อสำหรับครอบครัวกับบุตรหลาน โดยมีการเขียนและลงชื่อไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจมีการแก้ไขกฎกติกาได้ ตัวอย่าง #สัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ
  2. เลือกเนื้อหาที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับวัยไม่จำเป็นว่าเด็ก ๆ จะต้องดูอะไรที่เป็นการศึกษาอยู่ตลอดเวลา แต่เวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกสื่อที่ให้ความบันเทิงสำหรับเด็ก ขอให้พิจารณาว่าสื่อความบันเทิงนั้นดึงดูดเด็กอย่างไรหากคุณมีลูกที่โตแล้ว อาจลองดูรีวิวออนไลน์ด้วยกันและช่วยค้นหารายการ เกม และแอปพลิเคชันที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สำรวจความสนใจ สร้างสรรค์ และเชื่อมต่อกับผู้อื่น
  3. ดูและเล่นด้วยกันเมื่อทำได้พ่อแม่ผู้ปกครองควรพยายามทำความเข้าใจ และชื่นชมสิ่งที่ลูก ๆ ทำถามคำถาม ให้พวกเขาอธิบายสิ่งต่าง ๆ และฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง
  4. มองเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประโยชน์หลายอย่างเด็ก ๆ อาจจะเคยชินกับการใช้แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนเพียงเพื่อเล่นเกม หรือเพื่อความบันเทิง แต่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีมีประโยชน์มากกว่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรแสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่าสามารถใช้อุปกรณ์สำหรับงานอื่น ๆ ได้ เช่น การส่งอีเมล การดูเส้นทาง และการค้นหาข้อมูลที่มีประโยชน์
  5. วิจารณ์สื่อพ่อแม่ผู้ปกครองควรช่วยให้บุตรหลานมีการคิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาดู โดยการพูดคุยกระตุ้นให้เด็ก ๆ คิดอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับสื่อที่ได้ดู ไม่ว่าจะเป็นรายการ หนังสือ และเกมที่พวกเขาชอบ ถามคำถามเช่น ใครทำรายการนี้? ทำไมถึงชอบตัวละครตัวนี้? คิดว่าอะไรทำให้ตัวละครทำแบบนั้น? คิดว่าทำไมเกมถึงต้องมีภารกิจให้ทำทุกวัน?
  6. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบุตรหลานพ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี วางอุปกรณ์ของคุณในช่วงเวลาครอบครัวปิดเสียงการแจ้งเตือนระหว่างมื้ออาหาร ปิดโทรทัศน์เมื่อไม่มีใครดู และพยายามอย่าทำงานหลายอย่างพร้อมกันขณะใช้อุปกรณ์

 

เคล็ดลับและคำถามเพื่อพูดคุยกับวัยรุ่นเกี่ยวกับนิสัยการใช้หน้าจอของพวกเขา

1. แสดงความสนใจในสิ่งที่เด็กกำลังทำทางออนไลน์

พยายามอย่าตัดสินสิ่งที่เด็ก ๆ ทำ หากลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองสนใจจริงๆ พวกเขาจะเปิดรับการพูดคุยมากขึ้น หากลูกวัยรุ่นลังเลที่จะพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกทำทางออนไลน์ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจลองสมัครใช้หนึ่งในแพลตฟอร์มยอดนิยม (TikTok ฯลฯ) แล้วขอให้ลูกหลานสอนวิธีการใช้งาน การทำความเข้าใจว่าเด็กและวัยรุ่นกำลังทำอะไรในโลกออนไลน์เป็นขั้นตอนแรกในการชี้นำไปสู่แนวทางที่ดีต่อสุขภาพ

ลองถาม :

  • ตอนนี้ลูกชอบแอพหรือเกมอะไรมากที่สุด?
  • โชว์ให้พ่อ/แม่ดูได้ไหมว่ามันเป็นอย่างไร?
  • ลูกชอบอะไรเกี่ยวกับเรื่อง/เกมนี้?
  • ใคร/แอคเคาท์ ไหนที่หนูชอบติดตาม?

2. ช่วยให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้ถึงนิสัยการใช้หน้าจอของพวกเขา

ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ บางครั้งก็อาจมีนิสัยในการใช้อุปกรณ์หน้าจอแบบที่ไม่ดีต่อสุขภาพ บางทีการใช้เวลาหน้าจอก็อาจรบกวนการนอนหลับ ความสัมพันธ์ หรือการเรียนรู้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการสร้างสมดุลในการใช้อุปกรณ์หน้าจอกับส่วนอื่นๆ ของชีวิต พ่อแม่อาจแชร์ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวพ่อแม่เองเพื่อสนทนากับลูกหลาน

ลองถาม :

  • ครอบครัวของเรามีนิสัยการใช้หน้าจอยังไงบ้างนะ(แชร์ตัวอย่าง เช่น เช็คโทรศัพท์เมื่อตื่นนอน หรือเล่นวิดีโอเกมก่อนนอน )
  • นิสัยการใช้หน้าจอของเรารบกวนการนอน การใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว รึเปล่า?
  • มีนิสัยใดที่เราควรพยายามเปลี่ยนไหม? เพราะอะไร?

3. พูดคุยเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์ของเด็ก ๆ

ช่วยให้เด็ก ๆ รู้ว่ากิจกรรมออนไลน์ทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร วัยรุ่นจำนวนมากใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อกับเพื่อน ๆ และเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิต แต่อย่างไรก็ตามโซเชียลมีเดียสามารถส่งผลเสียต่อวัยรุ่นบางคน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า

ลองถาม :

  • ลูกรู้สึกอย่างไรเมื่อเล่น (แอพต่าง ๆ)
  • ลูกเคยรู้สึกไม่สบายใจ กังวล เศร้า หรือวิตกกังวลไหม?
    • ถ้าใช่: อะไรทำให้ลูกรู้สึกแบบนั้น?
  • ลูกเคยรู้สึกว่าลูกใช้เวลาออนไลน์มากเกินไปไหม?
    • ถ้าใช่: เมื่อไหร่ที่รู้สึกอย่างนั้น?
    • ถ้าไม่มี: คิดว่าทำไม?
  • ลูกเคยรู้สึกกดดันเวลาออนไลน์ไหม?
    • ถ้าใช่: เมื่อไหร่ที่รู้สึกกดดัน? อะไรทำให้รู้สึกแบบนั้น?

4. พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำเมื่อมีความรู้สึกเชิงลบหรือต้องการเปลี่ยนนิสัยการใช้เวลาหน้าจอใหม่

พูดคุยถึงวิธีที่เด็ก ๆ สามารถลองใช้ได้เมื่อสังเกตว่าตัวเองรู้สึกไม่สบายใจ กังวล เศร้า หรือวิตกกังวลเวลาที่ออนไลน์ บอกลูกว่าสามารถมาพูดคุยกับพ่อแม่ได้ตลอดเวลา (หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้) หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

ลองถาม :

  • ลูกเคยคิดว่าจะกำหนดเวลาในการออนไลน์ไหม? อยากลองไหม? พ่อแม่ช่วยได้นะ
  • ลูกคิดว่ามีวิธีติดต่อกับเพื่อนๆ แบบที่ไม่ต้องออนไลน์ตลอดเวลาไหม?
  • ถ้ามีคนมารังควานลูก ลูกสามารถบล็อกคนเหล่านั้นได้นะ ลูกรู้วิธีการบล็อกรึเปล่า?

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

รายการอ้างอิง

https://www.commonsensemedia.org/articles/4-conversations-to-have-with-older-kids-and-teens-about-their-screen-time-habits

 

https://www.commonsensemedia.org/articles/how-can-i-help-my-kids-develop-good-screen-time-habits


ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com

 

Healthy Gamer