window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ดาบสองคมของการเล่นเกม

ดาบสองคมของการเล่นเกม
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ดาบสองคมของการเล่นเกม

 

“...การเล่นเกมสมัยนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ แล้ว มีอาชีพที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสตรีมเมอร์ ยูทูบเบอร์ นักกีฬาอีสปอร์ต ผู้พัฒนาเกม…”

 

ประโยคข้างต้นนี้ แอดมินเห็นด้วย แต่ก็รู้สึกว่าบางครั้งสังคมอาจสื่อสารในแง่มุมของเกมเมอร์ที่ประสบความสำเร็จซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ หลายคน อยากที่จะเจริญรอยตาม เอาจริงเอาจังกับการเล่นเกม ในขณะที่ความเป็นจริง การเล่นเกมเป็นอาชีพไม่ใช่เรื่องง่าย และน้อยคนที่จะทำได้ รวมทั้ง การเล่นเกมก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่อาจทำให้คนส่วนหนึ่งมีอาชีพ มีรายได้ที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็อาจทำให้หลาย ๆ คน สูญเสียโอกาสบางอย่าง เช่น โอกาสในการเรียน โอกาสในการทำงาน จนชีวิตตกต่ำลงเพราะเกมก็มีเช่นกัน

 

เกมมีข้อดีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะการรู้คิด เช่น เกม action ต้องใช้การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ผู้ที่เล่นเกมประเภท action จึงมีแนวโน้มการตัดสินใจได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ผู้ที่เล่นเกมประเภท shooter มีสมาธิในการจดจ่อสามารถเห็นและระบุสิ่งของได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากกว่า สำหรับเกม puzzle ก็สามารถพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาได้

 

ส่วนหนึ่ง การเล่นเกมทำให้ผู้เล่นได้ฝึกฝน พัฒนาให้มีความอดทน และมีพยายามที่จะบรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ เกมยังช่วยปรับอารมณ์ ทำให้ผู้เล่นมีอารมณ์ทางบวกเพิ่มขึ้นได้ หลาย ๆ คนเล่นเกมเพื่อผ่อนคลายจากความเครียด ทำให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้น ท้าทาย และที่สำคัญคือ หลาย ๆ คนมักจะได้เพื่อน ได้สังคมจากการเล่นเกม

 

ทั้งนี้ ผู้เล่นจะได้รับประโยชน์จากการเล่นเกมหรือไม่ และได้รับอย่างไร ก็จะขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเกมนั้น ๆ และสังคมของเกมนั้น ๆ ว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือทางลบ

 

สำหรับข้อเสียของเกม นอกจากจะสามารถทำให้เสพติดจนได้รับผลกระทบในด้านอื่น ๆ ของชีวิตแล้ว เกมหลายเกมก็มีเรื่องของความรุนแรง หรือสังคมในเกม ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามักจะมีความ “Toxic” เล่นแล้วอาจจะ “หัวร้อน” จนบางครั้งก็ทำให้เกมเมอร์เคยชินว่า ในสังคมเกมก็เป็นแบบนี้แหละ โวยวายด่ากันเป็นเรื่องปกติ... แอดมินอยากจะชวนมาตั้งคำถามต่อว่า มันเป็นแบบนี้แล้วมันจะดีเหรอ? เราจะให้ลูกหลานของเราเล่นเกมที่เป็นสังคมแบบนี้เหรอ?

 

ทัศนคติต่อการเล่นเกมในสมัยก่อน อาจจะมองว่าเกมเป็นเรื่องไร้สาระ เด็กติดเกม ก้าวร้าว หมดอนาคต แต่ปัจจุบัน การเล่นเกมก็สามารถกลายเป็นอาชีพได้จริง มีกิจกรรมทางการตลาดมากมายที่ส่งเสริมให้เด็ก ๆ เล่นเกม และแข่งเกม ทำให้เด็ก ๆ มีเหตุผลในการเล่นเกมมากขึ้น มีการนำเสนอเกมเมอร์ที่เป็นแบบอย่างความสำเร็จมากมายในแง่ที่ว่ามีรายได้มหาศาล แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องของสุขภาพใจของเหล่าเกมเมอร์ และเกมเมอร์ที่พยายามแต่ “ไม่ประสบความสำเร็จ”...แอดมินจึงอยากจะแชร์ประสบการณ์ในด้านนี้กับสังคมบ้างค่ะ

 

“มิน” เป็นเกมเมอร์คนหนึ่งที่อายุ 20 กว่า ๆ

 

สมัยเรียนประถมและมัธยม มินเป็นเด็กหัวดี เรียนเก่ง ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ ก็สามารถทำผลการเรียนที่ดีได้ พ่อแม่ก็ไม่ค่อยเป็นห่วง ปล่อยให้มินเล่นเกมแบบที่มินอยากเล่น อาจจะมีบ่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไร เพราะถึงแม้ว่ามินจะเล่นเกมเยอะ แต่ก็ยังมีผลการเรียนที่ดีอยู่

 

พอมินสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็ต้องไปอยู่หอ เพราะบ้านไกลจากมหาวิทยาลัย ทำให้มินมีอิสระอย่างแท้จริง ไม่มีพ่อแม่คอยบ่น อาจารย์ก็ไม่เช็คชื่อเวลาเข้าเรียน ทำให้มินหมกมุ่นกับการเล่นเกมมากขึ้น กิจวัตรประจำวันมีแค่การเล่นเกม กินข้าว และนอนอีกนิดหน่อยเท่านั้น

 

ช่วงนั้นกระแสอีสปอร์ตกำลังมาแรง มินจับกลุ่มซ้อมเล่นเกมกับเพื่อน หวังว่าจะไปแข่ง และเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตอาชีพ แม้ว่ามินจะเรียนในคณะวิศวะ แต่ก็ไม่ได้มีเป้าหมายหรือแรงจูงใจด้านนี้ เพียงแค่คะแนนถึงและพ่อแม่ก็แนะนำให้เรียน ทำให้พอได้มีโอกาสฝึกซ้อมเกม ได้ไปแข่ง และได้รับรางวัลมาบ้าง ก็รู้สึกมีเป้าหมาย เห็นถึงความเป็นไปได้ และอยากจะเอาดีทางด้านแข่งเกม จนละทิ้งความสำคัญของการเรียนวิศวะไป

 

มินใช้ชีวิตวนเวียนกับการเล่นเกมและฝึกซ้อมแข่งอยู่หลายเดือน จนกระทั่งผลการเรียนตก มินรู้สึกตกใจมากเพราะไม่เคยได้เกรดเฉลี่ยต่ำขนาดนี้มาก่อน มินรู้ตัวว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป จะต้องโดนรีไทร์แน่ ๆ มินเลยตัดสินใจที่จะซิ่ว โดยการย้ายคณะ ความคิดของมินตอนนั้น คือ อย่างน้อยก็อยากจะเรียนให้ได้ปริญญา แต่เรียนอะไรก็ได้ เรียน ๆ ไป ให้ได้ใบปริญญามาก็พอ ไม่ได้คิดในแง่การเอาความรู้ไปใช้ในอนาคตการทำงานเลย

 

มินย้ายไปเรียนคณะที่ง่ายกว่า และเรียนแค่พอให้ผ่าน ๆ ไป ในขณะที่ชีวิตอีกด้านหนึ่ง มินยังคงฝึกซ้อมเล่นเกม  เข้าร่วมการแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ จนมีผลงานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดทีมของมินก็ได้รับการทาบทามจากนายทุนเจ้าหนึ่งในการทำทีมอีสปอร์ตแบบมืออาชีพ

 

มินกับเพื่อน ๆ ดีใจมาก แต่ก็มีคนในทีมที่เกิดความรู้สึกลังเลใจขึ้นมา เพราะจากข้อเสนอของนายทุน ทำให้ต้องฝึกซ้อมหนักขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่เพื่อนรุ่นพี่ในทีม จะต้องฝึกงาน เพื่อให้สามารถจบการศึกษาได้ ทำให้เพื่อนขอถอนตัว และทีมของมินก็ต้องหาผู้เล่นคนใหม่

 

การทำทีมของมินประสบกับปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคนในทีม ปัญหาส่วนตัวของแต่ละคนที่ส่งผลกระทบกับทีม และที่สำคัญ คือ นายทุน ที่ตอนแรกเหมือนจะให้ข้อเสนอที่ดี น่าจูงใจ แต่พอเอาเข้าจริงก็เอาเปรียบผู้เล่น เช่น ให้ผู้เล่นออกเงินเองไปก่อนแล้วค่อยเอามาเบิก แต่ก็ไม่เคยจะเบิกอะไรได้เลย จนสุดท้ายก็เหมือนจะเทกันไปดื้อ ๆ

 

มินเล่าให้ฟังว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของวงการ ก็คือ “การขายฝัน” มีกลุ่มคนที่เห็นช่องว่างมาเอาเปรียบผู้เล่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน สุดท้ายแล้ว เด็ก ๆ ก็ต้องพบกับความจริงว่า ฝันที่เหมือนมาอยู่ตรงหน้า มันก็แค่การขายฝัน ที่อีกฝ่ายมากอบโกยผลประโยชน์บางอย่าง สุดท้ายตัวผู้เล่นเกมเองก็ไม่ได้อะไรกลับมา แถมบางคนยังเหมือนกับขาดทุนทั้งเวลาชีวิตที่เสียไป และเงินทองอีกต่างหาก

 

ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง แม้ว่ามินจะยังคงเล่นเกม แต่ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น มินก็เริ่มรู้สึกว่าเก่งไม่เท่าเด็ก ๆ รุ่นใหม่ แม้ว่ามินจะเรียนจบ แต่ก็ทำงานไม่ตรงสาย ไม่ได้มีความสุขกับการทำงาน แถมยังมีความคิดที่แว๊บขึ้นมาในหัวด้วยว่า “...ตอนนั้นน่าจะตั้งใจเรียนวิศวะมากกว่านี้ จะได้มีทางเลือกทำงานได้ดีกว่านี้ จะได้หาเงินได้เยอะกว่านี้...”

 

อาจจะเพราะว่าโตมากขึ้น ทำให้มินแบ่งเวลาในชีวิตมากกว่าสมัยเรียน มินยังคงมีความสุขกับการเล่นเกม แต่ก็หันมาให้ความสำคัญกับงานประจำมากกว่าหวังจะเล่นเกมเป็นอาชีพ มินยังคงรักในการเล่นเกม แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง เขา “ลงทุน” กับเกมด้วยเวลาในชีวิตมากเกินไป เขาไม่น่าจะจริงจังกับมันถึงขนาดนั้น

 

แอดมินหวังว่าเรื่องราวนี้ จะเป็นอีกด้านของเกม ที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึง “ดาบสองคม” ของเกมมากขึ้นนะคะ

อะไรที่ไม่พอดี ย่อมส่งผลเสียค่ะ

สิ่งสำคัญคือความสมดุล

Healthy Gamer ขอฝากไว้นะคะ เล่นเกมได้ แต่ควรแบ่งเวลาในการเล่นให้สมดุล เพื่อให้ชีวิตสมดุล

 

พ่อแม่ผู้ปกครอง มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยฝึกให้ลูกคิด วิเคราะห์

พ่อแม่สามารถชวนลูกพูดคุยถึงเรื่องราวต่าง ๆ ลองตั้งคำถามชวนให้เด็ก ๆ ได้คิด ได้มองเรื่องราวในหลาย ๆ มุม หากต้องตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญก็ควรหาข้อมูลหลาย ๆ ด้าน ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน มีการวางแผน ประเมินสถานการณ์ เผื่อทางเลือกให้กับตัวเองเยอะ ๆ โดยเมื่อคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในทางที่ดีแล้ว ก็อย่าลืมคิดถึงกรณีที่เลวร้าย หรือ worst case ด้วยนะคะ

 

ปล. เรื่องของมินดัดแปลงจากประสบการณ์จริงของเกมเมอร์ เพื่อไม่ให้กระทบกับบุคคลที่สาม

 

บทความโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์


ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer