window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

เล่นเกมแบบสุขภาพดี มีความสุข

เล่นเกมแบบสุขภาพดี มีความสุข
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เล่นเกมแบบสุขภาพดี มีความสุข

วิดีโอเกมเป็นรูปแบบความบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับเพื่อน ๆ เอาชนะความท้าทาย สำรวจโลกที่แตกต่าง พัฒนาไปสู่อาชีพที่น่าสนใจ หรืออาจจะเล่นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

 

การเล่นเกมเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้เล่นในลักษณะที่เหมือนกับสเปกตรัม คือ มีตั้งแต่ผลในด้านที่ดีต่อสุขภาพไปจนถึงปลายทางอีกด้านที่เป็นอันตรายต่อผู้เล่น

 

จากการสำรวจ จำนวนผู้เล่นเกมทั่วโลกมีอยู่กว่า 3 พันล้านคน ซึ่งนับว่าประมาณ 40% ของประชากรโลกเล่นวิดีโอเกม

 

คนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับการเล่นเกม โดยมีเกมเป็นหนึ่งในความสนใจท่ามกลางกิจกรรมหลากหลายที่พวกเขาชอบ อย่างไรก็ตาม เกมเมอร์ประมาณ 10% มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาในการเล่นเกม โดยการเล่นเกมส่งผลเสียต่อชีวิตของพวกเขา นอกจากนี้ การวิจัยพบว่า 2-3% ของเกมเมอร์ทั่วโลกประสบปัญหาการติดเกม ซึ่งโรคติดเกมเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ โดยผู้ที่เป็นโรคติดเกมจะมีอาการหลักคือ 1) ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ จนทำให้ทำกิจกรรมอื่นลดลง 2) มีความบกพร่องในการควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกม และ 3) แม้จะเกิดผลกระทบด้านลบแล้ว แต่ผู้นั้นยังคงเล่นเกมอย่างต่อเนื่อง

 

การเล่นเกมได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อผู้เล่นเกมมีจำนวนมากขึ้น ก็หมายถึงแนวโน้มที่จะมีผู้ที่ติดเกมมากขึ้นด้วย HealthyGamer.net อยากจะชวนทุกคนมาพัฒนานิสัยการเล่นเกมที่ดี เพื่อเป็นเกราะป้องกันให้ห่างไกลจากการติดเกมกันค่ะ

 

การเล่นเกมแบบที่ดีต่อสุขภาพคืออะไร?

คือ การที่ผู้คนเล่นเกมเป็นหนึ่งในกิจกรรมมากมายในชีวิต ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ไปทำงานหรือโรงเรียน มีเพื่อนในโลกแห่งความจริงเช่นเดียวกับเพื่อนออนไลน์ และเพลิดเพลินกับความสนใจอื่น ๆ นอกเหนือจากการเล่นเกม

การเล่นเกมแบบที่ไม่ดีต่อสุขภาพคืออะไร?

สำหรับบางคนที่เริ่มให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากขึ้น จนทำกิจกรรมอื่น ๆ น้อยลง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ครอบครัว และความสัมพันธ์กับผู้อื่น พวกเขาอาจจะกินไม่ตรงเวลา นอนหลับไม่สนิท ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ออกไปข้างนอก มีความวิตกกังวล อารมณ์หงุดหงิด และซึมเศร้า ผู้เล่นบางคนอาจรู้สึกโดดเดี่ยว วิตกกังวลมากขึ้น และมีปัญหาในการหาเพื่อนและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกแห่งความเป็นจริง

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าการเล่นเกมกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น

  • สูญเสียความสนใจในกีฬา สูญเสียความสนใจในเพื่อน สูญเสียความสนใจในโรงเรียน งาน หรืองานอดิเรกอื่นๆ
  • ให้ความสำคัญกับเกมมากกว่าอย่างอื่นในชีวิต พูดคุยแต่เรื่องเกี่ยวกับวิดีโอเกม
  • ขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ยกเว้นการเล่นเกม
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หดหู่ หรือวิตกกังวล
  • ไม่มีความสนใจ หรือรู้สึกยินดีในเรื่องใด ๆ
  • ออกห่างจากครอบครัวและเพื่อน
  • เริ่มมีนิสัยการกิน การนอน และสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น อาจไม่ได้แปรงฟัน ไม่ได้อาบน้ำ หรือเล่นเกมทั้งคืนจนไม่ได้นอน
  • บริโภคอาหารที่ไม่ดี
  • ใช้คาเฟอีนหรือสารกระตุ้นอื่น ๆ เพื่อเล่นเกม
  • มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดหลัง
  • โดดเรียน ไม่ไปทำงาน หรือออกจากการเรียน/การทำงาน
  • มีความขัดแย้งกับสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับเวลาที่ใช้ในการเล่นเกม และผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

บางครั้งเกมเมอร์อาจพยายามเล่นเกมน้อยลง แต่ไม่สามารถหยุด หรือลดการเล่นเกมลงได้ เกมเมอร์อาจโกหกเกี่ยวกับการเล่นเกม บางคนตื่นเพื่อเล่นเกมตลอดทั้งคืน ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีนสูงหรือสารกระตุ้นอื่น ๆ และได้รับผลกระทบจากการที่ไม่ได้นอน

 

เคล็ดลับการเล่นเกมแบบสุขภาพดี มีความสุข


สำหรับเด็ก

พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับผิดชอบในการกำหนดกฎ และข้อจำกัดสำหรับบุตรหลาน ดังนี้

  • ให้เล่นเกมในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน ไม่ใช่ห้องนอน
  • คอยถามบุตรหลานว่า กำลังเล่นอะไรอยู่ เพื่อตรวจสอบว่าเหมาะสมกับวัยหรือไม่ และจริง ๆ แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการเล่นเกมของเด็กด้วย
  • คอยดูว่าลูกเล่นเกมกับใครบ้าง
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ ทำการบ้าน และความรับผิดชอบอื่น ๆ เสร็จเรียบร้อยก่อนเล่นเกม
  • แนะนำเกมที่เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เกมเต้น
  • ให้เด็ก ๆ ได้เล่นในรูปแบบอื่น นอกเหนือจากการเล่นวิดีโอเกมด้วย เช่น เล่นกีฬา เล่นบอร์ดเกม
  • กระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้ออกไปข้างนอก และเล่นข้างนอก
  • หยุดเล่นเกมหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน
  • มีขีดจำกัดในการเล่นเกม เช่น เล่นไม่เกิน 30 นาทีในวันธรรมดา และไม่เกิน 1 ชั่วโมงในวันหยุด
  • พูดคุยกับเด็กให้แน่ใจว่าบุตรหลานเข้าใจว่าโลกออนไลน์มีอันตราย ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครในโลกออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง


สำหรับวัยรุ่น

พ่อแม่ผู้ปกครองและวัยรุ่นควรร่วมพูดคุยเรื่องข้อจำกัดและกฎกติกาการเล่นเกม ให้เป็นที่ยอมรับกันทั้งครอบครัว

  • ทำการบ้านและความรับผิดชอบอื่น ๆ ให้เสร็จก่อนเล่นเกม
  • มีช่วงหยุดพัก เพื่อเคลื่อนไหว และยืดเส้นยืดสาย
  • เล่นเกมในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน
  • หาเวลาสังสรรค์กับเพื่อนในชีวิตจริง
  • ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายทุกวัน หรือเล่นกีฬา ออกไปเดินเล่นข้างนอกทุกวัน
  • หยุดเล่นเกมหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน
  • กำหนด และทำตามขีดจำกัดที่ตั้งไว้ ว่าจะเล่นเท่าไหร่ อาจใช้นาฬิกาปลุกช่วย และหยุดเมื่อหมดเวลา ไม่ต่อเวลาเพิ่ม
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ จำกัดคาเฟอีนและสารกระตุ้น หลีกเลี่ยงอาหารขยะ
  • เข้าใจการเล่นเกมอย่างปลอดภัย โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์


สำหรับผู้ใหญ่

  • จำกัดการเล่นเกมให้อยู่ในเวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งทำตารางเวลา เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ มีความสมดุล
  • เล่นเกมนอกห้องนอน เพื่อไม่ให้รบกวนการนอนหลับ
  • ใช้นาฬิกาปลุก เพื่อเตือนเมื่อหมดเวลาเล่น หากคุณมักจะเผลอเล่นเกินเวลาที่ตั้งใจไว้
  • เลือกเกมที่เป็นประสบการณ์เชิงบวกแทนที่จะเป็นในเชิงลบ โดยเฉพาะเกมที่มีความ Toxic หรือเกมที่กระตุ้นให้เกิดการใช้เงินเกินตัว
  • ลดแสงสีฟ้าจากหน้าจอ โดยการใช้แว่นตาลดแสงสีฟ้า หรือตั้งค่าโหมดต่าง ๆ บนหน้าจอ เนื่องจากแสงสีฟ้ารบกวนการนอนหลับของคนเรา
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหยุดพัก เพื่อยืดเส้นยืดสาย และเคลื่อนไหวร่างกาย
  • จำกัดคาเฟอีนและสารกระตุ้นขณะเล่นเกม
  • กินอาหารเพื่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงอาหารขยะ
  • ตรวจสอบจำนวนเวลาที่ใช้ในการเล่นเกมทุกสัปดาห์ และปรับตารางเวลาให้เหมาะสม

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://gamequitters.com/healthy-gaming-habits/

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer