window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ปัญหาติดเกม...ไม่ใช่แค่ติดเกม

ปัญหาติดเกม...ไม่ใช่แค่ติดเกม

ปัญหาติดเกม...ไม่ใช่แค่ติดเกม

 

ปัญหาติดเกมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมก็มีทั้งด้านบวก และด้านลบ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นจะเล่นอย่างไร

 

มีข้อมูลที่ระบุว่า เกมมีผลเสียจริง แต่มีอัตราที่ต่ำมากกว่าที่สังคมสร้างภาพไว้

 

งานวิจัยเกี่ยวกับเกมและเด็กมีจำนวนมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีทั้งงานที่บอกผลเสียและบอกผลดี แต่ปัญหาของงานวิจัยที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก คือ ปัญหาอคติในการตีพิมพ์ โดยงานวิจัยที่บอกว่าสื่อส่งผลรุนแรงมากกับเด็กมักได้รับการตีพิมพ์ ส่วนงานวิจัยที่บอกว่าสื่อส่งผลรุนแรงน้อยมักไม่ค่อยได้รับการตีพิมพ์

 

งานวิจัยวิเคราะห์แบบอภิมาน (Meta-analysis) ในสหรัฐอเมริกา ปี 2015 มีการนำงานวิจัยเกี่ยวกับผลเสียของเกมด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องความก้าวร้าว พฤติกรรม การเรียน ซึมเศร้า และสมาธิสั้น จำนวน 101 งานวิจัยทั่วโลก มาคำนวณใหม่ร่วมกัน พบว่า เกมส่งผลเสียแบบที่พูดมาได้จริง แต่ในอัตราที่ต่ำมาก

 

ดังนั้น การบอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ “เกม” อาจเป็นการกลบปัญหาจริง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการติดเกมนั้น เพราะเกมเป็นเครื่องมือที่มีทั้งประโยชน์และโทษขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน

 

ปัจจัยที่ทำให้เด็กติดเกม เช่น

- พ่อแม่ที่ไม่มีเวลา อาจจะทำงาน ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมกับเด็ก ทำให้เด็กไม่รู้จะทำอะไร เหงาเบื่อ เลยไปเล่นเกม

- พ่อแม่ไม่ได้กำหนดกติกาการใช้งาน การเล่นเกมมาตั้งแต่แรก ใจอ่อนและไม่หนักแน่น

- พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างตามใจ หรือขาดการอบรมความมีระเบียบวินัย ไม่มีกติกาที่ชัดเจนมาแต่เดิม

- พ่อแม่ที่ไม่ค่อยพูดคุยสื่อสารกับลูก พอจะไปกำหนดกติกาการเล่น ลูกก็จะไม่ค่อยเชื่อฟัง

- พ่อแม่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิม เช่น พ่อแม่ที่เครียด กังวล ซึมเศร้า ทำให้มีผลกระทบ จัดการพฤติกรรมลูกตามอารมณ์ มีความขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ชัดเจน

- ครอบครัวมีความเครียดระหว่างกันบางอย่าง พ่อแม่กับเด็กไม่เข้าใจกันอยู่เดิม มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

- เด็กที่ติดเกมมีพบภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วย ทำให้แนวโน้มติดเกมง่ายขึ้น เช่น สมาธิสั้น ซึ่งพบร่วมกันกับการติดเกมได้บ่อย เด็กที่วิตกกังวล ซึมเศร้า มีความเครียดในชีวิตจริงอื่น ๆ ที่ทำให้ต้องมาหาความสุข ความผ่อนคลายในเกม เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน เด็กอาจไม่มีเพื่อน มีปัญหาการเข้าสังคมในโลกความเป็นจริง แต่พอมาเล่นเกมรู้สึกว่าได้รับความยอมรับจากเพื่อนในเกม

- เด็กขาดกิจกรรม งานอดิเรกอื่น ๆ ที่ทำแล้วสนุกมีความสุข

 

 

"จริงๆ ปัญหาเด็กติดเกมจะเปรียบเทียบให้เข้าใจเห็นภาพชัด มันเป็นเหมือน ยอดของภูเขาน้ำแข็งสิ่งที่เราเห็นมันนิดเดียว เราเห็นภาพเด็กนั่งเล่นเกม ไม่รู้จักควบคุมเวลา แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ ที่เราไม่เห็นด้วยตา มันยังมีอีกเยอะ มันคือปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน มันคือต้นตอของปัญหาทั้งหมด

พอมีปัญหาเหล่านี้ เด็กก็ต้องแสวงหาที่ที่เขารู้สึกปลอดภัย เขาถึงต้องใช้เกมเป็นทางออก เพราะฉะนั้นสเต็ปแรกที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ก่อนจะพาลูกออกจากเกมได้ คือการเข้าใจที่มาที่ไปว่าเพราะอะไรลูกถึงต้องใช้เกมเป็นทางออก"

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สัมภาษณ์ในรายการ “LET ME GROW พลิกชีวิตเด็กติดเกม”

 

 

ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่จะแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจลูกก่อนว่าเพราะอะไรลูกถึงเล่นเกม จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด สิ่งสำคัญ คือ การมีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และกฎกติกาการเล่นเกมที่ต้องพูดคุยให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้ง ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อค้นหาความชอบ ความถนัด และตัวตนของเด็ก ก็จะช่วยให้การติดเกมลดลงได้

 

หากเด็กชอบเล่นเกมแล้วอยากที่จะเอาดีทางนี้ ก็ควรส่งเสริมให้เด็กมีการวางแผนว่าจะพัฒนาทักษะอย่างไร เพื่อไปสู่เป้าหมาย ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบหลักที่ยังต้องมีอยู่ และมีแผนสำรอง หากผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง


ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer