window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

แก้ติดเกม ด้วยการบังคับให้เล่นเกมทั้งวัน?

แก้ติดเกม ด้วยการบังคับให้เล่นเกมทั้งวัน?
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

แก้ติดเกม ด้วยการบังคับให้เล่นเกมทั้งวัน?

 

มีรายงานข่าว ระบุว่า เด็กชายชั้น ป.3 จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ติดเกมในโทรศัพท์มือถือขนาดหนัก เมื่อครูเข้ามาเกลี้ยกล่อมให้เขาตั้งใจเรียนหนังสือ เขากลับตอบไปว่า "ผมไม่อยากเรียนอีกแล้ว ผมอยากเล่นเกม" และอยากจะหยุดเรียนมาเล่นเกมเฉย ๆ ด้วย

 

ผู้ปกครองของเด็กชายวัย 8 ปี ได้พูดคุยกับครูประจำชั้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ลูกติดเกมออนไลน์...ในเมื่อลูกอยากเล่นเกมนักก็จะให้ได้เล่นสมใจ ด้วยเหตุนี้ แม่ของเด็กชายจึงให้ลูกลาหยุด เพื่อให้เขาได้จดจ่อกับการเล่นเกมอยู่ที่บ้านอย่างเต็มที่ พร้อมกำหนดตารางการเล่นเกมให้ลูกชายแบบจริงจัง

 

ตารางที่พ่อแม่กำหนดให้ลูกชายคือ ให้เล่นเกมวันละ 16 ชั่วโมง กินอาหาร 3 มื้อตามเวลาปกติ และต้องทำ KPI หรือ Key Performance Indicator หรือดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน รวมทั้งเขียนสรุปผลการเล่นเกมในตอนเที่ยงและตอนเย็นของทุกวัน

 

คุณแม่ระบุว่า ในวันแรกลูกชายตื่นเต้นมาก ๆ ที่จะได้เล่นเกมอย่างเต็มที่ ในวันที่ 2 ก็ยังดูดี สามารถลุกขึ้นจากเตียงในตอนเช้าได้โดยใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ทั้งที่ปกติจะต้องงัวเงียอยู่เช่นนั้นเป็นครึ่งชั่วโมง กว่าจะพร้อมทำอย่างอื่น

 

ในวันนั้นลูกชายเขียนรายงานการเล่นเกมตามปกติ โดยพบว่าช่วงเช้าเขาเล่นไป 18 รอบ และสามารถเข้าถึงอันดับที่น่าพอใจเพียง 5 รอบเท่านั้น แม่จึงให้คำชี้แนะต่าง ๆ รวมถึงตรวจทานรายงานของลูก พร้อมชี้ข้อผิดพลาดในการเขียนรายงานของเขา ทั้งเรื่องการใช้เครื่องหมายต่าง ๆ การเขียนที่ไม่ไหลลื่น และย้ำว่าหากเขายังเขียนได้ไม่ดี ก็ต้องนั่งเขียนรายงานใหม่

 

เมื่อเข้าสู่วันที่ 3 คุณแม่กล่าวว่า ลูกชายเริ่มแสดงอาการเบื่อหน่ายต่อการเล่นเกม ต่างจากวันแรกที่ดูกระตือรือร้น พร้อมกับความสนใจในการเล่นเกมของลูกที่ค่อย ๆ หายไป

 

คุณแม่ยังระบุเพิ่มเติมว่า การที่กำหนดแบบแผนขึ้นมาให้ลูกเล่นเกมเพียงเพื่อให้เขารู้ว่า แม้จะเป็นการเล่นเกมแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายขนาดนั้น

 

จากรายงานข่าวนี้

  • เราไม่รู้ว่า ผู้ปกครองกับครูได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาอย่างไรบ้างก่อนหน้านี้
  • เราไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว เด็กเล่นเกมเพราะอะไรกันแน่ เด็กอาจเล่นเกมเพราะเกมสนุก หรือเด็กอาจมีปัญหาการเรียน หรือมีความทุกข์จนต้องหันไปเล่นเกม เพื่อหลีกหนีจากเรื่องแย่ ๆ ในชีวิต
  • เราไม่รู้ว่า เด็กชอบเล่นเกมมากจริง ๆ หรืออาจเป็นเพราะเด็กไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เขารู้สึกสนุก หรือผ่อนคลายความเครียดได้

 

วิธีการแก้ปัญหาในทำนอง “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ดูเหมือนจะได้ผล มีผู้คนที่เห็นด้วยกับผู้ปกครองของเด็กรายนี้พอสมควร เพราะทำให้ลูกเบื่อหน่ายการเล่นเกม และอยากเล่นเกมน้อยลงได้

 

แต่แอดมินก็อยากชวนมามองอีกมุมหนึ่งว่า แม้ดูเหมือนวิธีการนี้จะแก้ปัญหาได้ แต่อาจไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา หากไม่ได้พิจารณาและวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงว่าเพราะอะไรเด็กถึงอยากเล่นแต่เกม และไม่อยากเรียนหนังสือ ปัญหานั้นก็อาจยังคงอยู่ และอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นได้

 

สำหรับสาเหตุของการติดเกมนั้น เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งปัจจัยด้านชีวภาพ จิตใจ และสังคม (biopsychosocial factors)

 

ปัจจัยด้านชีวภาพ (biological factors)

พันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของสารเคมีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง เกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ และการจัดการรางวัล (reward processing) คนที่สมองส่วนจัดการรางวัลมีความผิดปกติ จะไม่มีความสุขจากการทำกิจกรรมทั่ว ๆ ไป จึงหันไปพึ่งความสุขจากเกมแทน

มีการศึกษาวิจัยสมองของคนที่เสพติดเกม พบว่ามีวงจรการทำงานของสมองที่ผิดปกติเหมือนคนที่ติดสารเสพติด ทั้งความผิดปกติทางด้านโครงสร้าง การทำงาน และสารสื่อประสาท

แต่ละคนมีความเปราะบางต่อการติดเกมไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เล่นเกมจะต้องเสพติดเกมเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพียงแต่การที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ โรคทางจิตเวชที่พบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD) โรคดื้อต่อต้าน/เกเร (ODD/conduct disorder) โรคซึมเศร้า (Depression) โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)

 

ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม (psychosocial factors) ตัวอย่างเช่น

- เกมในปัจจุบันมักถูกสร้างขึ้นมาให้มีคุณลักษณะที่จะติดได้ง่าย เช่น เกมที่ต้องมีการใช้เงินซื้อของ ซื้อไอเทมต่าง ๆ เพื่อเลื่อนระดับของการเล่นเกม หรือบางคนเวลาเล่นเกมเก่งจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้นำ มีคนมานับถือ สามารถช่วยเหลือผู้อื่นในเกมได้ ทำให้เกิดความภูมิใจแบบไม่เหมาะสม โดยขาดความภูมิใจในชีวิตจริง เช่น บางคนอาจจะเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าสื่อสารกับคนอื่น แต่สามารถสื่อสารผ่านเกมได้ดีกว่า จึงทำให้หันไปใช้สื่อพวกนี้มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกของความจริง

- มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากคนอื่น การเล่นเกมชนะ ได้อันดับดี มีชื่อเสียงในโลกของเกม ได้แรงเสริมทางบวกจากการเล่นเกม เช่น ได้รับคำชม จะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ

- การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (Poor disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ดี เมื่อเริ่มเล่นเกมแล้วจะติดพัน เล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่รู้หน้าที่ เช่น การเรียน กิจวัตรประจำวัน โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้สอนตักเตือน หรือแค่พูดห้ามไม่ให้เล่น แต่ไม่ได้ลงมือหยุดการเล่นเกมของเด็กอย่างจริงจัง

- ปัญหาครอบครัว (Family dysfunction) ทำให้เด็กมีความเครียดเกิดขึ้น เด็กเล่นเกมเพื่อเป็นการระบายความเครียด

- การขาดต้นแบบที่ดี (Poor role model) บางครอบครัวตัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน

- มีกลุ่มเพื่อนที่โน้มน้าวกดดันให้ต้องเล่น (Peer pressure) ต้องเล่นเพื่อให้เพื่อนยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

 

วิธีการแก้ปัญหา อาจมีหลากหลายวิธีการ พ่อแม่ผู้ปกครองควรใช้วิจารณญาณในการเลือกจัดการกับปัญหาพฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสมนะคะ

 

สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาการติดเกม คือ “กฎระเบียบที่ดี” กับ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ซึ่งต้องบริหารให้ควบคู่กัน โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาความสัมพันธ์ หากเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กได้ เด็กก็จะเชื่อฟังมากขึ้น และหากเด็กมีภาวะหรือปัญหาสุขภาพจิตที่พบร่วมก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วย แล้วการแก้ไขการติดเกมก็จะง่ายขึ้น

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://hilight.kapook.com/view/229045

https://www.thainewsonline.co/news/social/844400

https://www.amarintv.com/news/detail/157622

https://www.manarom.com/blog/GameAddiction.html

https://www.thairath.co.th/scoop/1143093

 

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com

 

 

Healthy Gamer