window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

อย่ามัวแต่ห้ามไม่ให้ลูกเล่นเกม จนความสัมพันธ์กับลูกแย่ลง

อย่ามัวแต่ห้ามไม่ให้ลูกเล่นเกม จนความสัมพันธ์กับลูกแย่ลง
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

อย่ามัวแต่ห้ามไม่ให้ลูกเล่นเกม จนความสัมพันธ์กับลูกแย่ลง

 

เกม เป็นอะไรได้หลายอย่างสำหรับเด็ก

เกมเป็นได้ทั้งความสนุก เป็นเพื่อน เป็นสังคมของเด็ก

เด็กอาจได้เรียนรู้ทักษะอะไรบางอย่างจากเกม หรือหากเด็กมีเรื่องราวที่ไม่สบายใจในชีวิต เกมก็สามารถเป็น “เซฟโซน” หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับเด็กได้เช่นกัน

 

ในขณะที่เกม ก็มีผลเสียหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาการติดเกม ที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ คน กังวลว่าลูกหลานอาจจะเล่นเกมจนติดเกมได้ จึงไม่อยากให้ลูกหลานเล่นเกมมากนัก

 

พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนมีการตั้งกฎกติกาการเล่นเกมของลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ในการฝึกวินัย ฝึกการควบคุมตนเอง ให้เด็กสามารถเล่นเกมอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกหลานติดเกม

 

แต่บางครอบครัวก็อาจประสบปัญหา เช่น ควบคุมเวลาการเล่นไม่ได้ ไม่เข้าใจกัน ทะเลาะกันบ่อย ๆ ในเรื่องของการเล่นเกม

 

พ่อแม่อาจรู้สึกว่าลูกเริ่มติดเกม เกมทำให้เกิดปัญหา

ในขณะที่ลูกอาจรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ

 

พ่อแม่คอยพูด คอยบอก...คาดหวังให้ลูกปรับปรุงตัว

แต่วิธีการสื่อสาร เช่น

 

  • เอาแต่บ่น เอาแต่ตำหนิ

“เล่นเกมอีกแล้วนะ”

“เล่นแต่เกมอยู่ได้ เลิกเล่นได้แล้ว”

“วัน ๆ เล่นแต่เกม ไม่เห็นทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง”

 

  • คอยจ้องจับผิด

“เปิดคอมนี่เล่นเกมหรือทำการบ้านกันแน่”

“ทำการบ้านเสร็จรึยัง ไม่ใช่ว่าแอบเล่นเกมนะ”

 

วิธีการเหล่านี้ ทำให้คนฟังสับสน ไม่เข้าใจว่าแล้วจะให้ทำอะไร และฟังแล้วรู้สึกไม่ดี

ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวย่ำแย่

หากเด็กอยู่ตรงไหน ทำอะไรแล้วสบายใจ เด็กก็จะไปตรงนั้น

หลายครั้งปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่เกม เพียงแต่เกมเป็น “เซฟโซน” หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” ทำให้เด็กหาทางออกของปัญหา ด้วยการไปเล่นเกม

 

การเล่นเกม มีทั้งด้านบวก และด้านลบ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นจะเล่นอย่างไร

สำหรับเด็กแล้ว เกมมักจะเป็นด้านที่มีความสุขของเขา

หากพ่อแม่มองว่าเกมเป็นผู้ร้าย หรือเป็นสิ่งที่ไม่ดี ย่อมหมายความว่า พ่อแม่กับลูก ไม่เข้าใจกัน

 

คงจะดีกว่าหากทุกคนพูดคุยกัน เพื่อหาจุดที่สมดุลของการเล่นเกม

…พ่อแม่ เข้าใจว่า เกมให้อะไรหลาย ๆ อย่างกับลูก เป็นทั้งความบันเทิง สังคม เพื่อน และฝึกทักษะบางอย่าง

…ลูก เข้าใจว่า การเล่นเกม ควรเล่นอย่างพอดี เล่นอย่างมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น และยังมีอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่น่าสนุก น่าเรียนรู้ นอกจากการเล่นเกม

 

อย่ามัวแต่ห้ามไม่ให้ลูกเล่นเกม จนความสัมพันธ์กับลูกแย่ลง นะคะ

เพราะบางครั้ง อาจทำให้ลูกอยากหันหน้าเข้าหาเกมมากกว่าเดิมอีกค่ะ

 

สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำ

 

1. ทำความเข้าใจร่วมกันทั้งครอบครัว ในเรื่องของกติกาการเล่นเกม ซึ่งควรตกลงกันเรื่องของการลงโทษหากลูกทำตามกติกาไม่ได้ด้วย เช่น ให้งดเกมในวันถัดไป

ในทางปฏิบัติ พ่อแม่ควรใจดี แต่ไม่ใจอ่อน ในการฝึกวินัยลูก เน้นการสื่อสารทางบวก หลีกเลี่ยงการตำหนิ หากลูกทำตามกติกาไม่ได้ ก็ให้ลงโทษตามที่ตกลงไว้ และพ่อแม่ควรให้กำลังใจให้ลูก รวมทั้งพูดคุยกับลูกว่าพ่อแม่จะช่วยเหลือได้อย่างไร

  • ทำการบ้านและความรับผิดชอบอื่น ๆ ให้เสร็จก่อนเล่นเกม
  • เล่นเกมในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน
  • หยุดเล่นเกมหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน
  • กำหนด และทำตามขีดจำกัดที่ตั้งไว้ ว่าจะเล่นเท่าไหร่ อาจใช้นาฬิกาปลุกช่วย และหยุดเมื่อหมดเวลา ไม่ต่อเวลาเพิ่ม

2. เพิ่มเวลาคุณภาพ โดยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างเสริมสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เช่น การออกกำลังกาย การเล่นบอร์ดเกม การออกไปเที่ยว การร้องเพลง เป็นต้น

3. ต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกมีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง โดยควรฟังลูก ศึกษาในสิ่งที่ลูกสนใจ พยายามเข้าใจ และพูดคุยภาษาเดียวกันกับลูก

4. ส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมที่หลากหลาย เนื่องจากบางครั้งเด็ก ๆ ก็เล่นเกม เพราะไม่รู้จะทำอะไร หรือไม่มีอะไรทำ หากลูกได้ลองทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง เขาอาจได้รู้จักตัวเอง มีเป้าหมายในอนาคต และไม่หมกมุ่นอยู่แต่กับเกมเพียงอย่างเดียว

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com

 

Healthy Gamer