window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ชีวิตมันเครียด! ก็เลยต้องเล่นเกม จริงหรือ?

ชีวิตมันเครียด! ก็เลยต้องเล่นเกม จริงหรือ?
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ชีวิตมันเครียด! ก็เลยต้องเล่นเกม จริงหรือ?

 

สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ เกมมักจะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน บันเทิงใจ

 

ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละวัน ทำให้เมื่อเลิกเรียน หรือเลิกงาน ก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเกมก็เป็นกิจกรรมยอดนิยมที่ผู้คนมักจะเล่นเพื่อความสนุกสนาน และผ่อนคลายจากความเครียด  

 

พ่อแม่บางส่วนก็อาจจะมองว่า ลูกเรียนมาหนักทั้งวันแล้ว ก็เลยให้ลูกเล่นเกมจะได้คลายเครียดบ้าง

 

ความจริงแล้ว กิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียนที่ดี ควรเป็นกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย จะช่วยลดความเมื่อยล้าจากภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวจากท่าทางในการนั่งเรียน นอกจากนี้ เด็กควรมีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อค้นหาความชอบและความถนัดของตนเอง เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายและเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองได้ด้วย

 

ในงานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า การเล่นเกมสามารถช่วยลดความเครียดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยอีกส่วนหนึ่งที่พบว่า การเล่นเกมก็อาจก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน โดยเฉพาะเกมที่เป็นเกมการแข่งขัน ซึ่งเมื่อเราเล่นแล้วก็อยากจะชนะ ดังนั้น หากเล่นแพ้ จึงอาจก่อให้เกิดประสบการณ์ในทางลบได้

 

นอกจากนี้ คนที่เล่นเกม เพื่อหลีกหนีจากปัญหาในชีวิตจริง หรือเล่นเกมแล้วผัดวันประกันพรุ่งต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองไปเรื่อย ๆ นั่นก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาการเล่นเกมอย่างไม่เหมาะสม

 

สำหรับใครที่มักจะเล่นเกมเพื่อคลายเครียด แอดมินอยากชวนมาจัดการกับความเครียดแบบที่ไม่ใช่การเล่นเกมกันบ้าง

 

และสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรสอนให้เด็ก ๆ รู้จักวิธีการจัดการกับความเครียดที่หลากหลาย และสร้างสรรค์ เด็ก ๆ จะได้ไม่หันหน้าเข้าหาแต่เกมค่ะ

 

7 วิธีจัดการความเครียด แบบที่ไม่ใช้เกม

 

1. ออกกำลังกาย

การทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ และสามารถทำได้ง่าย ซึ่งการออกกำลังกายในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการออกแรงอย่างหนัก แต่เพียงแค่เดินปกติสัก 10 นาที หันเหความสนใจจากความเครียดบ้างก็ได้ผลแล้ว และถ้ามีเวลาก็ควรออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้ฮอร์โมนแห่งความสุขทำงานได้อย่างเต็มที่ ลองหาการออกกำลังกายในแบบที่ชอบและทำให้เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอนะคะ

 

2. ฝึกคิดถึงสิ่งดี ๆ

ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Practice gratitude คือ การที่เราฝึกคิดถึงสิ่งดี ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ

ฝึกขอบคุณและซาบซึ้งในสิ่งที่ตนเองมีและสิ่งที่เข้ามาในชีวิต เช่น ขอบคุณตัวเองที่ยังมีกำลังใจพร้อมสู้ต่อ ขอบคุณครอบครัวที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือ ขอบคุณอุปสรรคที่เข้ามาทำให้ได้เรียนรู้และแข็งแกร่งขึ้น

โดยวิธีการคิดแบบขอบคุณและซาบซึ้งในสิ่งต่าง ๆ จะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดจากด้านลบไปเป็นด้านบวกได้

ซึ่งการคิดถึงสิ่งดี ๆ เป็นประจำจะช่วยให้เป็นคนคิดบวก เพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเอง เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และลดความคิดด้านลบที่ทำให้เครียดได้

วิธีการฝึก เช่น การเขียนถึง 5 สิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณในแต่ละสัปดาห์ การทบทวนก่อนนอนว่าวันที่กำลังจะผ่านไปวันนี้ เรามีอะไรที่เรารู้สึกขอบคุณบ้าง

 

3. ช่วยเหลือผู้อื่น

การอาสาช่วยเหลือผู้อื่น จะทำให้เราได้เห็นมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดของตนเองได้ นอกจากนี้ การได้ช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้เราได้ตระหนักว่า เราไม่ใช้คนเดียวที่เจอกับความท้าทายในชีวิต ซึ่งจะช่วยให้ความเครียดที่เรากำลังประสบลดลงได้

 

4. เขียนบันทึก

การเขียนสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา จะช่วยให้เราสามารถเรียบเรียง และจัดการกับความคิดได้เป็นระบบมากขึ้น โดยการเขียนจะช่วยให้เราเห็นแง่มุมและวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งเราสามารถเลือกที่จะโฟกัสในสิ่งที่เราทำได้

บางครั้ง เมื่อเด็กมีเรื่องบางอย่างที่ไม่อยากเล่าให้ใครฟัง ก็สามารถระบายความในใจและความรู้สึกลงในสมุดบันทึกส่วนตัวได้ ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายและมีความสุขขึ้นได้

 

5. คุยกับใครสักคน

การแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตกับใครสักคน สามารถช่วยให้ความเครียดลดลงได้

การที่พ่อแม่ผู้ปกครองคอยรับฟังลูกหลานอย่างตั้งใจ และไม่ตัดสิน จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พ่อแม่ฟัง ซึ่งการได้เล่าออกมา ก็สามารถช่วยให้ความเครียด ความไม่สบายใจลดลงได้

 

6. หางานอดิเรกที่สนใจ

การลงมือทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น งานศิลปะ การประดิษฐ์ การวาดภาพ การเล่นดนตรี การทำอาหาร การเรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจ จะช่วยให้เราได้พักจากความเครียด แล้วหลังจากนั้น ความรู้สึกและพลังของเราก็จะพร้อมกลับมาเผชิญหน้าและจัดการกับความท้าทายในชีวิตต่อ นอกจากนี้ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ยังช่วยให้เด็กได้มีโอกาสค้นหาความชอบและความถนัดของตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองได้ด้วย

 

7. ฝึกสมาธิ

การใช้เวลาทำสมาธิและสังเกตลมหายใจของตนเอง สามารถช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และช่วยให้อารมณ์ของเราดีขึ้นได้ การฝึกสมาธิจะช่วยให้ความคิดที่อัดแน่นอยู่ในหัวสงบลง ทำให้ความเครียดลดลง และเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา ฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ขั้นตอนในการฝึกสมาธิได้แก่

     1) ฝึกหยุดความคิด

            ให้นั่งตัวตรง ศีรษะตรง หลับตาเบา ๆ หายใจเข้าออกยาว ๆ รับรู้ลมหายใจที่มาสัมผัสบริเวณปลายจมูก การรับรู้ลมหายใจจะทำให้หยุดคิด

     2) ฝึกจัดการความคิดที่เกิดขึ้นมาในใจ

            โดยให้รู้ตัวว่ามีความคิดเกิดขึ้น แต่อย่าคิดตาม ปลดปล่อยความคิดนั้นไป และกลับมาหยุดคิดโดยการรู้ลมหายใจที่ปลายจมูก อย่าสั่งให้ตัวเองหยุดคิดหรือว้าวุ่นกับความคิด เพราะจะทำให้จิตไม่สงบ

     3) ฝึกจัดการความง่วง

            ให้พยายามยืดตัวให้ตรง เพื่อให้ร่างกายตื่นตัว หายใจเข้าออกยาว ๆ เมื่อหายง่วงก็ให้กลับมารับรู้ลมหายใจที่ปลายจมูกเหมือนเดิม

 

แต่ละคนอาจเลือกจัดการความเครียดด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามที่รู้สึกเหมาะกับตัวเอง

 

สำหรับใครที่จะใช้การเล่นเกม เป็นวิธีการจัดการกับความเครียด แอดมินอยากให้พึ่งระวังไว้ว่า

  • อย่าให้เกมมาทำให้เราเครียดมากกว่าเดิม
  • เลือกเกมที่เล่นแล้วสนุก ไม่ใช่เล่นแล้วหัวร้อน
  • คอยถามตัวเองว่า เล่นเกมทำไม ถ้าคำตอบ คือ เล่นเพราะกำลังหลีกหนีอะไรบางอย่าง เช่น ไม่อยากทำงาน ไม่อยากทำการบ้าน ไม่อยากเจอหน้าใคร จนกระทั่งเล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ...นั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก เพราะคุณอาจกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางของการติดเกม

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://gamequitters.com/do-video-games-reduce-stress/#:~:text=Video%20games%20are%20relaxing,way%20to%20relax%20and%20unwind.

https://www.facebook.com/PsychologyChula/photos/a.1193190230795388/1415247251923017/

https://www.sansanook.com/knowledge/สอนให้ลูกเขียนบันทึกปร/

https://nph.go.th/?p=2267



ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer