ปกป้องลูกหลานจากภัยออนไลน์
แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะมีประโยชน์มากมาย เช่น ประโยชน์ในแง่ของการศึกษาหาความรู้ การติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น และความบันเทิง แต่พื้นที่ของการใช้อินเทอร์เน็ต หรือโลกออนไลน์นี้ก็อาจก่อให้เกิดภัยอันตรายได้กับผู้ใช้งานทุกคน โดยกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นเด็กและเยาวชนนั้น มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อภัยออนไลน์มากกว่าผู้ใหญ่
สิ่งที่อาจตามมาหลอกหลอนเด็ก ๆ ที่รู้ไม่เท่าทันภัยออนไลน์ อาจเป็นเหล่าผู้ล่า (cyber predator) ที่แสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก หรือโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่เด็ก ๆ อาจโพสต์ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เด็ก ๆ ต้องเสียใจภายหลัง ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลอกหลอนเด็ก ๆ นั้น อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อจิตใจ ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน นอกจากนี้ เด็ก ๆ อาจทำให้ครอบครัวประสบกับภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การดาวน์โหลดมัลแวร์ โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจทำให้มิจฉาชีพ หรืออาชญากรไซเบอร์เข้าถึงบัญชีธนาคารของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่น ๆ ได้
การที่จะปกป้องลูกหลานจากภัยออนไลน์นั้น สิ่งสำคัญ คือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตระหนักว่า โลกออนไลน์มีภัยอันตรายแฝงตัวอยู่ และรู้เท่าทันวิธีการที่จะช่วยให้ลูกหลานปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต
มาตรการความปลอดภัยที่สำคัญที่สุด คือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองคอยสังเกต พูดคุย สื่อสารกับลูกหลานอยู่เสมอ
ภัยออนไลน์ที่เด็ก ๆ มักพบได้บ่อย คือ
1. การกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
วัยรุ่นส่วนใหญ่ หรือ 90% ยอมรับว่า การกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์เป็นปัญหา และ 63% เชื่อว่าเป็นปัญหาร้ายแรง จากการสำรวจพฤติกรรมออนไลน์ของเด็กในปี 2018 พบว่า เด็กประมาณ 60% ที่ใช้โซเชียลมีเดียพบเห็นการกลั่นแกล้งรังแกในรูปแบบต่าง ๆ และเด็กส่วนใหญ่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมดังกล่าวด้วยเหตุผลหลายประการ ข้อมูลจาก enough.org พบว่า เยาวชนเกือบครึ่ง (47%) ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ โดยโซเชียลมีเดียและเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นเสมือนจริงในปัจจุบัน เป็นสถานที่ที่มีการกลั่นแกล้งรังแกกันเกิดขึ้นมากมาย เด็ก ๆ อาจถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะคนเราสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และเด็ก ๆ อาจถูกกลั่นแกล้งรังแกในโลกไซเบอร์ได้ในหลายแพลตฟอร์ม และในชีวิตจริง
วิธีการป้องกัน คือ การพูดคุยกับลูกหลานอยู่เสมอ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเด็ก ๆ ทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ ควรปกป้องเมื่อเด็ก ๆ ถูกกลั่นแกล้ง โดยการรับฟังอย่างจริงใจ คอยปลอบโยน ให้ความรักความอบอุ่น ให้ความช่วยเหลือ เช่น การลบ ปิดกั้นบุคคลไม่พึงประสงค์ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ขอให้เด็ก ๆ อย่าตอบโต้ แก้แค้น หรือเอาคืน
มีซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์และมือถือของบุตรหลาน ที่อาจเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยได้ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะพูดคุยกับลูกหลานอย่างตรงไปตรงมา
2. นักล่าในโลกไซเบอร์ (Cyber Predators)
เหล่านักล่ามักจะสะกดรอยตามเด็กทางอินเทอร์เน็ต ฉวยโอกาสจากความไร้เดียงสา และขาดการดูแลจากผู้ใหญ่ โดยนักล่าจะสร้างความเชื่อใจให้กับเด็กก่อนที่จะล่อลวงให้เด็ก ๆ ทำในสิ่งที่นักล่าต้องการ ทำให้เด็กถูกแสวงหาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ หรืออื่น ๆ นักล่าเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มเกม ซึ่งเด็ก ๆ ไม่อาจรู้ได้เลยว่า บุคคลที่พูดคุยด้วยในโลกออนไลน์นั้นมีตัวตนอย่างไรในชีวิตจริง ด้วยลักษณะของชุมชนเสมือนจริงที่ผู้คนเลือกที่จะแสดงออกว่าเป็นใครก็ได้
ส่วนหนึ่งของการเล่นเกมออนไลน์ คือ การมีปฏิสัมพันธ์ในการเล่นกับคนอื่น ๆ นักล่าอาจจะชวนเด็ก ๆ พูดคุย และเล่นเกมด้วยกันบ่อย ๆ จากนั้นอาจใช้เหยื่อล่อ เช่น ไอเทมในเกม หรือตัวละครในเกม ที่เด็กชอบในการจูงใจให้เด็ก ๆ ติดกับ และทำตามที่นักล่าบอกให้ทำ
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การพูดคุยกับลูกหลานเป็นประจำเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา
3. การโพสต์ข้อมูลส่วนตัว
เด็กอาจยังไม่เข้าใจขอบเขตทางสังคม จึงอาจโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ทางออนไลน์ เช่น การระบุข้อมูลส่วนตัวในโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย การโพสต์ภาพส่วนตัว ที่อยู่บ้าน แผนการในวันหยุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำ คือ การเตือนลูกหลานถึงสิ่งที่โพสต์ในโซเซียลมีเดีย หลีกเลี่ยงการสอดแนม แต่พูดกับลูก ๆ อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับขอบเขตการแสดงตัวตนในพื้นที่สาธารณะว่าควรระมัดระวังการเปิดเผยที่มากเกินไปที่อาจนำอันตรายมาสู่ตัวเองและครอบครัวได้
4. ฟิชชิ่ง (Phishing)
ฟิชชิ่ง คือ การใช้อีเมล หรือข้อความ เพื่อหลอกล่อให้ผู้คนคลิกลิงก์ หรือไฟล์แนบที่เป็นอันตราย ซึ่งมิจฉาชีพจะมีวิธีการหลอกล่อที่แยบยลมาก โดยอีเมล หรือข้อความนั้นจะดูเหมือนถูกส่งมาจากบุคคลที่น่าเชื่อถือ เช่น เพื่อน สมาชิกในครอบครัว หรือหน่วยงานต่าง ๆ
อีเมลฟิชชิ่งและข้อความหลอกลวงเหล่านี้สามารถปรากฏขึ้นได้ทุกเมื่อ
อาชญากรไซเบอร์จะคอยเฝ้าดูเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ที่นิยมในหมู่เด็กๆ และรวบรวมข้อมูล เช่น ที่อยู่อีเมลชื่อเพื่อน และข้อมูลอื่นๆ จากนั้นจึงปรับแต่งข้อความในการหลอกล่อเพื่อความแนบเนียน เช่นเดียวกับที่อาชญากรไซเบอร์ทำเมื่อพยายามหลอกล่อผู้ใหญ่เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลทางการเงิน
พ่อแม่ผู้ปกครองควรสอนบุตรหลานให้หลีกเลี่ยงการคลิกในอีเมล หรือข้อความจากคนแปลกหน้า และระวังข้อความที่ดูเหมือนว่ามาจากเพื่อน แต่อาจไม่ใช่ข้อความจากเพื่อนตัวจริง
5. หลุมพรางการหลอกลวง (Scams)
เด็ก ๆ อาจตกหลุมของเหล่ามิจฉาชีพที่หลอกล่อเด็ก ๆ ด้วยการเสนอสิ่งที่เด็กให้ความสำคัญ เช่น การเข้าถึงเกมออนไลน์ฟรีหรือคุณสมบัติพิเศษในเกม เด็กและเยาวชนสามารถถูกหลอกลวงได้ง่าย เพราะพวกเขายังไม่เรียนรู้ที่จะระแวดระวังภัย อาชญากรไซเบอร์สามารถใช้เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันยอดนิยมในเด็ก เพื่อหาเหยื่อ จากนั้นจึงสัญญากับเหยื่อว่าจะให้รางวัลตอบแทน หากเหยื่อให้สิ่งที่พวกเขาต้องการ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิตของผู้ปกครอง
ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็อาจถูกหลอกลวงได้ ดังนั้น จงระวังข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินจริง เพราะมันอาจไม่เป็นความจริงได้ สอนลูกหลานให้ระวังข้อเสนอต่าง ๆ ทางออนไลน์ อย่าส่งเงินหรือข้อมูลส่วนตัวให้คนที่ไม่รู้จักในชีวิตจริง
6. ดาวน์โหลดมัลแวร์โดยไม่ตั้งใจ
มัลแวร์ คือ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเหยื่อและก่อให้เกิดอันตรายกับคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ซึ่งหมายรวมถึงการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลจากอุปกรณ์ของคุณ อาชญากรไซเบอร์มักจะล่อลวงให้ผู้คนดาวน์โหลดมัลแวร์ ด้วยวิธีการ เช่น การฟิชชิ่ง การโน้มน้าวให้เหยื่อดาวน์โหลดมัลแวร์ที่ปลอมตัวเป็นเกม
การให้ความรู้แก่ลูกหลานเป็นสิ่งสำคัญ โดยวิธีการป้องกันตัวเองจากภัยออนไลน์ชนิดนี้ คือ การดาวน์โหลดเกมหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ จากแพลตฟอร์มที่ถูกกฎหมาย และน่าเชื่อถือเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีซอฟต์แวร์ที่สามารถช่วยรักษาความปลอดภัย และป้องกันอุปกรณ์ของคุณจากมัลแวร์ที่แอบเข้ามาได้
7. โพสต์ที่อาจกลับมาหลอกหลอนในภายหลัง
สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ จะคงอยู่ในโลกออนไลน์ตลอดไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็ก ๆ เผยแพร่ทางออนไลน์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลบออกจนหมดสิ้นในภายหลัง การโพสต์ข้อความ หรือรูปภาพบางอย่าง อาจก่อให้เกิดปัญหาในอีกสิบปีข้างหน้าเมื่อเด็ก ๆ ต้องไปสัมภาษณ์งาน หรือคู่ชีวิตในอนาคตที่อาจรับไม่ได้ หากพบว่าเด็ก ๆ เคยโพสต์เนื้อหาส่วนตัวในอดีตที่เกินขอบเขต
พ่อแม่ผู้ปกครองควรอธิบายให้วัยรุ่นฟังว่า สไตล์และความคิดเห็นของพวกเขาจะเปลี่ยนไปเมื่อโตขึ้น วิธีที่ผู้คน จะนำเสนอตัวเองในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปตามอายุ แต่โพสต์ในโลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไป
อินเทอร์เน็ตสามารถเป็นอันตรายร้ายแรงต่อเด็กได้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการสร้างเกราะป้องกันภัยออนไลน์ให้กับลูกหลาน โดยการพูดคุยเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ อยู่เสมอ คอยสังเกต ถามไถ่ ชวนลูกหลานพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวของภัยออนไลน์อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา
เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์
รายการอ้างอิง
https://usa.kaspersky.com/resource-center/threats/top-seven-dangers-children-face-online