window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

เด็กอาจกลายเป็น “เหยื่อทางเพศ” ที่คนร้ายใช้ “เกม” เป็นเครื่องมือ

เด็กอาจกลายเป็น “เหยื่อทางเพศ” ที่คนร้ายใช้ “เกม” เป็นเครื่องมือ
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เด็กอาจกลายเป็น “เหยื่อทางเพศ” ที่คนร้ายใช้ “เกม” เป็นเครื่องมือ

 

ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กนับเป็นเรื่องใหญ่

 

จากรายงาน NCMEC (National Center for Missing & Exploited Children) พบว่า ตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้รับรายงานการตรวจพบสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มขึ้นกว่า 4.5 เท่า โดย

ในปี 2562 พบ 117,213 รายงาน

ในปี 2563 พบ 396,049 รายงาน

ในปี 2564 พบ 586,582 รายงาน

และในปี 2565 พบ 523,169 รายงาน

 

จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า คนร้าย 1 คน สามารถสร้างความเสียหายต่อเหยื่อที่เป็นเด็กได้ถึง 1,000 คน เด็ก 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ และเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว พบว่า 56% ของเด็กเลือกที่จะไม่บอกใคร

 

ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก

เว็บมืดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการหาแสวงผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในไทยยังมีการเติบโตสูงถึง 5 เท่า

 

“การสื่อสารออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดเข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้ประโยชน์จากความเปราะบางของเด็กเพื่อหลอกลวง บีบบังคับ ชักชวน และแสวงหาประโยชน์จากพวกเขา กลไกการคุกคามของอาชญากรถือเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ทำลายซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความมั่นคงของมนุษย์”

พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC)

 

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ยังส่งผลให้เด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผลิตและเผยแพร่ภาพ หรือวิดีโอทางเพศด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสิ่งของต่าง ๆ อีกด้วย

 

จุดเริ่มต้นการเข้าถึงเหยื่อ

การตระเตรียมเด็ก คือ กระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก โดยการสื่อสารกับเด็กผ่านอินเตอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้วยเจตนาเพื่อล่อลวง ควบคุม หรือยุยงให้เด็กร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยอาจมีการเดินทางมาพบเด็ก หรือชักจูงให้เด็กออกมาพบเพื่อล่วงละเมิดทางเพศจริง ๆ หรือการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านทางเว็บแคม ผู้ล่วงละเมิดมักค้นหาเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เช่น ปัญหาเรื่องความมั่นใจในตนเอง เด็กที่โดดเดี่ยว พฤติกรรมการเตรียมเด็ก ได้แก่ การสนองความต้องการของเด็ก เช่น ให้ความสนใจและของขวัญ การบังคับจิตใจ การควบคุม "การสอนเรื่องเพศ" และการทำให้เด็กรู้สึกชินชา สร้างความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็ก (อย่างรวดเร็วหรือช้า ๆ การมีความลับร่วมกันเพื่อให้เด็กเข้าร่วมและไม่ปริปาก)

 

“เกม” เป็นหนึ่งในเครื่องมือของคนร้าย

คนร้ายอาจเข้าถึงตัวเด็กผ่านการพูดคุยในเกมออนไลน์

แล้วใช้เกมเป็นสื่อกลางในการสร้างความไว้วางใจ หรือชักจูงเด็ก

จากนั้น คนร้ายอาจใช้สิ่งของในเกมเป็นสิ่งจูงใจ หลอกล่อ ให้เด็กทำตามความต้องการของคนร้าย

นอกจากนี้ คนร้ายอาจใช้สิ่งของในเกมเป็นเหมือนกับสิ่งตอบแทนที่เติมเต็มความต้องการของเด็กได้ ทำให้เด็กยอมทำตามความต้องการของคนร้าย

 

ตัวอย่างข่าว

เตือนภัย! เด็กเล่นเกมมือเติบ อาจตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิด

รวบพ่อเล้าเมืองตราด ลวงเด็กชายค้ากาม พบเหยื่อไม่เรียนหนังสือ แค่ต้องการหาเงินไปเล่นเกมส์

ย้อนรอยคดี "ลวงเด็กชาย" ขายภาพละเมิดทางเพศ ดีเอสไอตามคนร้ายเกือบ 4 ปี ก่อนโยงถึง "โมเดลลิ่งดัง"

 

เกมไม่ใช่ผู้ร้าย

แต่เกมก็เป็นเหมือนกับสถานที่ ซึ่งบรรยากาศและสังคมในเกมก็มีส่วนว่าจะดึงดูดคนแบบไหนเข้ามาในเกม และเกมนั้นจะหล่อหลอมเด็กและเยาวชนที่เข้ามาเล่นอยู่ในสถานที่นี้อย่างไร

 

การเริ่มเล่นเกมก็เหมือนกับการเปิดประตูเข้ามาสู่เส้นทาง

ที่ประตูบานนั้นอาจเปิดไปสู่เส้นทางที่สวยงามสดใส

หรือประตูบานนั้นอาจทำให้เด็ก ๆ ต้องประสบพบเจอกับเส้นทางที่นำไปสู่เหวลึกดำมืดที่หาทางออกไม่เจอ

 

พ่อแม่ผู้ปกครองควรที่จะพูดคุยกับลูกหลานเกี่ยวกับอันตรายของการสื่อสารในโลกออนไลน์ และที่สำคัญ คือ การทำให้เด็ก ๆ รับรู้ว่า เขาสามารถพูดคุยและขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ผู้ปกครองได้ หากรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกถูกคุกคามหรือถูกข่มขู่

 

สิ่งที่ควรพูดคุยกับลูกหลาน

  • เราต้องเลือกสิ่งที่เราจะแชร์ทางออนไลน์ เราจะต้องไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวและรหัสผ่านต่าง ๆ และเราไม่ควรตั้งค่าบัญชีโซเชียลมีเดียให้เป็นแบบสาธารณะ (public) เพราะมิจฉาชีพอาจใช้ข้อมูลมาเข้าถึงตัวเราได้
  • เราต้องระวังคนที่เราพบเจอทางออนไลน์ เราควรบล็อก หรือเพิกเฉยข้อความจากคนแปลกหน้า
  • เราควรตระหนักไว้ว่า ผู้คนในโลกออนไลน์สามารถแสร้งทำเป็นอะไร หรือใครก็ได้ วิดีโอและภาพถ่ายไม่ได้พิสูจน์ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร
  • เราควรระวังและตั้งข้อสงสัย หากใครบางคนในเกมหรือแอพ ขอให้เราพูดคุยกับพวกเขาบนแพลตฟอร์มอื่น
  • หากพบเจอสิ่งที่น่าสงสัย หรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ขอให้เล่าให้ผู้ใหญ่ที่ลูกไว้ใจฟัง

สิ่งสำคัญ คือ การทำให้ลูกรู้สึกว่าบ้านเป็น safe zone ที่เขารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ไว้วางใจพ่อแม่ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องไปหาความสบายใจนอกบ้าน และเมื่อเกิดปัญหา เขาก็กล้าและไว้วางใจที่จะบอกกับพ่อแม่

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://thaipublica.org/2023/01/dtac-safe-internet-online-child-exploitation/

https://www.ecpat-th.org/article/1/online-child-sexual-exploitation.html

https://www.nbcbayarea.com/news/local/fbi-warning-cyber-extortion-incidents-victimizing-boys-are-rising-what-parents-can-do/2881548/

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer