window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ผู้ใหญ่ก็ติดเกมได้

ผู้ใหญ่ก็ติดเกมได้
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ผู้ใหญ่ก็ติดเกมได้

 

ปัญหาการติดเกมมักจะได้รับการพูดถึงในเด็กและวัยรุ่น แบบที่มักพูดติดปากกันว่า “เด็กติดเกม” แต่จริง ๆ แล้วการติดเกมนั้น สามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย

 

ถ้าไปดูตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ก็จะพบว่า มีผู้คนตั้งกระทู้ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาผู้ใหญ่ติดเกมอยู่พอสมควรทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นตัวเอง/แฟน/สามี/พ่อ/แม่ติดเกมทำอย่างไรดี?

 

ตัวอย่างกระทู้

          วิธีแก้ให้เลิกติดเกมมีมั้ยครับ แล้วทำยังไง

          แฟนติดเกมหนักมาก ใส่อารมณ์กับเกมบ่อยๆ ผมควรทำยังไงดีครับ

          แม่ติดเกมทำไงดีครับ เกษียณแล้วดื้อมาก เล่นเกมจนนิ้วล็อค

 

สำหรับสัญญาณเตือนว่าบุคคลนั้นอาจจะเข้าข่ายติดเกม มีดังนี้

  • เล่นเกมเพื่อแก้เบื่อ แก้เครียด จัดการอารมณ์ทางลบบ่อย ๆ
  • หงุดหงิด กระสับกระส่าย กระวนกระวายเมื่อไม่สามารถเล่นเกมได้ หรือถูกบอกให้หยุดเล่น
  • หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกม
  • เล่นเกมมากขึ้นจนละเลยความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน
  • ทำกิจกรรมอื่นน้อยลง
  • ห่างเหินจากบุคคลรอบข้าง
  • ยังคงเล่นเกมแม้จะเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น

 

ในกรณีที่เด็กติดเกม พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลให้เด็กเล่นเกมในขอบเขตที่เหมาะสม

แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่ติดเกมอาจจะแก้ไขได้ยากกว่าเด็ก เพราะบางทีบุคคลนั้นอาจไม่ตระหนักถึงปัญหา เมื่อโตแล้ว จึงไม่มีผู้ปกครองคอยตักเตือนโดยเฉพาะคนที่อยู่คนเดียว พอเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะยากที่จะมีใครมาบอก มาเตือน

 

อย่างไรก็ตาม หากใครรู้ตัวว่าเริ่มจะไม่สามารถควบคุมการเล่นเกมของตัวเองได้แล้ว

สามารถลองปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อลดการติดเกม ดังนี้

 

  1. จำกัดเวลาการเล่น แบ่งแยกเวลาการทำงาน การทำกิจกรรมอื่น ๆ กับการเล่นเกมให้ชัดเจน
  2. เล่นเกมเฉพาะที่ ๆ กำหนด หรือเล่นเฉพาะที่บ้าน
  3. ไม่โหลดเกมมาเพิ่ม
  4. หันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย เล่นดนตรี หรือใช้เวลาว่างไปทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์
  5. บอกคนรอบตัว คนสนิท ว่ากำลังจะเลิกติดเกม เพื่อให้เป็นกำลังใจ คอยเตือนหากจะกลับไปติดเกม และชักชวนกันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ
  6. อาจปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ โดยสามารถโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือทักแชทเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยาเพจ Healthy Gamer เกมสมดุล ชีวิตสมดุล ได้เลยที่ https://m.me/healthygamer

 

สำหรับใครที่รู้สึกว่าคนใกล้ชิดอาจเข้าข่ายว่าน่าจะติดเกม สิ่งสำคัญคือการสื่อสารที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า โดนตำหนิ โดนสั่งสอน หรือตอกย้ำในสิ่งที่บางที ลึก ๆ แล้ว เขาอาจจะพอรู้ตัวว่าตัวเองกำลังประสบปัญหาอยู่ก็เป็นได้

 

สิ่งที่ควรทำ คือ การสื่อสารความเป็นห่วงของคุณด้วย I-Message พยายามทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาเล่นเกม เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็จะได้เริ่มต้นแก้ไขได้อย่างตรงจุด คุณอาจลองชวนเขาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ชื่นชมในสิ่งที่เขาทำ ยอมรับในตัวตนของเขาซึ่งการที่เขาติดเกมนั้น เป็นเพียงด้านหนึ่งของเขา ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพียงแต่มีพฤติกรรมบางอย่างของเขาที่เราเป็นห่วง

 

หากพยายามพูดคุย ทำความเข้าใจ และช่วยเหลือในการปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ได้ผล

อาจลองแนะนำให้มาพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพราะบางครั้งปัญหาที่มีอาจสะสมเกาะกินจิตใจมานานจนปัญหามีความซับซ้อนหลายชั้น การมาหาผู้เชี่ยวชาญเป็นการมาหาคนที่จะช่วยกะเทาะปัญหานั้นออกมาทีละชั้น ทำให้เข้าใจตัวเอง แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และสามารถกลับมาทำหน้าที่ที่ควรจะทำ อย่างที่ควรจะเป็นได้

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=-SKYdTH7Ydk

https://www.bbc.com/thai/thailand-40565506

 

Healthy Gamer