window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ละทิ้งทุกอย่างเพื่อเล่นเกม = ทุ่มเทเพื่อสิ่งที่รัก ?

ละทิ้งทุกอย่างเพื่อเล่นเกม = ทุ่มเทเพื่อสิ่งที่รัก ?
เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

ละทิ้งทุกอย่างเพื่อเล่นเกม = ทุ่มเทเพื่อสิ่งที่รัก ?

ชวนตั้งคำถามว่าเรา Romanticize อะไรเกี่ยวกับการติดเกมรึเปล่า

 

 

ช่วงนี้มีหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการ romanticize เรื่องความยากจน จากกรณีประเด็นดราม่าหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ทำให้แอดมินอยากชวนทุกคนมาลองตั้งคำถามเกี่ยวกับการ romanticize ในประเด็นที่เกี่ยวกับเกมดูบ้าง

 

ความหมายของคำว่า “Romanticize”

 

Romanticize เป็นคำกริยา แปลว่า พูดถึงบางสิ่งบางอย่างด้วยวิธีที่ทำให้สิ่งนั้นดูดีกว่าความเป็นจริง หรือทำให้สิ่งนั้นดูเย้ายวนใจ และน่าสนใจเกินกว่าความเป็นจริง

 

การ Romanticize อาจเป็นการมองโลกในด้านเดียว คือ มองแต่ด้านที่ดี และมองข้ามความจริงอีกด้านที่อาจไม่ได้สวยงาม ซึ่งนั่นหมายถึงการมองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ตัวอย่างการ Romanticize จากประเด็นดราม่าหนังสือแบบเรียนภาษาไทย คือ การสื่อสารว่าถึงแม้จะจน แม้จะได้กินแค่ข้าวกับไข่ต้มครึ่งลูกคลุกน้ำปลาก็มีความสุขแล้ว และเป็นการอยู่อย่างพอเพียง แต่ในความเป็นจริงการกินแบบนี้อาจทำให้เด็ก ๆ ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังเป็นการมองข้ามปัญหาเรื่องความยากจนอีกด้วย เพราะการที่ตัวละครในเรื่องกินแบบนี้ เขาไม่ได้เลือกที่อยากจะอยู่แบบนี้ แต่ด้วยบริบทแวดล้อมที่มีความยากจนและอยู่บ้านเด็กกำพร้าทำให้เขาต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกซะมากกว่า

 

การ Romanticize ที่เกี่ยวกับเกม

 

เมื่อพูดถึงเรื่องของเกมแล้ว ปัญหาที่มักจะได้รับการพูดถึงก็คือปัญหาเด็กติดเกม

ในสมัยก่อนภาพลักษณ์ของเด็กติดเกมมักจะเป็นไปในแง่ลบ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะการนำเสนอข่าวที่เด็กติดเกมกระทำความผิด ก้าวร้าว มีพฤติกรรมรุนแรง ทำให้สังคมมองว่าเด็กติดเกมนั้นเป็นเด็กไม่ดี

 

ปัจจุบัน ธุรกิจเกมเติบโตอย่างมาก มีการต่อยอดจากการเล่นเกมธรรมดา ๆ กลายเป็นการเล่นเกมที่มีความจริงจัง และสามารถสร้างเป็นอาชีพได้

 

มีการนำเสนอเรื่องราวของเด็กติดเกมที่สามารถกลายเป็นผู้เล่นเกมมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งระหว่างทางก็ต้องทุ่มเท เล่นเกมอย่างหนัก บางคนออกจากการเรียน มีปัญหากับครอบครัว กว่าจะก้าวมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้ ตรงจุดนี้แอดมินไม่ได้จะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ดี การที่เด็กติดเกมคนนึงสามารถเปลี่ยนตัวเองให้กลายมาเป็นมืออาชีพได้นั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพียงแต่ในอีกด้านหนึ่ง แอดมินก็ตั้งคำถามว่า แล้วมันจำเป็นไหมว่าจะต้องทุ่มเทชีวิตให้กับเกมขนาดนั้น? จะสามารถเล่นเกมให้ประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่ละทิ้งชีวิตด้านอื่น ๆ ได้ไหม? ซึ่งตรงนี้แอดมินก็เห็นตัวอย่างว่าหลาย ๆ คนก็สามารถบาลานซ์ได้ดี แต่ถ้าเทียบกับคนส่วนใหญ่ละ ต้นทุนชีวิตของครอบครัวคนในประเทศเรามีความพร้อมที่จะช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตมาอย่างสมบูรณ์พร้อมแค่ไหนกัน? สังคมเรามีแนวโน้มจะสร้างเด็กติดเกมหรือเด็กที่เล่นเกมอย่างเหมาะสมได้มากกว่ากัน?

 

การละทิ้งทุกอย่างเพื่อเล่นเกม = ทุ่มเทเพื่อสิ่งที่รัก --> สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ ?

ประโยคนี้ แอดมินคิดว่ามันเกิดขึ้นได้จริง และก็มีตัวอย่างให้เห็นกันแล้วด้วย

แต่ ไม่ใช่ทุกคนที่ชีวิตจะตรงกับสมการนี้

การเล่นเกมจนกระทั่งเกิดผลกระทบกับชีวิต ละทิ้งทุกอย่าง ไม่ยอมทำอะไรเลยนอกจากเล่นเกม และยังคงเล่นแต่เกมต่อไป แม้ว่าชีวิตจะไม่เหลืออะไร แบบนี้เป็นลักษณะของคนติดเกม

ความน่ากังวล คือ เด็ก ๆ อาจมองว่าการทุ่มเทแบบนี้ เป็นความโรแมนติก และอาจใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างให้ตัวเองเล่นเกม...Romanticize การติดเกม จนมองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น และสุดท้ายชีวิตก็ไม่สวยงามอย่างที่คิด

 

 

เดี๋ยวนี้มีการสนับสนุนให้เด็ก ๆ เล่นเกม โดยมีหน่วยงานที่สนับสนุนให้เกิดการจัดการแข่งขันเกมมากมาย แง่หนึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับเด็ก ๆ ที่จะมีกิจกรรมแสดงความสามารถ แง่หนึ่งก็เป็นการกระตุ้นก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แง่หนึ่งก็มีความทุกข์ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกมัวแต่เล่นเกม แง่หนึ่งก็มีความทุกข์ของเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จ และอีกแง่หนึ่งก็มีปริมาณงานของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่มีเคสเด็กติดเกมจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

 

เราจะสร้างสมดุลเรื่องเกมได้อย่างไร?

ไม่ให้สังคม Romanticize การเล่นเกม จนมองข้ามผลกระทบด้านลบจากเกม

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มัวแต่มองด้านลบ จนไม่เห็นโอกาสดี ๆ ที่เด็กอาจได้รับจากเกม

 

 

อยากชวนทุกคนมองเรื่องนี้อย่างรอบด้าน

ปัญหาจะได้ไม่ซุกอยู่ใต้พรม

 

 

บทความโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

Healthy Gamer