
ในวันที่ลูกแตกสลาย
พ่อแม่โปรดซ่อมลูกด้วยความรัก
ในชีวิตของคนเรา ล้วนหลีกหนีความเจ็บปวดไม่พ้น
บาดแผลทางกาย เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตา
แต่บาดแผลทางจิตใจ เราต้องเปิดใจ รับฟัง และใช้ใจมอง จึงจะเข้าใจอีกฝ่ายได้
มีคำกล่าวที่ว่า
“แก้วที่แตกไปแล้ว ทำยังไงก็ไม่เหมือนเดิม”
แอดมินอยากชวนมองอีกมุมหนึ่งว่า
เราสามารถซ่อมแซมแก้วหรือถ้วยชามที่แตกได้ แม้ว่ามันอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็กลับมาเป็นภาชนะที่สวยงามได้อีกครั้ง
คินสึงิ (Kintsugi) คือ วัฒนธรรมและศาสตร์ของการซ่อมแซมภาชนะที่แตกบิ่นเสียหายของชาวญี่ปุ่นที่มีการสืบทอดกันมายาวนาน โดยศาสตร์แห่งการซ่อมแซมนี้ก็ไม่ใช่การซ่อมเพื่อทำให้ภาชนะกลับคืนมาสู่สภาพเดิมเฉยๆ เท่านั้น แต่เป็นการซ่อมแซมยึดแนวคิดที่สะท้อนถึงแนวคิดอันโด่งดังที่มีชื่อว่า วะบิ-ซะบิ (wabi-sabi) ที่กล่าวถึงการยอมรับตัวตนและความผิดพลาดภายในความเรียบง่ายไม่สมบูรณ์แบบ โดยวิธีการซ่อมแซมนั้น คือการนำยางรักมาอุดช่องว่างหรือร่องรอยการแตกของภาชนะ จากนั้นนำผงทองมาทาไว้ที่ผิว จนเกิดเป็นร่องรอยที่สวยงามอันเกิดขึ้นจากการแตกสลายที่เราควบคุมไม่ได้นั่นเอง
หลายท่านอาจจะงงว่า ที่กล่าวมานี้ เกี่ยวอะไรกับการเลี้ยงลูก?
หากเปรียบเปรยลูกเป็นเหมือนกับภาชนะที่พ่อแม่บรรจงปั้นแต่งออกมาให้สวยงามดังปรารถนา
ลูกเกิดจากความตั้งใจของพ่อแม่
ในวันที่ลูกน้อยเกิดมา
ลูกเกิดมาพร้อมกับความคาดหวังของคนเป็นพ่อเป็นแม่
บางคนอาจจะไม่รู้ตัว แต่พ่อแม่ย่อมคาดหวังให้ “ลูกเป็น” “ลูกทำ” ในสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าดี
แต่ชีวิตของคนเราก็ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ
ลูกอาจมีวันที่ดื้อ หรือทำบางอย่างผิดพลาด
ลูกอาจทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
หรือเขาเองก็อาจจะรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ด้อยค่าตัวเอง
เขาอาจกลายเป็นภาชนะที่มีรอยร้าว ไม่สวยงามอย่างที่พ่อแม่หวัง
ถ้าพ่อแม่ยิ่งซ้ำเติม ยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่งไม่เห็นรอยร้าว หรือละเลยรอยร้าวนั้น
รอยร้าวก็จะค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น จนวันหนึ่งลูกก็อาจจะแตกสลาย
ยิ่งในปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้เราสามารถรับรู้เรื่องราวของคนอื่นได้ง่าย ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่คน ๆ นั้นแสดงออก
เรามักได้เห็นว่าเขาทำอะไร ดีอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างไร เพราะคนเรามักจะแสดงด้านที่ดีให้ผู้อื่นเห็นเสมอ
ยิ่งเห็นคนอื่น ยิ่งเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
ก็ยิ่งด้อยค่าตัวเอง
ทำให้บาดแผลทางใจร้าวลึกยิ่งขึ้น
คนเราสามารถเรียนรู้จากความล้มเหลว
และเปลี่ยน “บาดแผล” ให้เป็น “ลวดลาย” ที่สวยงามของชีวิตได้
เหมือนกับศิลปะคินสึงิ ที่เมื่อเรานำยางรักมาอุดร่องรอยการแตกของภาชนะ แล้วนำผงทองมาทาไว้ที่ผิว ภาชนะก็จะกลับมาใช้งานได้เช่นเดิม และแม้จะมีร่องรอยก็เป็นร่องรอยที่สวยงาม
ในวันใดที่ลูกผิดพลาด ล้มเหลว
ขอเพียงพ่อแม่ยอมรับ...
เปิดใจ รับฟัง ทำความเข้าใจลูก
เมื่อลูกสัมผัสได้ถึงความรัก ความเข้าใจของพ่อแม่
ความรักของพ่อแม่ก็จะเป็นเหมือนกับยางรักและผงทองที่ช่วยไม่ให้ลูกแตกสลาย
การที่พ่อแม่ยอมรับในตัวตนและความผิดพลาดของลูกจะช่วยผสานรอยร้าว
ทำให้ลูกสามารถก้าวผ่านความผิดพลาดนั้น
เก็บความผิดพลาดไว้เป็นบทเรียน
ได้เรียนรู้และเติบโตเป็นคนที่ดีขึ้นได้
ชีวิตที่ผิดพลาดก็ไม่ได้แย่ เมื่อเราเรียนรู้ แก้ไขปัญหา และทำให้ดีขึ้น
กว่าลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ก็ย่อมได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อม ๆ กับลูกเช่นกัน
ไม่ว่าจะต้องพบเจอกับอะไร
ไม่ว่าลูกอาจจะทำให้พ่อแม่ปวดหัว หนักใจ หรือผิดหวังกับเขาอย่างไร
ขอโปรดพ่อแม่อย่าละทิ้งเขา
เปิดใจ รับฟัง ทำความเข้าใจลูก ยอมรับในตัวตนของลูก
ในวันที่ลูกแตกสลาย
พ่อแม่โปรดซ่อมลูกด้วยความรัก...
ยอมรับตัวตนและความผิดพลาด
ชีวิตนั้นเรียบง่าย และงดงามบนความไม่สมบูรณ์แบบ...
เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์
รายการอ้างอิง
https://missiontothemoon.co/business-kintsugi/