window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

กฎกติกา VS สิทธิเสรีภาพ

กฎกติกา VS สิทธิเสรีภาพ
เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

กฎกติกา VS สิทธิเสรีภาพ

 

ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการถกเถียงในสังคมเรื่องระเบียบเครื่องแต่งกายชุดนักเรียน อันเนื่องมาจากข่าวของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งได้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตนในการเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง โดยเด็กแต่งกายด้วยชุดไปรเวท ไม่สวมชุดนักเรียนตามกฎของโรงเรียน เพื่อเรียกร้องให้โรงเรียนยกเลิกกฎระเบียบเครื่องแต่งกายและทรงผม เพราะไม่มีผลต่อการเรียน และถือเป็นการกดขี่เด็กด้วยอำนาจนิยมของผู้ใหญ่

 

ประเด็นจากข่าวนี้ ทำให้แอดมินนึกมาเชื่อมโยงกับปัญหาการติดเกมของเด็กและเยาวชน

 

สาเหตุหนึ่งของการติดเกมในเด็กมาจากการที่ครอบครัวไม่ได้ตั้งกฎกติกาเกี่ยวกับการเล่นเกมของเด็ก และการที่เด็กขาดวินัยในตัวเอง ทำให้เด็กเล่นเกมอย่างไม่มีขอบเขต จนกระทั่งเกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ

 

สิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเกม คือ การตั้งกติกาเกี่ยวกับการเล่นเกม ว่าเด็กจะเล่นเกมอะไรได้บ้าง เล่นได้นานแค่ไหน สามารถซื้อของในเกมได้หรือไม่ เล่นเกมกับใครได้บ้าง และหากเด็กเจอสถานการณ์ที่ไม่สบายใจจากการเล่นเกมกับคนอื่นจะทำอย่างไร

 

สำหรับระยะเวลาการเล่นเกมของเด็ก

  • ควรกำหนดหน้าที่ที่เด็กต้องรับผิดชอบก่อนการเล่นเกม และกำหนดการลงโทษหากไม่สามารถทำตามกติกาได้ (ซึ่งแนะนำให้ใช้วิธีงดเกม หรือลดเวลาในการเล่นในครั้งถัดไป)
  • ไม่แนะนำให้เล่นรวมมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันในวันธรรมดา และ 2 ชั่วโมงต่อวันในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
  • ไม่แนะนำให้เล่นเกมต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง
  • ไม่แนะนำให้เล่นในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะการเล่นเกมจะมีผลรบกวนการนอนหลับ

ที่สำคัญ คือ การเล่นเกมของเด็กต้องไม่รบกวนการทำหน้าที่ที่สำคัญ เช่น การทำการบ้าน การช่วยทำงานบ้านต่าง ๆ และการออกกำลังกาย และไม่ควรเล่นเกมขณะทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ระหว่างการเดินทาง การรับประทานอาหาร

 

 

หากตั้งกฎกติกา ลูกจะรู้สึกถูกกดขี่หรือถูกบีบบังคับหรือเปล่า ?

 

เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขต หน้าที่ และความรับผิดชอบ

พ่อแม่ผู้ปกครองมีสิทธิและหน้าที่ในการดูแลเด็ก

การตั้งกฎกติกาต่าง ๆ ภายในบ้าน นับเป็นการฝึกฝนเรื่องของระเบียบวินัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรู้จักยับยั้งชั่งใจ และการควบคุมตนเอง นับเป็นสิทธิของเด็กที่จะได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ  และพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีหน้าที่นั้น

 

หากเด็ก ๆ รู้ว่ากฎกติกาคืออะไร และสามารถที่จะกำกับตัวเองให้อยู่ในกฎเกณฑ์นั้นได้ เด็กก็มีแนวโน้มที่จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้มาก (มีเป้าหมาย กำกับตัวเอง ฉุดคิดใคร่ครวญก่อนที่จะตัดสินใจ และหักห้ามใจตัวเองได้)

 

หากเด็กหรือพ่อแม่ผู้ปกครองมองว่ากฎกติกาส่วนใดที่ไม่เหมาะสม แน่นอนว่าเมื่อเราเป็นสังคมประชาธิปไตย ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ และตามหลักสิทธิเด็ก เด็กก็มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีในทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเขา ดังนั้น ในเรื่องกฎกติกาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หรือที่โรงเรียน เด็กย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น

 

 

ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กร่วมออกแบบกฎกติกา

 

พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ควรใช้ “อำนาจนิยม” “สิทธิความเป็นพ่อแม่” มากำหนดกฎกติกาที่เข้มงวด โดยที่ไม่รับฟังลูกเลย แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รับฟังกันทุกฝ่าย และได้กฎกติกาข้อตกลงที่ทุกคนในครอบครัวร่วมกันออกแบบและยอมรับบนหลักการของเหตุผล ความเหมาะสม และความเอาใจใส่ซึ่งกันและกันในครอบครัว ซึ่งวิธีการสื่อสารและสัมพันธภาพอันดีในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถใช้กฎกติกาอย่างได้ผล

 

อย่างแรก ต้องมั่นใจก่อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกอยู่ในระดับที่ดีพอก่อนที่จะพูดคุยเรื่องกฎกติกา เพราะหากสัมพันธภาพไม่ดี ลูกก็จะรู้สึกว่าถูกพ่อแม่บังคับ พ่อแม่ไม่เข้าใจ แล้วเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะต่อต้าน หรืออาจจะเก็บกด

 

การได้พูดคุย ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ในบรรยากาศสบาย ๆ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว  

 

ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อกฎกติกาต่าง ๆ ไม่ว่าจะในบ้าน โรงเรียน หรือสังคม ที่สำคัญคือการรับฟังกัน เคารพในความเห็นของอีกฝ่าย และหาจุดร่วมที่จะตกลงกันให้ได้ตามความเห็นของคนส่วนใหญ่

 

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตทั้งภายในและภายนอกหลายด้าน ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกของวัยรุ่น บางครั้งรูปแบบการแสดงออกของวัยรุ่น ก็อาจดู “ดื้อ” “ก้าวร้าว” “ไม่เชื่อฟัง” ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ควรเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น และพูดคุยกับเขาด้วยเหตุผลด้วยใจที่เมตตา เพราะทุก ๆ การกระทำของเด็กและวัยรุ่นล้วนมีที่มา ผู้ใหญ่จึงควรทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินพวกเขา  

 

บทความโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

.
ปรึกษาปัญหาการติดเกมผ่าน Line Chatbot ได้ที่ Line ID: @426wsfmp หรือกดที่นี่เพื่อแอดไลน์ https://bit.ly/HGchatbot
.
หรือทักแชทเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้เลยที่ https://m.me/healthygamer

Healthy Gamer