window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

พื้นที่ที่สาม (Third Place) สำหรับเด็ก

พื้นที่ที่สาม (Third Place) สำหรับเด็ก
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

พื้นที่ที่สาม (Third Place) สำหรับเด็ก

 

ตามแนวคิดทางสังคมวิทยา คนเราจะมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตอยู่ 3 พื้นที่

พื้นที่แรก (first place) คือ บ้าน

พื้นที่ที่สอง (second place) คือ ที่ทำงาน

และพื้นที่ที่สาม (third place) คือ พื้นที่ที่ไม่ใช่บ้านและไม่ใช่ที่ทำงาน แต่เป็นพื้นที่อื่น ๆ ที่ผู้คนจะใช้ชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้พบปะ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น โรงยิม สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ร้านหนังสือ วัด คาเฟ่ หรือสวนสาธารณะ

 

พื้นที่ที่สามเป็นพื้นที่ที่ช่วยเติมเต็มชีวิตของผู้คน ทำให้ผู้คนได้ผ่อนคลาย และประโลมจิตใจเมื่อยามที่เราเหนื่อยล้าจากบ้านหรือที่ทำงาน

 

คนแต่ละคนมีพื้นที่ที่สามที่แตกต่างกันไป

บางคนอาจชอบความสงบของร้านหนังสือหรือวัด

บางคนอาจชอบความสนุกสนานและครึกครื้นของโรงยิมหรือสนามกีฬา

บางคนอาจชอบบรรยากาศของคาเฟ่หรือร้านอาหารต่าง ๆ

 

เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้รับการพัฒนาและใช้งานอย่างแพร่หลาย

พื้นที่ที่สามของผู้คนก็ไม่จำกัดเพียงแค่พื้นที่ออฟไลน์อีกต่อไป แต่ยังมีพื้นที่ออนไลน์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียหรือเกมออนไลน์ที่ผู้คนมีตัวตน และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทางออนไลน์ได้

 

สำหรับเด็ก ๆ ในยุคนี้ พวกเขาเติบโตมากับเทคโนโลยี นับว่าเป็น Digital native ที่คุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต

พื้นที่การใช้ชีวิตของพวกเขาทั้ง 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้าน โรงเรียน และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ที่เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต

 

ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต พื้นที่ที่สามของเด็ก ๆ อาจเป็นสนามเด็กเล่นแถวบ้าน สวนไร่นา หรือบ้านของเพื่อน วิถีชีวิตในชนบท หรือการอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่เพื่อนบ้านรู้จักและไปมาหาสู่กัน พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจจะอนุญาตให้ลูกออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านได้ อย่างสบายใจมากกว่าสมัยนี้ที่สังคมมีความเป็นเมืองมากขึ้น ผู้คนต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น แถมภัยอันตรายต่าง ๆ ก็อยู่รอบตัว พ่อแม่ผู้ปกครองกลัวว่าถ้าปล่อยให้ลูกออกไปเล่นนอกบ้าน ก็อาจเจอคนไม่หวังดี หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าจะให้ลูกไปเล่นข้างนอก พ่อแม่ก็ต้องไปด้วย และสถานที่เล่น สถานที่ทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ก็ไม่ได้ “ฟรี” พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับการใช้พื้นที่นั้น ๆ ซึ่งบางครั้งการให้ลูกเล่นอยู่บ้านก็ดูจะง่ายและสะดวกกว่าการให้ลูกออกไปข้างนอกบ้าน

 

สภาพสังคมที่ต้องคอยระมัดระวังอันตรายรอบตัว การแข่งขันกันเข้าโรงเรียนที่ดีก็อาจแลกมากับการที่ต้องไปเรียนไกลบ้าน พอเลิกเรียนเสร็จก็ต้องรีบเดินทางกลับบ้าน ไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาหลังเลิกเรียนกับเพื่อน เพื่อนแถวบ้านก็ไม่รู้จักเพราะไม่ได้เรียนด้วยกัน ช่องทางที่เด็ก ๆ จะติดต่อสื่อสารกับเพื่อนได้ ก็คือ ช่องทางออนไลน์นั่นเอง

 

ปัจจุบัน ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้ง่าย ผ่านโลกออนไลน์

พื้นที่ออนไลน์ จึงเป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ สามารถหาเพื่อน หาความสนุกสนาน หาความสบายใจ ได้ง่าย

 

เกมออนไลน์สมัยนี้ก็เปรียบได้กับสนามเด็กเล่น หรือสนามกีฬา

ที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน มีความผูกพัน มีลักษณะวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มผู้เล่น แถมยังเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เช่น การแลกเปลี่ยนสิ่งของภายในเกม นอกจากนี้ การเล่นเกมก็ยังสามารถทำให้กลายเป็นอาชีพได้ด้วย เช่น การแข่งขันเกมเพื่อชิงเงินรางวัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และเป็นสถานที่ที่มีความหมายสำหรับผู้เล่นเกม

 

พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านอาจจะมองว่า ลูกอยู่ในโลกออนไลน์มากเกินไป เล่นเกมมากเกินไป จึงพยายามที่จะดึงลูกออกมาจากโลกออนไลน์ โดยการบอกให้ลูกไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่สุดท้ายแล้ว ด้วยเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง เช่น การใช้จ่ายเงิน ระยะทาง การเดินทาง ความปลอดภัย เป็นต้น เด็ก ๆ ก็อาจจะไม่ได้มีกิจกรรมที่เป็นทางเลือกมากนัก และลงเอยด้วยการกลับมาอยู่ในโลกออนไลน์ที่พวกเขาคุ้นเคย

 

การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ จึงมีความสำคัญ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่ที่ปลอดภัยในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะสามารถดึงพวกเขาออกมาสู่โลกภายนอกได้มากขึ้น และเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์

 

พื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นมิตรกับผู้คน เพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่นี้ แทนที่จะผลักให้ทุกคนหันหน้าเข้าสู่หน้าจอ

 

พ่อแม่ผู้ปกครองที่กังวลว่าลูกหลานจะใช้เวลากับเกมหรือโซเชียลมีเดียมากเกินไป หากคุณช่วยลูกหลานในการหา “พื้นที่ที่สาม” ที่เด็ก ๆ ชื่นชอบนอกจากโลกออนไลน์ได้ ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ เล่นเกมหรือโซเชียลมีเดียลดลงได้

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์



ปรึกษาปัญหาการติดเกมผ่าน Line Chatbot ได้ที่ Line ID: @426wsfmp หรือกดที่นี่เพื่อแอดไลน์ https://bit.ly/HGchatbot
.
หรือทักแชทเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้เลยที่ https://m.me/healthygamer




Healthy Gamer