window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber)

ห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber)
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ห้องแห่งเสียงสะท้อน

 

ห้องแห่งเสียงสะท้อน หรือ Echo Chamber คือ ปรากฏการณ์ที่คนได้ยิน หรือรับรู้แต่ความคิดเห็นแบบเดียวกันกับตัวเอง เปรียบเหมือนกับเวลาที่เราอยู่ในห้องแคบ ๆ แล้วเมื่อเราตะโกนอะไรออกไป เสียงนั้นก็จะสะท้อนกลับมา ทำให้เราได้ยินแต่เสียงสะท้อนย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นถูกต้องแล้ว

 

ยิ่งเราอยู่แต่ในพื้นที่ของเรา อยู่แต่ในกลุ่มของตัวเอง ก็เหมือนกับเราอยู่ในห้องปิดที่ไม่เปิดรับความเห็นที่แตกต่าง พอได้ยินแต่เสียงที่เหมือนกับตัวเอง ก็จะยิ่งเป็นการยืนยันว่าคนอื่นคิดเหมือนเราและเป็นการยืนยันความเชื่อของเรา ซึ่งเมื่อนานวันเข้า เราก็มีแนวโน้มว่าอาจมีความเชื่ออะไรบางอย่างแบบสุดโต่งได้  

 

ห้องแห่งเสียงสะท้อนนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง และโลกออนไลน์ แต่ปัจจุบันคำว่า Echo Chamber มักถูกนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เนื่องจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั้น มี “อัลกอริทึม” ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองและคัดเลือกเนื้อหาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละคน ทำให้เรามักจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความคิดและ ความเชื่อของเรา ดังนั้น เราจึงมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนมากขึ้น

 

แม้เราจะอยู่ในโลกของการสื่อสารไร้พรมแดน แต่ระบบอัลกอริทึมอาจจำกัดการรับรู้ของเราให้อยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อน ทำให้เรารับรู้ความจริงเพียงด้านเดียว

 

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะแสวงหาและยอมรับข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเองได้ง่ายมากกว่าข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิม ทำให้เกิดการปิดกั้นหรือปฏิเสธข้อมูล และความเห็นต่างได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความลำเอียงที่จะยืนยันความคิดของตัวเอง หรือ Confirmation Bias

 

เรื่องนี้ เห็นได้ชัดเจนจากตัวอย่างเรื่องของการเมือง

หากคุณมีความเห็นทางการเมืองแบบใด คุณก็จะเลือกติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าวที่ตรงจริตกับคุณ และหากคุณลองเข้าไปดูข้อมูลข่าวสารจากสำนักข่าวที่อยู่ขั้วตรงกันข้าม คุณก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีการตีความตามความเชื่อที่แตกต่างกัน

 

สำหรับประเด็นในเรื่องของเกมออนไลน์

แอดมินเห็นว่า ในยุคสมัยหนึ่ง เกมเป็นผู้ร้ายของสังคม เป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานเล่น การนำเสนอข่าวสารก็มักจะเป็นในแง่ลบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กติดเกม

แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนที่เคยเป็นเด็กวัยรุ่นก็เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับเกม บางคนก็มองว่าติดเกมแล้วก็โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ติดเกมแล้วไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย เราโทษเกมกันมากไปรึเปล่า?

ในขณะเดียวกัน ปัจจุบัน เกมก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล มีการแข่งขันเกมชิงเงินรางวัล หรือที่เรียกกันว่าอีสปอร์ต ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นกีฬาและเป็นอาชีพ รวมทั้งมีอาชีพที่เกี่ยวข้องในวงการเกมมากมาย

 

ทุกวันนี้ในด้านหนึ่งก็มีการยอมรับและสนับสนุนเรื่องของเกม

แต่อีกด้านก็ยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทุกข์ใจกับลูกที่ดูจะติดเกม

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นหรือนักจิตวิทยาก็มักได้รับฟังปัญหาการติดเกมอยู่บ่อยครั้ง

 

แอดมินเองในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านลบของเกมมากกว่าด้านบวก (แต่ตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับการเล่นเกม) ก็มักจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เกมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อไม่ให้ตัวเองหลงอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนหรือ Echo Chamber จนเกิดอคติด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป

 

สำหรับบทความนี้ แอดมินอยากชวนให้ทุกคนคอยตระหนักถึงอิทธิพลของห้องแห่งเสียงสะท้อน เวลาที่เราได้รับข้อมูลข่าวสารอะไรก็ตาม ขอให้พิจารณาว่าใครเป็นคนโพสต์ น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเชื่อข้อมูลนั้นหรือไม่ และเปิดใจรับข้อมูลข่าวสารหลาย ๆ ด้าน จากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล เพื่อเปิดรับความเห็นที่แตกต่างบ้าง เราจะได้ไม่หลงอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อน แต่เข้าใจและรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์

 

เด็ก ๆ ที่เล่นเกมอาจจะบอกคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองว่า เขาเล่นเพราะเกมมีข้อดี ช่วยพัฒนาทักษะหลายด้าน สามารถต่อยอดในการหาเงินได้ และมีตัวอย่างคนที่เล่นเกมแล้วได้ดีเยอะแยะมากมาย

คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถชักชวนเด็ก ๆ ในการมองอีกด้านหนึ่งว่า กว่าที่จะประสบความสำเร็จได้ คน ๆ นั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง มีอะไรในชีวิตที่ต้องสูญเสียไปไหม และตัวอย่างด้านลบเป็นอย่างไร เพื่อชวนเด็ก ๆ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ไม่หลงอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนว่าเกมดีอย่างไรเท่านั้น แต่เปิดรับข้อมูลในด้านลบด้วย

 

ในขณะเดียวกัน แอดมินก็อยากชักชวนคุณพ่อคุณแม่ว่า เราสามารถพลิกให้เกมเป็นด้านดีต่อลูกได้เช่นกัน เกมไม่ได้มีแค่ด้านลบเพียงอย่างเดียว การทำความเข้าใจความชอบของลูกและอยู่เคียงข้างเขาย่อมดีกว่าการต่อต้าน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กับลูกหลานได้

 

สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีความรู้เท่าทันสื่อเกมและอีสปอร์ต

ให้เด็กมีความเข้าใจข้อเท็จจริง

ระมัดระวังการโฆษณาแฝงและค่านิยมที่ไม่เหมาะสม

มีมุมมองต่อเกมและอีสปอร์ตอย่างรอบด้าน

ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ ให้เกมเป็นส่วนที่ดีในชีวิต และลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นได้

 

เกมสมดุล ชีวิตสมดุล

 

บทความโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

ปรึกษาปัญหาการติดเกมผ่าน Line Chatbot ได้ที่ Line ID: @426wsfmp หรือกดที่นี่เพื่อแอดไลน์ https://bit.ly/HGchatbot
.
หรือทักแชทเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้เลยที่ https://m.me/healthygamer

Healthy Gamer