window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ชวนวัยรุ่น “เช็คความพร้อม” เมื่ออยากเล่นเกมให้เป็นอาชีพ

ชวนวัยรุ่น “เช็คความพร้อม” เมื่ออยากเล่นเกมให้เป็นอาชีพ
เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

ชวนวัยรุ่น “เช็คความพร้อม” เมื่ออยากเล่นเกมให้เป็นอาชีพ

 

การค้นหาตนเอง เป็นก้าวแรกที่สำคัญของวัยรุ่น โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ต้องเริ่มเลือกสาขาวิชาในการเรียนต่อ และการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งหากถามถึงความชอบ แอดมินเชื่อว่าวัยรุ่นหลาย ๆ คน จะบอกว่าชื่นชอบการเล่นเกมอย่างแน่นอน บางคนก็ชอบเล่นเฉย ๆ เล่นเพื่อความสนุกและผ่อนคลาย แต่ในขณะที่บางคนก็ฝันอยากจะให้การเล่นเกม เป็นส่วนหนึ่งของงานหรืออาชีพในอนาคตเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสตรีมเมอร์ เกมแคสเตอร์ โปรเพลเยอร์ หรือทีมงานเบื้องหลังอย่างนักออกแบบเกม นักพัฒนาเกม

 

มันจะเป็นไปได้ไหม? ที่เราจะพัฒนาความชื่นชอบในการเล่นเกม ให้เป็นอาชีพและสามารถสร้างรายได้ให้แก่เรา

 

จากการศึกษาเรื่อง “เจตคติ แรงจูงใจ และพฤติกรรมของวัยรุ่นที่พร้อมจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกม” ผลการสัมภาษณ์ตัวอย่างวัยรุ่นอายุระหว่าง 13-18 ปี จำนวน 20 คน ที่มีความตั้งใจและเตรียมความพร้อมที่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกม พบว่า พวกเขาไม่ได้แค่คิดเฉย ๆ ว่าอยากจะทำ แต่พวกเขาจะต้อง “ลงมือปฏิบัติ” เพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมในการเข้าสู่อาชีพให้ได้ เพราะเขารู้ว่ามันไม่ง่าย เนื่องจากปัจจุบันมีคนทำอาชีพเหล่านี้จำนวนมาก แต่พวกเขาก็คิดว่า ทุกคนมีโอกาส หากฝึกฝนพัฒนาตนเอง

 

มาถึงตรงนี้ แอดมินขอชวนวัยรุ่นและพ่อแม่ ผู้ปกครอง มาติดตามอ่านกันต่อว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้ เขาเตรียมตัวอย่างไรในการเตรียมความพร้อมที่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกม เพื่อเป็นแนวทาง และพิจารณาดูว่าตอนนี้เราอยู่ในขั้นไหนแล้ว

 

การศึกษาดังกล่าวได้นำผลการสัมภาษณ์ มาสรุปเป็นขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่อาชีพที่เกี่ยวกับเกมของวัยรุ่น โดยทำออกมาเป็นลำดับขั้นพีระมิด เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่

 

ขั้นที่ 1 เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบการเล่นเกมทั่วไป มีลักษณะของการเล่นเกมไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความสนุกสนานและความผ่อนคลายจากชีวิตประจำวัน ซึ่งบางส่วนไม่ได้คิดอยากจะทำอาชีพเกี่ยวกับเกม แต่ก็จะมีบางส่วนที่อยากจะนำความชอบเล่นเกมของตนเอง มาพัฒนาให้เป็นอาชีพ เพราะมองว่า หากเกมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน น่าจะทำให้มีความสุข จึงคิดที่จะพัฒนาการเล่นเกมให้เป็นอาชีพ

 

ขั้นที่ 2 หลังจากที่คิดว่าจะพัฒนาการเล่นเกมให้เป็นอาชีพ ในขั้นนี้จะเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพเกมที่ตนเองสนใจ ตั้งแต่ลักษณะงาน รายได้ สาขาวิชาที่ควรเรียน ทักษะในการทำอาชีพ หรือคนที่สนใจอาชีพโชว์การเล่นเกม เช่น สตรีมเมอร์ เกมแคสเตอร์ ก็จะศึกษาวิธีการทำ วิธีการหารายได้ อุปกรณ์ ฯลฯ และต้องใช้เวลาในการดูรูปแบบเนื้อหาจากช่อง (channel) คนอื่น ๆ เพื่อดูรูปแบบของเนื้อหา (content) และวิธีการสื่อสาร การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม

 

ขั้นที่ 3 หลังจากศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพเกมที่สนใจแล้ว จะเริ่มสู่การฝึกฝนและพัฒนาทักษะของตนเอง คนที่สนใจอาชีพออกแบบเกม พัฒนาเกม จะต้องศึกษาการเขียนโปรแกรม การเขียนโค้ด (coding) ภาษาคอมพิวเตอร์ บางโรงเรียนไม่มีสอน ก็จะไปลงเรียนคอร์สสอนออนไลน์บ้าง และวางแผนในการเรียนต่อสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่อาชีพสตรีมเมอร์ เกมแคสเตอร์ จะพบคนที่ฝึกฝนฝีมือในการเล่นเกมให้ได้อยู่ในอันดับสูง เพื่อแสดงฝีมือในการเล่นเกม ส่วนคนที่เน้นรูปแบบเอนเตอร์เทนสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ก็จะต้องฝึกฝนการพูด การสื่อสารของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะและความสามารถไปสักระยะหนึ่งเลยทีเดียว อีกทั้งต้องมีวินัย รู้จักแบ่งเวลาเป็นอย่างมาก บางคนมีการทำตารางซ้อมอย่างชัดเจน

 

ขั้นที่ 4 เป็นขั้นทดลองทำ คือ ภายหลังจากฝึกฝนทักษะไประยะหนึ่งแล้ว จะเริ่มสู่ขั้นการทดลองปฏิบัติ คนที่สนใจอาชีพออกแบบเกม พัฒนาเกม จะลองสร้างเกมขึ้นมา ซึ่งมีเว็บไซต์ให้ลองทำและสามารถเก็บเป็นแฟ้มผลงาน (portfolio) ให้ตัวเองได้อีกด้วย คนที่สนใจเป็นโปรเพลเยอร์ จะมีการรวมทีมมือสมัครเล่นและไปลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ ในขณะคนที่สนใจเป็นสตรีมเมอร์ เกมแคสเตอร์ จะเริ่มทำช่อง (channel) ของตนเองลงแพลตฟอร์ม ซึ่งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์พร้อมในระดับหนึ่ง อาจใช้อุปกรณ์เท่าที่ตนเองมีก่อน หรือหากอยากได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ควรสร้างเป้าหมายจากความรับผิดชอบของตนเอง เช่น วางแผนซื้ออุปกรณ์จากเงินเก็บที่ได้จากค่าขนม หรือทำงานพาร์ทไทม์ช่วงปิดเทอม ฯลฯ

            อย่างไรก็ตาม การทดลองทำในขั้นนี้ อาจมีความเสี่ยงในการถูกโกงหรือถูกหลอกจากมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ได้ ซึ่งวัยรุ่นควรปรึกษาคนในครอบครัว

 

ขั้นที่ 5 การได้ทดลองทำ จะช่วยให้วัยรุ่นเห็นภาพการทำอาชีพที่ตนเองสนใจมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง อีกทั้งได้เกิดการเรียนรู้และทักษะการแก้ปัญหาต่าง ๆ วัยรุ่นจะพบว่า การทำอาชีพที่เกี่ยวกับเกม อาจไม่ใช่แค่การใช้เวลาเล่นเกมอย่างเดียว แต่เขาจะต้องฝึกฝนทักษะอย่างรอบด้าน รู้จักแบ่งเวลา ความรับผิดชอบที่มากขึ้นจากการเรียนหนังสือ ถ้าเขารักษาสมดุลไว้ได้ จะมีโอกาสเข้าสู่การทำอาชีพให้เป็นจริงได้ และถึงแม้ไม่สามารถเข้าสู่การทำอาชีพได้ เขาก็ยังได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากการได้ทดลองทำ และอาจเห็นอาชีพสำรองอื่น ๆ ที่เป็นความถนัดของตนเองได้เช่นเดียวกัน


แทรกใน website อยากเล่นเกมให้เป็นอาชีพ

การได้ให้วัยรุ่นเรียนรู้และทดลองด้วยตนเองอย่างอิสระ จะช่วยให้เขาได้สำรวจค้นหาตนเอง (identity) ทำให้เกิดความเป็นตัวของตัวเอง (independence) ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองอย่างมาก พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้การส่งเสริมการเล่นเกมในเชิงบวก และคอยดูแล สอนทักษะชีวิตอย่างใกล้ชิด เพราะการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวจะช่วยให้วัยรุ่นเกิดการพัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น

 

 

เรียบเรียงโดย ชุติมา มีแสง

 

อ้างอิง

ชุติมา มีแสง. (2566). เจตคติ แรงจูงใจ และพฤติกรรมของวัยรุ่นที่พร้อมจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกม. ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว. มหาวิทยาลัยมหิดล

Healthy Gamer