window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ลูกวัยรุ่นเงียบ ไม่คุยด้วย

ลูกวัยรุ่นเงียบ ไม่คุยด้วย
เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

ลูกวัยรุ่นเงียบ ไม่คุยด้วย

สัญญาณจากพัฒนาการหรือปัญหาที่ต้องรีบแก้

 

พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายท่าน กำลังประสบปัญหาเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น แล้วลูกเริ่มออกห่างจากเรา และเหมือนยิ่งเราพยายามชวนคุยเท่าไหร่ ลูกยิ่งพูดด้วยน้อยลง

 

สถานการณ์นี้ เชื่อว่าคุณพ่อแม่คุณแม่หลายท่านเริ่มกังวลใจและอยากหาวิธีแก้ไขแน่นอน แอดมินจึงขอมาบอกเล่าบทความจากเว็บไซต์ Child Mild Institute ที่ได้บอกถึงเคล็ดลับในการสื่อสารกับลูกช่วงวัยรุ่น เพื่อยังคงรักษาสัมพันธภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ปล่อยพื้นที่ให้ลูกได้ค่อย ๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์กันค่ะ

 

สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ หายใจเข้าออกยาว ๆ และทำความเข้าใจว่าการพรากจากหรือออกห่างจากพ่อแม่ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องปกติ แต่ยังเป็นช่วงพัฒนาการที่จำเป็นและสำคัญของวัยรุ่นเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงสู่อิสรภาพเป็นเรื่องยาก และถึงขนาดที่เด็กๆ หลายคนก็ไม่อยากจะยอมรับการไปสู่อิสรภาพนี้ เด็ก ๆ ยังคงต้องการให้พ่อแม่เชื่อมต่อและมีส่วนร่วมในชีวิตของพวกเขาอยู่ด้วย

 

วัยรุ่นต้องการพื้นที่ของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการพ่อแม่ด้วย  ที่จริงแล้ว วัยรุ่นส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาต้องการใกล้ชิดกับพ่อแม่มากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่สับสนระหว่างการต้องแยกตัวเพื่อเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องพยายามปิดช่องว่างอย่างระมัดระวัง และเริ่มต้นด้วยการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับพวกเขาในแบบที่เขาเป็นตอนนี้

 

ความเงียบของลูกมีหลายแบบ...

 

การที่ลูกไม่พูดคุยกับพ่อแม่ หรือพูดน้อยลงนั้นมีหลายแบบ ขอยกตัวอย่างจากสามสถานการณ์ที่เป็นไปได้ดังนี้

 

1. คุณและลูกเคยเป็น ‘เพื่อนซี้’ กันมาก่อน

 

พวกเขามีอะไรเคยบอกคุณทุกอย่าง แต่ตอนนี้ จู่ๆ พวกเขาก็ปิดกั้นคุณและแชร์ความคิดเห็นส่วนตัวกับเพื่อนเท่านั้น

ในสถานการณ์นี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลมากนัก ซึ่งถึงแม้จะเจ็บปวดก็ตาม แต่คุณต้องพยายามเคารพการตัดสินใจของลูก เพราะพวกเขากำลังทำสิ่งที่พวกเขาควรจะทำ

 

สิ่งที่ต้องทำ:

  • อย่าตีโพยตีพายดุว่าลูกหรือบอกพวกเขาว่าคุณรู้สึกเจ็บปวดแค่ไหน
  • พยายามมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับพวกเขา
  • ให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่คุณและเขาชอบทำร่วมกัน
  • นั่งกินข้าวพร้อมกับพวกเขา
  • อย่าคาดคั้นหรือบีบคั้นพวกเขาเพื่อหาข้อมูลและเหตุผล ให้เปิดใจและแบ่งปันบางสิ่งที่ตลกหรือน่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของคุณเองแทน หากคุณเปิดใจ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะทำเช่นเดียวกัน
  • พูดคุยกับพวกเขาเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่งด้วยความเคารพ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าคุณให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพวกเขาและคาดหวังความเคารพกลับเช่นเดียวกัน

 

2. ลูกของคุณที่เคยน่ารัก ตอนนี้ตอบสนองคุณด้วยคำเพียงคำเดียว และการกลอกตาอย่างรำคาญ

 

พวกเขาใช้เวลากับคุณให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และดูเหมือนจะเก็บความสนุกสนาน กระปรี้กระเปร่าไว้เพื่อเพื่อนของพวกเขาเท่านั้น

 

ในสถานการณ์นี้ แม้ว่าดูแล้วอาจจะน่าโมโห และอาจทำให้คุณอยากลงโทษพวกเขา แต่จงรู้ไว้ว่ามันยังอยู่ในช่วงพัฒนาการของวัยรุ่นตามปกติ การมุ่งเน้นที่ความสัมพันธ์แบบเพื่อนช่วยให้วัยรุ่นเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพ่อแม่น้อยลง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและพึ่งพาตนเองได้ ถึงอย่างนั้น ก็ยังเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องเคารพในตัวลูกและดูแลลูกให้อยู่ในความปลอดภัย

 

สิ่งที่ต้องทำ:

  • กำหนดขอบเขตและขีดจำกัดที่เหมาะสม แต่ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ พ่อแม่จะไม่ได้รับความเคารพเชื่อฟัง หากลูกไม่รู้สึกผูกพันกับคุณ
  • ลองหยุดพฤติกรรมการบ่นและสอนไปเรื่อย ๆ เพราะหากทำได้ ลูกจะไม่จำเป็นต้องผลักคุณออกไป เพื่อที่จะเป็นตัวของตัวเอง
  • จำไว้ว่าวัยรุ่นสามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกได้ ถึงแม้บางครั้งพวกเขาจะดูก้าวร้าวและหยาบคาย การช่วยเตือนพวกเขาว่าพวกเขาแท้จริงเป็นคนอย่างไร อย่างเช่นการพูดประมาณว่า “แม่เข้าใจว่าลูกอารมณ์เสียมาก แต่ปกติแล้วลูกเป็นคนใจเย็น” ประโยคเหล่านี้สามารถสร้างจุดเริ่มต้นของการสนทนาได้

 

3. ลูกของคุณไม่พูดกับใครเลย และใช้เวลาทั้งหมดอยู่ในห้องส่วนตัวหรือพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ให้ใครเข้าไปรบกวน

 

ลูกของคุณแยกตัวจากเพื่อนสนิท หมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยทำให้พวกเขามีความสุข และแยกตัวมากขึ้น

 

สถานการณ์นี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก และอยู่นอกขอบเขตพัฒนาการปกติของวัยรุ่น  คุณต้องค้นหาว่าลูกของคุณได้รับความเจ็บปวดหรือมีบาดแผลทางจิตใจอย่างไร เช่น การกลั่นแกล้งรักแก การถูกคุกคามทางเพศ หรือการใช้ยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ในทางที่ผิดหรือไม่ พฤติกรรมนี้อาจบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคจิตเภท ซึ่งทั้งหมดนี้พบบ่อยในวัยรุ่นตอนปลายและช่วงอายุ 20 ต้นๆ

 

มันอันตรายหากพวกเขาแยกตัวออกห่างจากทุกคนที่รู้จัก และทดแทนด้วยการเข้าไปสู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่สามารถทดแทนการพูดคุยกับผู้คนในชีวิตจริงได้ ความสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ตอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นการยากที่จะทราบว่าคนที่ลูกของคุณเป็นเพื่อนด้วยทางออนไลน์นั้นมีความสันพันธ์ที่ดี หรือไม่อาจทราบได้เลยว่าพวกเขาเป็นใคร

 

สิ่งที่ต้องทำ:

  • หากลูกของคุณดูไม่เป็นมิตรและโกรธ ลองให้โอกาสพวกเขาอธิบายว่าคุณทำอะไรผิดพลาดไปหรือไม่ บางทีสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับพ่อแม่
  • ในสถานการณ์นี้ ห้องหรือพื้นที่ส่วนตัวของวัยรุ่นไม่ควรถูกจำกัดห้ามไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าอีกต่อไป พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ในห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละครั้งตามลำพัง
  • การยังคงถามไถ่ถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การถามว่าลูกจะออกไปที่ไหน หรือถามเวลากลับบ้าน ฯลฯ ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและจริงจัง (firm)
  • ในกรณีที่ลูกปฏิเสธที่จะสื่อสาร จำเป็นต้องติดตามโซเชียลมีเดียของพวกเขา
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา อธิบายพฤติกรรมของลูกโดยละเอียด

 

หากคุณสงสัยว่าลูกอาจกำลังมีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย

 

ในกรณีนี้ต้องรีบแก้ไขปัญหาทันที แต่ยังคงมีสติ

 

           “สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องพูดถึงข้อกังวลของคุณด้วยท่าทีที่สงบและไม่กล่าวหา”

 

Nadine Kaslow นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการฆ่าตัวตายในคนหนุ่มสาวกล่าว

 

              “บางครั้งเมื่อพ่อแม่กังวลมาก มักจะพูดกับลูกตอนท้ายว่า 'อย่าคิดแบบนี้' หรือ อย่ารู้สึกอย่างนี้' ซึ่งพ่อแม่ก็ลืมที่จะแสดงความรักและความห่วงใยตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่กลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ลูกแทน ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะตอบสนองในทางลบต่อสิ่งนั้น และปัญหาไม่ได้รับการช่วยเหลือ”

 

สุดท้าย Kaslow ยังแนะนำเพิ่มเติมดังนี้

  • ให้ลูกรู้ว่าคุณรักพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก
  • ยืนยันความรู้สึกของพวกเขาโดยพูดสิ่งที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ เช่น “ฟังแล้วดูเป็นเรื่องยากจริงๆ” “แม่เข้าใจว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน”
  • ทำงานร่วมกับลูกของคุณเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และอธิบายว่าการขอความช่วยเหลือไม่ใช่ความอ่อนแอ

 

โดยสรุป เมื่อลูกวัยรุ่นเริ่มมีท่าทีเงียบและพูดคุยกับพ่อแม่น้อยลง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การทำความเข้าใจและยอมรับพัฒนาการของลูก และให้พื้นที่แก่พวกเขาเพื่อการเติบโต แต่พ่อแม่ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดีของลูกเหนือสิ่งอื่นใด  และนั่นหมายถึงการเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างกัน

แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นเรื่องง่ายก็ตาม...

 

เรียบเรียงโดย ชุติมา มีแสง

 

อ้างอิง : https://childmind.org/article/help-my-teen-stopped-talking-to-me/

ปรึกษาปัญหาการติดเกมผ่าน Line Chatbot ได้ที่ Line ID: @426wsfmp หรือกดที่นี่เพื่อแอดไลน์ https://bit.ly/HGchatbot
.
หรือทักแชทเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้เลยที่ https://m.me/healthygamer



Healthy Gamer