window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

วิดีโอเกม : คำว่า “ดี” ของวิดีโอเกมเป็นอย่างไร

วิดีโอเกม : คำว่า “ดี” ของวิดีโอเกมเป็นอย่างไร
เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

วิดีโอเกม : คำว่า “ดี” ของวิดีโอเกมเป็นอย่างไร

 

เชื่อว่ามีหลายคนเจอคำถามนี้ “วิดีโอเกมมีดีด้วยเหรอ”  หรือ “วิดีโอเกมมีดีอย่างไร” เนื่องจาก คนส่วนหนึ่งมักจะมองว่าวิดีโอเกมเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดเรื่องราวที่ไม่ดีในสังคม

 

บทความนี้จะมาทำให้เห็นด้านบวกของ “วิดีโอเกม” ซึ่งมีงานวิจัยในหลายสาขาพูดถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเล่นวิดีโอเกม :


1. วิดีโอเกมทำให้เด็กรู้สึกดี
: วิดีโอเกมเป็นการเสริมแรงทางบวกให้แก่เด็ก เกมส่งเสริมทักษะ ทำให้เกิดการเรียนรู้ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บางครั้งไม่มีเหตุการณ์ที่เด็กจะได้รับแรงเสริมที่สม่ำเสมอและกระตุ้นให้กระตือรือร้นเช่นเดียวกับการเล่นเกม สำหรับเด็กที่ฝึกฝนเรียนรู้วิธีการเล่นเกมให้ดีขึ้น พวกเขาจะได้รับรางวัลจากความพยายามและสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กรู้สึกดีอย่างมาก! แม้ว่าการเริ่มต้นเล่นเกมใหม่ หรือสำหรับเด็กที่ฝึกเล่นอาจจะมีความยากลำบากบ้าง แต่โดยทั่วไปเด็กเล่นเกมจะพัฒนาตัวเองให้เกิดความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นผลให้เด็กเกิดความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตนเองที่มากขึ้น

2. การเล่นเกมเป็นการฝึกทักษะสมองส่วนหน้า
(Executive Functioning Skills : EF): ถึงแม้เกมแต่ละเกมจะมีวิธีการเล่นที่แตกต่าง แต่มักจะต้องใช้ทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ในการเล่นให้ประสบความสำเร็จเหมือนกัน ซึ่งไม่เหมือนการดูโทรทัศน์ที่แค่นั่งมองหน้าจอเท่านั้น บางคนมองว่าแค่เล่นเกม แต่ที่จริงแล้วการเล่นเกมต้องใช้ทักษะหลายอย่างมาก เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการวางแผน ทักษะการเผชิญกับปัญหาความท้าทายที่ยากลำบาก และทักษะการจัดการอารมณ์ เมื่อเกิดความผิดพลาดในการเล่นเกมแพ้ ซึ่งไม่สามารถที่จะกลับไปแก้ไขได้ นอกจากนี้ การเล่นเกมยังแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทักษะการรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ทางสายตา แต่อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือการเล่นเกมอย่างเหมาะสม ไม่ได้เล่นจนกระทั่งติดเกม เพราะหากเล่นในระดับที่เรียกว่าติดเกม อาจมีผลต่อสมองส่วนหน้า (EF) ในเรื่องของการควบคุมตนเองลดลงได้

3. ประโยชน์ทางสังคม ในปัจจุบัน
วิดีโอเกมจำนวนมากเล่นผ่านออนไลน์และสร้างโอกาสในการสื่อสารกับเพื่อนทางออนไลน์ แม้ว่าสิ่งนี้อาจจะไม่สามารถแทนความสำคัญของการสื่อสารกับเพื่อนในชีวิตจริงได้ แต่ปัจจุบันเด็กๆ สามารถทำงานร่วมกันและสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อค้นหาเป้าหมายที่ร่วมกันได้ นอกจากนี้ คุณลักษณะนี้ยังสามารถทำให้พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมและการเป็นผู้นำ

 

4. วิธีใหม่ในการเชื่อมต่อกับเด็ก แม้ว่าพ่อแม่หลายคนแทบไม่สนใจเล่นวิดีโอเกมเลย แต่นี่อาจเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความผูกพันกับลูก ผู้ปกครองลองสนใจเกมที่ลูกๆ กำลังเล่น อาจจะขอเข้าร่วมเล่นกับลูก ซึ่งอาจจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครอบครัวก็เป็นไปได้

 

พอมาถึงตรงนี้ผู้ปกครองอาจจะเห็นอีกมุมบวกของเกม ถึงแม้เกมมีมุมดีๆ แต่ หากเราให้ความสำคัญเยอะเกินไปอาจจะเกิดโทษได้ ดังนั้นผู้เขียนมีเคล็ดลับที่มีประโยชน์ในการกำหนดเวลาในการเล่นเกม คือ  


1. ใช้การเล่นเกมเป็นวิธีในการเสริมรางวัลทางบวก
: วิดีโอเกมมักเป็นรางวัลที่น่าสนใจและสามารถใช้กระตุ้นเป็นขวัญกำลังใจให้เด็กทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยชอบได้ (เช่น การบ้าน, งานบ้าน ฯลฯ) ข้อควรจำ – การเล่นเกมเป็นสิทธิ์ที่จะได้รับ ไม่ใช่สิทธิ์โดยอัตโนมัติ!

 

2. รวม "เวลาเล่นเกม" ในตารางหรือกิจวัตรประจำวัน: ตารางและกิจวัตรช่วยสร้างความเป็นระบบ ลูกควรทราบว่าพวกเขาได้รับอนุญาตให้เล่นเกมในวันธรรมดาหรือช่วงสุดสัปดาห์ได้นานแค่ไหน ซึ่งควรทำเป็นตารางที่มีภาพประกอบจะเป็นประโยชน์มาก เพราะจะทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน

 

3. กำหนดเวลาเริ่มเล่นเกม และเวลาเลิกเล่นเกมให้ชัดเจน: หนึ่งในเรื่องที่ท้าทายที่สุดของการเล่นเกม คือ เด็กๆ ถูกบอกให้ออกจากระบบเกม หลังจากนั้นจะได้ยินเสียงคุ้นเคย “ขออีกห้านาที!!! “ “หนู/ผมเกือบเสร็จแล้ว” “ขออีกเกมเดียว” ดังนั้นเราและลูกต้องมีการกำหนดขอบเขตว่า เวลาเริ่มเล่นเกม และเวลาเลิกเล่นเกม ก่อนจะหมดเวลา ผู้ปกครองส่งเสียงเตือน เช่น เหลือเวลาอีก 5 นาที หรือ อาจจะใช้แอปช่วยตรวจสอบและจำกัดเวลาการใช้จอสำหรับเด็กก็ได้

4. เลือก “วันหยุดอิเล็กทรอนิกส์”
(วันที่ไม่ใช้อิเล็กทรอนิกส์) ของครอบครัว : ในบางครั้งทุกคนจมอยู่กับ เกม โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ทำให้การใช้เวลากับครอบครัวลดน้อยลง ดังนั้นลองประชุมกันในครอบครัว เพื่อตั้ง “วันหยุดอิเล็กทรอนิกส์” วันที่ทุกคนห่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่จับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 1-2 วันต่อเดือนเพื่อทำกิจกรรมสนุกสนานกับครอบครัว

 

สรุปได้ว่า การเล่นเกมเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ทั้งทางการเรียนรู้และสังคม โดยมุมดีของเกมเป็นการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ฝึกความชำนาญ และการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม

การควบคุมตัวเองในการเล่นเกมอย่างมีวินัยสามารถช่วยให้เกมเป็นประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตประจำวันของเด็ก และเกมอาจจะเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดพลังบวกใน “ครอบครัว” ก็เป็นไปได้ ลองดูกันนะ !!!

 

เรียบเรียงโดย โสธิดา ผุฏฐธรรม

 

อ้างอิง



ปรึกษาปัญหาการติดเกมผ่าน Line Chatbot ได้ที่ Line ID: @426wsfmp หรือกดที่นี่เพื่อแอดไลน์ https://bit.ly/HGchatbot
.
หรือทักแชทเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้เลยที่ https://m.me/healthygamer
Healthy Gamer