window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนให้ลูกเล่นเกม

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนให้ลูกเล่นเกม
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
เชิญชวนทุกท่านรับฟัง Podcast ตอนที่ 2 จาก Healthy Gamer ในหัวข้อ “สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนให้ลูกเล่นเกม” ค่ะ โดยสามารถรับฟังกันแบบเต็ม ๆ ได้ที่

Youtube: สิ่งที่ควรทำก่อนให้ลูกเล่นเกม



Spotify: สิ่งที่ควรทำก่อนให้ลูกเล่นเกม


 

นอกจากนี้ ทุกท่านยังสามารถอ่านเนื้อหาฉบับบทความได้ดังนี้ค่ะ

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนให้ลูกเล่นเกม


1. สำรวจเกม

            คำว่า “เกม” จริง ๆ แล้วหมายถึงกิจกรรมการละเล่นหลากหลายรูปแบบ อาจหมายถึงเกมในห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ กิจกรรมสันทนาการเพื่อความบันเทิง เกมกีฬา เกมการแข่งขัน และเกมที่เล่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ วัตถุประสงค์ของเกมก็เพื่อความบันเทิง ความสนุกสนาน รวมทั้งการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ตามแต่ละประเภทของเกม

            เกมที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรระมัดระวังในการให้ลูกหลานเล่น คือ เกมที่เล่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เพราะหากเล่นมากเกินไปก็อาจทำให้เด็ก ๆ เป็น “โรคติดเกม” ได้ ซึ่งมีผลกระทบต่อสมอง เชาว์ปัญญา สุขภาพร่างกาย อารมณ์ และสังคม ของเด็ก

            สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนให้ลูกเล่นเกม คือ การเลือกเกมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก สำหรับการเล่นวิดีโอเกมผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์นั้น ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยได้แนะนำไว้ว่า

  • ไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เล่น
  • เด็กอายุ 3-6 ปี เล่นได้เฉพาะเกมที่เล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ หรือเกมการศึกษาเท่านั้น และต้องมีผู้ปกครองควบคุม
  • เด็กอายุมากกว่า 6 ปี อนุญาตให้เล่นเกมนอกเหนือจากเกมการศึกษาได้ โดยต้องเป็นเกมที่ถูกกำหนดไว้สำหรับเด็กแต่ละวัยเท่านั้น
  • ในเด็กเล็ก (6-10 ปี) ควรเลือกเกมที่ไม่รุนแรง หรือรุนแรงเพียงเล็กน้อย เช่น เกมกีฬาที่ไม่ใช่การต่อสู้ เกมการ์ตูน และใช้ภาษาสุภาพ
  • ในเด็กโต (10-13 ปี) อาจเล่นเกมที่มีฉากต่อสู้เล็กน้อยภายในเกม และมีภาษาที่ซับซ้อนขึ้น แต่ไม่ควรมีฉากความรุนแรง
  • ในวัยรุ่น (13 ปีขึ้นไป) อาจสนใจเกมที่มีการต่อสู้และความรุนแรงที่มากขึ้น แต่ไม่ควรมีความรุนแรงที่มากเกินไป เช่น ฉากนองเลือด และควรระวังเกมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น เรื่องเพศ ยาเสพติด คำหยาบคาย หรือเนื้อหาที่ยุยงให้กระทำผิด

พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรตรวจสอบเรตติ้ง หรือช่วงอายุของผู้เล่นที่เหมาะสมกับเกมนั้น ๆ ที่ปรากฎใน App Store/Play Store หรือหน้ากล่องเกม และศึกษารายละเอียดของเกม ก่อนที่จะให้ลูกเล่นเกมนั้น ๆ

           

2. สำรวจลูก

พ่อแม่ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เด็กมีงานอดิเรก หรือทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และดีต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การทำกิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ เพื่อให้เด็กมีกิจกรรมที่หลากหลายซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาติดเกมได้ ทั้งนี้ คุณลักษณะที่เด็ก ๆ ควรมี เพื่อที่จะสามารถเล่นเกมได้อย่างสร้างสรรค์ คือ

  • รู้จักแบ่งเวลา และมีวินัย: การมอบหมายงานบ้านให้เด็กรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก เป็นการฝึกให้เด็กมีวินัย รู้จักควบคุมตนเอง
  • มีความภาคภูมิใจในตนเอง: การชื่นชมและส่งเสริมสิ่งที่เด็กทำได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องเรียน เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ และหาโอกาสพัฒนาเด็กเพื่อให้เด็กภาคภูมิใจในตนเอง จะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันในการติดเกมได้
  • มีงานอดิเรกหลายอย่างและมีวิธีการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม

 

3. ตั้งกติกาในการเล่น

พ่อแม่ผู้ปกครองควรสร้างข้อตกลงเป็นกติการ่วมกันกับเด็ก ว่าเด็กจะเล่นเกมอะไรได้บ้าง เล่นได้นานแค่ไหน สามารถซื้อของในเกมได้หรือไม่ เล่นเกมกับใครได้บ้าง และหากเด็กเจอสถานการณ์ที่ไม่สบายใจจากการเล่นเกมกับคนอื่นจะทำอย่างไร สำหรับการจัดการกับการจำกัดการซื้อในเกมของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.healthygamer.net/Library/detail/326

นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถใช้โหมด Parental controls (การควบคุมโดยผู้ปกครอง) หรือใช้แอปพลิเคชันในการช่วยควบคุมการเล่นเกมของเด็กได้ เช่น Google Family Link

สำหรับระยะเวลาการเล่นเกมของเด็ก

  • ควรกำหนดหน้าที่ที่เด็กต้องรับผิดชอบก่อนการเล่นเกม กำหนดการลงโทษหากไม่สามารถทำตามกติกาได้ (ซึ่งแนะนำให้ใช้วิธีงดเกม หรือลดเวลาในการเล่นในครั้งต่อไป)
  • ไม่แนะนำให้เล่นรวมมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวันในวันธรรมดา และ 2 ชั่วโมงต่อวันในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
  • ไม่แนะนำให้เล่นเกมต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง
  • ไม่แนะนำให้เล่นในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะการเล่นเกมจะมีผลรบกวนการนอน

ที่สำคัญ คือ การเล่นเกมของเด็กต้องไม่รบกวนการทำหน้าที่ที่สำคัญ เช่น การทำการบ้าน การช่วยทำงานบ้านต่าง ๆ และการออกกำลังกาย และไม่ควรเล่นเกมขณะทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ระหว่างการเดินทาง การรับประทานอาหาร

 

เมื่ออนุญาตให้ลูกหลานเล่นเกมแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองควรควบคุมการเล่นเกมของเด็กให้เป็นไปตามกติกา และร่วมเรียนรู้เรื่องการเล่นเกมไปกับเด็ก เกมมีทั้งด้านดีและไม่ดี พ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกถึงประโยชน์และโทษของการเล่นเกม ให้เด็กได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยพ่อแม่ผู้ปกครองรับฟัง ชวนคุยชวนคิด และให้คำชี้แนะ ปัจจุบันภัยออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบซึ่งอาจสอดแทรกอยู่ในเกมได้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะติดตามข่าวสาร และแนะนำเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับบุตรหลานด้วย

นอกจากกฎกติกาที่มีความสำคัญแล้ว อย่าลืมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว ด้วยการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันนะคะ

 

เขียนและเรียบเรียงโดยณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง เรื่อง การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเด็กและวัยรุ่น โดยชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย (https://www.sem100library.in.th/medias/b10285.pdf)

ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ HealthyGamer ได้ทาง
E-mail: healthygamer@gmail.com
Healthy Gamer