window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag() { dataLayer.push(arguments); } gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-CBGDY77RP9');

ปกป้องลูกหลานจากอันตราย 7 อย่างของการเล่นเกมออนไลน์

ปกป้องลูกหลานจากอันตราย 7 อย่างของการเล่นเกมออนไลน์
เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

ปกป้องลูกหลานจากอันตราย 7 อย่างของการเล่นเกมออนไลน์

 

แม้ว่าเกมออนไลน์อาจจะมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เล่น ทำให้ผู้เล่นได้สร้างมิตรภาพอันดีกับผู้เล่นคนอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เกมออนไลน์ก็มีด้านมืดที่ผู้เล่นอาจได้รับประสบการณ์แย่ ๆ จากเกมก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกไซเบอร์ นักล่าเหยื่อทางเพศ หรือค่าใช้จ่ายแอบแฝงจากเกมออนไลน์

 

พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะมีความกังวล เมื่อเห็นลูกหลานเล่นเกมออนไลน์  สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทำได้ คือ การพูดคุยกับลูกหลานอยู่เสมอ ปลูกฝังเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ตั้งแต่ลูกหลานยังเล็ก ๆ และชวนเด็ก ๆ คิดวิเคราะห์ต่อยอดเมื่อเขาโตขึ้น 

 

เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจเรื่องความเสี่ยงในโลกออนไลน์ และรู้ความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์ เด็ก ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมาพูดคุยกับพ่อแม่ เมื่อเด็ก ๆ รู้สึกไม่สบายใจ หรือพบสัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ

 

อันตราย 7 อย่างของการเล่นเกมออนไลน์ และเคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองในการดูแลลูกหลานให้ปลอดภัยจากโลกออนไลน์

 

1. การกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying)

คนเราสามารถแสดงตัวตนได้อย่างอิสระในโลกออนไลน์ การที่ไม่มีใครรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเราคือใคร เรียนโรงเรียนอะไร หรือหน้าตาเป็นแบบไหน ช่วยให้เด็ก ๆ ผ่อนคลายความเครียดจากชีวิตจริงได้ แต่ “ความนิรนามบนโลกออนไลน์”​ ที่ทำให้เราไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของบุคคลได้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนแสดงสิ่งต่าง ๆ ออกมาแบบไม่ระมัดระวัง หรือกล้าที่จะแสดงความก้าวร้าวออกมาได้มากขึ้น

 

สิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดลักษณะการเล่นแบบแย่ ๆ ในเกมออนไลน์

ข้อมูลจาก Get Safe Online ระบุว่า ผู้เล่นบางคนใช้ประโยชน์จากความนิรนาม เพื่อจงใจก่อกวนผู้เล่นคนอื่นทำให้เกมสนุกน้อยลง เช่น พอเห็นคนอื่นกำลังจะทำภารกิจสำเร็จก็เข้ามาแย่งหรือขัดขวาง หรือการที่ผู้เล่นคนนั้นเป็นผู้เล่นระดับสูงในเกมแล้ว แต่กลับมาแกล้งผู้เล่นหน้าใหม่ ทำให้พวกเขาตายในเกม

 

บางครั้ง การจงใจก่อกวนผู้เล่นคนอื่น อาจบานปลายไปสู่การกลั่นแกล้งระรานทางไซเบอร์ 

 

การกลั่นแกล้งกันมีหลากหลายรูปแบบ

สำหรับแพลตฟอร์มเกม อาจเป็นการส่งข้อความส่วนตัวหาอีกฝ่ายโดยตรง ด้วยข้อความที่ทำร้ายจิตใจ หรือส่งข้อความที่เป็นสแปมลงในช่องแชทที่จะส่งถึงทุกคนในเกม ซึ่งอาจเป็นการโจมตี สร้างความเสื่อมเสีย ให้กับเหยื่อ

 

พ่อแม่ผู้ปกครองควรบอกให้เด็ก ๆ เข้าใจทางเลือกที่สามารถป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ โดยเกมส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ผู้เล่นบล็อกแชทและข้อความจากผู้เล่นรายอื่นได้ ในบางเกม คำพูด หรือการกระทำของผู้รังแกอาจเป็นการละเมิดข้อกำหนดในการให้บริการของเกม ซึ่งเด็ก ๆ ก็สามารถที่จะบันทึก หรือถ่ายภาพหน้าจอของการสนทนาที่ไม่เหมาะสมไว้ และรายงานไปยังผู้ดูแลเกมได้

 

2. ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว

เด็ก ๆ ไม่ควรสร้างชื่อผู้ใช้ด้วยชื่อจริงของพวกเขา หรือข้อมูลที่อาจสามารถระบุตัวตนได้ เช่น สถานที่ หรืออายุ ข้อมูลจาก US-CERT ระบุว่า ลักษณะทางสังคมของเกมออนไลน์ ทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถที่จะจัดการหรือควบคุมลูกหลานของคุณผ่านการสนทนาได้ อาชญากรไซเบอร์อาจเลือกเด็ก ๆ จากในช่องแชททั่วไป จากนั้นจึงเริ่มส่งข้อความส่วนตัว เพื่อชวนคุยและถามข้อมูลส่วนตัวโดยละเอียด จากนั้นด้วยการรวบรวมข้อมูลจากเกมและแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ก็ทำให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงบัญชีโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ของเด็ก ๆ ได้ หรือแฮกเกอร์อาจจะสร้างบัญชีใหม่แล้วปลอมตัวเป็นเด็ก ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้มากมาย ดังนั้น เด็ก ๆ ควรจำไว้ว่า อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ กับคนในโลกออนไลน์ และอย่าใช้ชื่อและรหัสผ่านที่เหมือนกันในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม เกม หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

 

3. ข้อมูลส่วนบุคคลบนอุปกรณ์ต่าง ๆ

อันตรายจากเกมออนไลน์อีกประการหนึ่งมาจากตัวอุปกรณ์ เช่น คอนโซล หรือคอมพิวเตอร์ ที่เมื่อใช้มานานจนหมดประโยชน์แล้ว หลายครอบครัวก็มักจะนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปขายต่อ บริจาค หรือส่งไปรีไซเคิล 

 

ผู้ใช้มักจะลืมว่าข้อมูลส่วนตัวถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์เหล่านี้มากน้อยเพียงใด และบางคนก็อาจจะลบข้อมูลทั้งหมดไม่สำเร็จ ทำให้ข้อมูลทางการเงินและข้อมูลส่วนตัวตกอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้น ก่อนที่จะกำจัดคอมพิวเตอร์ เกมคอนโซล แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน คุณควรล้างข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด จากนั้นจึงทำการรีเซ็ตอุปกรณ์เป็นค่าจากโรงงาน

 

คุณควรที่จะศึกษาวิธีการตั้งค่าจากโรงงานของแต่ละอุปกรณ์ให้ดี เพราะแต่ละอุปกรณ์อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะหรือขั้นตอนที่แตกต่างกันไปตามประเภทของอุปกรณ์ นอกจากนี้ คุณควรรู้ไว้ว่าอุปกรณ์บางอย่างอาจมีพื้นที่เก็บข้อมูลที่แม้คุณจะลบข้อมูลแล้วแต่ข้อมูลนั้นอาจยังอยู่ หากอุปกรณ์ใช้ไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลที่เข้ากันได้กับคอมพิวเตอร์ เช่น SD cards คุณสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านั้นเข้ากับคอมพิวเตอร์ของคุณและลบข้อมูลออกอย่างปลอดภัย 

 

สำหรับคอมพิวเตอร์ คุณควรใช้โปรแกรมที่ลบข้อมูลทั้งหมดด้วยการเขียนทับข้อมูลหลาย ๆ ครั้ง แทนการ "ลบ" หรือการฟอร์แมตใหม่ (Format) เพียงอย่างเดียว

 

4. ความกังวลเกี่ยวกับเว็บแคม

เว็บแคมเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ผู้ใช้นำมาติดเพิ่มด้วยตนเอง ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายของการถูกแฮ็ก แฮ็กเกอร์สามารถแสวงหาประโยชน์จากเว็บแคมได้มากมายอย่างง่ายดาย 

 

ปัจจุบัน อุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ต่างก็มีเว็บแคมในตัว ซึ่งจากรายงานการแฮ็กเว็บแคมยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ผ่านอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่บันทึก เช่น เว็บแคม หรือไมโครโฟน แฮ็กเกอร์สามารถควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ ได้จากระยะไกล และใช้เพื่อแสวงประโยชน์จากลูกหลานของคุณ 

 

การใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีการสแกนระบบแบบเรียลไทม์ และตามกำหนดเวลา สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ ควรตรวจสอบการตั้งค่าเว็บแคมให้ "ปิด" ไว้เป็นการตั้งค่าเริ่มต้น และอาจใช้ฝาครอบกล้องหรือเทปทึบแสงปิดกล้องไว้เมื่อไม่ได้ใช้

 

5. นักล่าออนไลน์ (Online Predators)

นักล่าออนไลน์มักจะเป็นผู้เล่นเกมหรือเกมเมอร์ที่มีอายุมากกว่า พวกเขาใช้เกมเพื่อหลอกล่อเหยื่อที่อายุน้อย โดยเหล่านักล่าอาจส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมให้กับเด็ก ๆ มีการแชทผ่านเว็บแคม จากนั้นอาจมีการชักชวนให้เด็ก ๆ ออกไปพบแบบเจอหน้ากันจริง ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การแสวงประโยชน์ทางเพศ 

 

เกมออนไลน์ทำให้นักล่ามีโอกาสสร้างประสบการณ์ออนไลน์ร่วมกับเด็ก ๆ เช่น เมื่อเด็ก ๆ สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ด้วยความช่วยเหลือของนักล่า เด็ก ๆ ก็จะรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นเพื่อน เป็นพันธมิตร เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผู้ล่าสามารถสร้างความผูกพันกับเด็ก ๆ ผ่านการมีประสบการณ์ในเกมร่วมกัน และค่อย ๆ ก้าวสู่พื้นที่ส่วนตัวของเด็ก ๆ มากขึ้นได้

 

ในหลายกรณี นักล่าจะพยายามแยกเด็กออกจากพ่อแม่และเพื่อนในชีวิตจริง โดยทำให้เด็กรู้สึกว่านักล่าเป็น “คนเดียวที่เข้าใจเราจริง ๆ” พ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกหลานเกี่ยวกับความเสี่ยงทางออนไลน์ และติดตามการเล่นเกมของเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด

 

6. ค่าธรรมเนียมที่ซ่อนอยู่

เกมออนไลน์มีรูปแบบและลูกเล่นมากมาย เกมออนไลน์บางเกมใช้รูปแบบ "freemium" หมายถึง เกมจะให้เนื้อหาบางส่วนฟรี แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นจำเป็นต้องชำระเงิน เพื่อเข้าถึงเกมแบบเต็มรูปแบบ 

 

เกมฟรีในโทรศัพท์มือถือ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างรายได้มากกว่า 61 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี รูปแบบธุรกิจแบบ freemium เป็นการเสนอผู้เล่นว่าให้ชำระค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว เพื่อลบโฆษณาในแอป แต่หลังจากนั้น รูปแบบของธุรกิจเกมฟรีก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการเสนอการสมัครสมาชิก ขยายฟังก์ชัน มีสกุลเงินเสมือนจริง มีอาวุธ ความสามารถพิเศษ หรืออุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ผู้เล่นใช้จ่ายเงินมากขึ้น ส่วนใหญ่เกมเหล่านี้ มักจะให้ผู้เล่นผูกบัตรเครดิตไว้กับโปรไฟล์เกมของตน ซึ่งบัตรเครดิตจะถูกเรียกเก็บเงินโดยอัตโนมัติเมื่อใดก็ตามที่ผู้เล่นใช้ซื้อสินค้าหรือบริการใหม่

 

พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใส่เลขบัตรเครดิตเชื่อมไว้กับอุปกรณ์เกม และควรเก็บรักษาบัตรเครดิตไว้ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ สามารถนำบัตรของคุณไปใช้ตามอำเภอใจ พ่อแม่ควรเปิดการตั้งค่าใช้งานรหัสผ่านก่อนการซื้อใน Apple หรือ Google Play

 

การตรวจสอบบิลบัตรเครดิตเป็นประจำ จะช่วยให้แน่ใจว่าคุณจะไม่ถูกเรียกเก็บเงินสำหรับการซื้อที่คุณไม่อนุมัติ นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรศึกษาการตั้งค่า Parental control หรือระบบการควบคุมโดยผู้ปกครอง เพื่อจัดการกับ In-app purchases

 

อ่านเพิ่มเติม “ลูกแอบเติมเกมทำอย่างไร ทำความรู้จักและจัดการกับ In-app purchases”

 

7. มัลแวร์

มัลแวร์ คือ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเหยื่อและก่อให้เกิดอันตรายกับคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มัลแวร์เหล่านี้อาจปลอมตัวเป็นแอปที่ดูปกติ แต่แท้จริงแล้วเป็นแอปที่มีไวรัสที่อันตรายต่ออุปกรณ์ของคุณ สิ่งที่จะลดความเสี่ยงจากมัลแวร์ คือ 1) ลองอ่านรีวิวแอปและข่าวสารเกี่ยวกับแอปก่อนที่จะดาวน์โหลด 2) หาข้อมูลเกี่ยวกับผู้พัฒนาเกม ผู้จัดจำหน่าย หรือแหล่งที่เราจะดาวน์โหลดเกม 3) ใช้ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เพื่อสแกนไฟล์ที่คุณดาวน์โหลดลงในอุปกรณ์ของคุณ

พ่อแม่ผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกหลาน ขอให้ลูกมาบอกก่อนที่จะดาวน์โหลดอะไรก็ตาม

เด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะโดนกลั่นแกล้ง โจรกรรมข้อมูล โกงบัตรเครดิต และแม้แต่การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าลืมพูดคุยกับลูกหลานเกี่ยวกับความเสี่ยงเหล่านี้ โดยควรพูดคุยกับลูกตั้งแต่ลูกยังเด็กเพื่อเตรียมความพร้อม และหลีกเลี่ยงภัยคุกคามเหล่านี้ 

คอยสังเกตสัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ ทำความเข้าใจความเสี่ยง และให้ความสนใจกับการเล่นเกมออนไลน์ของลูกหลานอย่างจริงจัง

นอกจากการติดตามและพูดคุยกับเด็ก ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจลองเล่นวิดีโอเกมกับลูกบ้าง หากคุณเล่นไม่เป็นก็ให้ลูกสอน การเล่นเกมกับลูกจะช่วยให้คุณสามารถดูแลลูกในเรื่องนี้ได้ใกล้ชิดมากขึ้น การสื่อสารพูดคุยเปิดกว้างมากขึ้น เข้าใจกันและกัน และเสริมสร้างสัมพันธภาพความผูกพันในครอบครัว

 

 

เรียบเรียงโดย ณัฐพร กังสวิวัฒน์

 

รายการอ้างอิง

https://usa.kaspersky.com/resource-center/threats/top-7-online-gaming-dangers-facing-kids

Healthy Gamer